วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จะเช็คสุขภาพทั้งที....ศึกษาให้ดีก่อน

คงไม่มีใครเถียง...ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ...คำกล่าวนี้จริงซะยิ่งกว่าจริง แต่ใครล่ะที่จะไม่เจ็บป่วย คงต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษประเภทซูเปอร์ฮีโร่แล้วล่ะ เพราะถึงจะดูแลสุขภาพร่างกายดียังไง อะไรที่ว่าดีต่อสุขภาพทำหมดทุกอย่าง แต่ยังไงซะอายุมันก็ต้องมากขึ้นสังขารย่อมจะเสื่อมถอยอยู่ดีจนโรคนู้นโรคนี้มาเยือน   แต่จริงๆ แล้วมันจะมีซักกี่คนที่จะดูแลตัวเองได้แบบเพอร์เฟคสุดๆ เช่น กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เครียด พักผ่อนนอนหลับเต็มที่ บลาๆๆๆ โอ๊ย บอกเลยค่ะว่า...ยากส์ ไหนจะกรรมพันธุ์อีกล่ะ ที่เข้ามามีเอี่ยวด้วยในหลายๆ โรค คนเราจึงมีโอกาสเจ็บป่วยหรือเป็นโรคต่างๆ ได้



ถ้าป่วยแล้วร่างกายแสดงอาการ เช่น มีไข้ ปวดหัว ปวดท้อง เป็นผื่น ฯลฯ ก็หาหยูกยากินหรือไปหาหมอได้ แต่ทีนี้บางคนโรคมันซ่อนเร้นอยู่ อาจจะเป็นเพราะยังเป็นน้อยอยู่จึงยังไม่แสดงอาการ ดูภายนอกจึงดูแข็งแรงดี แต่ถ้าไม่รู้ตัวจนโรคเป็นมากแล้ว ซึ่งบางโรคหากแสดงอาการก็อาจเกินเยียวยาแล้ว ด้วยเหตุนี้แหละทำให้คนหันมา ตรวจสุขภาพ กันมากขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์ฮิตพอสมควร ถ้าตรวจแล้วเจออะไรที่มันผิดปกติ จะได้หาทางรับมือได้แต่เนิ่นๆ หลายโรครู้ตัวเร็วก็ง่ายต่อการรักษา โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างมะเร็ง โอกาสรักษาหายขาดก็มีสูง 
   
       
การตรวจสุขภาพควรทำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถึงได้เรียกว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” ยังไงล่ะคะ โดยทั่วไป อายุที่แนะนำให้เริ่มตรวจคือ ตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป อาจเพราะคนวัยหนุ่มสาวที่อายุยังน้อยเป็นวัยที่แข็งแรงไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บ แต่บาง รพ. ก็มีแพ็คเกจตรวจสุขภาพในคนกลุ่มวัย 20 ปีขึ้นไปด้วยเหมือนกัน เพราะถึงยังไงก็ไม่ใช่ทุกคนในวัยนี้จะแข็งแรงไปซะหมด ก็เป็นทางเลือกที่ต้องพิจารณากันเอาเองค่ะ


การตรวจสุขภาพประจำปี ปกติ รพ. จะมีแพ็คเกจตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ ซึ่งแต่ละช่วงอายุจะมีรายการตรวจไม่เท่ากัน ถ้าอายุยังน้อยมักจะตรวจไม่กี่รายการ แต่ถ้าอายุเยอะขึ้นรายการตรวจก็มักจะเยอะตาม เพราะมีหลายโรคที่เกิดขึ้นได้ตามวัยที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น คุณผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ก็มักจะเพิ่มการตรวจ มะเร็งต่อมลูกหมาก เข้าไปด้วยอย่างงี้เป็นต้น ดังนั้น ถ้าไปเห็นโปรแกรมตรวจในคนที่อายุเยอะ เช่น อายุ 50 ปีขึ้นไป แล้วมีรายการตรวจยาวเหยียด ก็ไม่ต้องตกใจ ร่างกายมันเข้าวัยร่วงโรยแล้วโอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ ก็มีมากขึ้นจึงต้องตรวจให้ครอบคลุม คนที่อายุน้อยก็เลือกโปรแกรมตามอายุตัวเองไป จะได้ไม่เสียค่าตรวจกันบานตะไทโดยไม่จำเป็น สรุปว่าควรเลือกโปรแกรมตรวจที่เหมาะสมกับช่วงอายุของแต่ละคน เว้นแต่ว่ายินดีจ่าย อันนี้ทาง รพ. ก็คงไม่ขัดข้อง


จะว่าไปโปรแกรมพื้นๆ อย่างการตรวจสุขภาพประจำปีเนี่ย โรงพยาบาลไหนก็มีอะนะ แถมขยันออกแคมเปญมาจูงใจลูกค้ากันอยู่เนืองๆ แต่ก็อย่างว่าล่ะนะ ปัญหาสุขภาพมันมีร้อยแปด โปรแกรมตรวจสุขภาพที่ รพ.มีไว้บริการลูกค้าจึงไม่ได้มีแค่โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น บางทีคนไข้ต้องการตรวจอะไรที่มันเฉพาะเจาะจงก็มี เช่น ตรวจหาโรคที่อาจเป็นอุปสรรคกับชีวิตคู่หรือลูกที่จะเกิดมา ก็จะมีโปรแกรมตรวจพิเศษอย่างโปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หรือคนที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นบางโรคมากกว่าคนอื่น เช่น เบาหวาน, หัวใจ, มะเร็ง ฯลฯ ก็จะมีโปรแกรมตรวจคัดกรองตามภาวะเสี่ยงเหล่านั้น อาทิ โปรแกรมคัดกรองเบาหวาน, โปรแกรมคัดกรองมะเร็ง, โปรแกรมคัดกรองโรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งพวกโปรแกรมพิเศษเหล่านี้ควรพูดคุยกับคุณหมอก่อน จะได้ตรวจตามความจำเป็นที่เป็นอยู่จริงๆ


สุดท้ายก่อนจาก...จะตรวจโปรแกรมไหน ก็ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนด้วยล่ะ ว่าต้องเตรียมตัวก่อนตรวจอย่างไรเพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้อง ต้องงดน้ำงดอาหารมั้ย หรืองดอาหารแต่ดื่มน้ำได้ งดกี่ชั่วโมง 6 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง ต้องถอดคอนแทคเลนส์ก่อนมาตรวจกี่วัน ฯลฯ บางคนทะเล่อทะล่ามาจะขอตรวจโดยไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาเลย ก็จะเสียเวลาซะเปล่าๆ จะมาพาลหงุดหงิดไม่ได้นะ เราเตือนคุณแล้วนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น: