จะขึ้นเขียงผ่าตัด
ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ๆ ต้องดมยาสลบหรือบล็อกหลังแล้วหมอศัลย์ผ่าเปิดเข้าไปในร่างกาย
หูยยย...เป็นใครจะไม่ใจฝ่อล่ะคร้า ใช่การผ่าตัดเล็กๆ
ฉีดยาชาพอชิลๆ ซะที่ไหน ความกลัว ความวิตกกังวลของคนไข้ก็มาจากความไม่รู้นั่นแหละ ถึงหมอจะแจงแล้วว่าคนไข้จะเจอะเจออะไรบ้าง
แต่ก็แค่คร่าวๆ ก็ได้แต่จินตนาการกันไป ถูกมั่งผิดมั่ง เราก็เลยขอหยิบข้อมูลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครก็ตามที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความหวาดวิตกต่อการผ่าตัดลงได้ในระดับหนึ่งแล้ว
ยังลดภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ด้วยค่ะ
ถามหมอให้เคลียร์
โดยปกติถ้าต้องผ่าตัด
หมอก็จะอธิบายให้ทราบอยู่แล้วล่ะว่า ทำไมต้องผ่าตัด จะผ่ายังไง ผ่าแล้วคาดหวังผลเพียงไหน
ต้องดมยาหรือไม่ต้อง ข้อดีข้อเสียของการผ่าตัด ผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นทั้งระหว่างและหลังการผ่าตัด
ฯลฯ แต่บางทีข้อมูลมันเยอะ คนไข้เองก็ยังตกใจที่ต้องผ่าตัด ฟังไปเบลอไป งงๆงวยๆ เก็บความได้บ้างไม่ได้บ้าง
ข้อมูลก็อาจจะมีตกๆ หล่นๆ ได้ ถ้ายังไงตั้งสติให้ดีๆ ซะก่อน ไม่แน่ใจสติสตังก็หนีบญาติไปช่วยกันฟัง
สงสัยไม่เข้าใจตรงไหนให้ถามหมอตรงๆ ไม่ต้องเกรงใจ ซักจนกว่าจะกระจ่างนั่นแหละ เมื่อเข้าใจทุกขั้นตอนของการรักษาก็จะได้ผ่าอย่างมั่นใจ
แข็งแรงไว้ก่อน
หากร่างกายฟิตโอกาสฟื้นตัวหลังผ่าตัดก็เร็วขึ้น
ดังนั้น ก่อนผ่าตัดดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ใส่ใจทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย
และพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าใกล้วันผ่าตัดเกิดไม่สบายขึ้นมา
แม้ยามปกติจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด มีผื่นคัน ฯลฯ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที
แจ้งประวัติให้ละเอียด
ประวัติสุขภาพของคนไข้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแจ้งให้คุณหมอทราบ
เพื่อลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด
· ในกรณีที่มีโรคประจำตัว ต้องแจ้งคุณหมอโดยละเอียด
อย่างบางคนเป็นเบาหวานอาจต้องปรับระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อน
หรือเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องควบคุมความดันให้ได้ก่อน
· ถ้ารับประทานยาเป็นประจำ
ควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดมาให้คุณหมอดู เพราะบางทีคนไข้อาจกำลังกินยา วิตามินหรืออาหารเสริมบางตัวที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด
ซึ่งจำเป็นต้องหยุดยาเหล่านั้นก่อนผ่าตัด
· เคยแพ้ยาอะไรบ้าง แพ้แล้วมีอาการยังไง
บอกไปให้หมด
· ถ้าเคยผ่าตัดมาก่อน แจ้งด้วยว่าผ่าตัดอะไร ใช้วิธีระงับความรู้สึกแบบไหน
ยาชา ยาสลบ บล็อกหลัง แพ้บ้างหรือเปล่า
ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นแนวทางให้กับหมอดมยาได้
· ดื่มเหล้าหรือเปล่า เป็นสิงห์อมควันหรือไม่
ถ้าใช่ก็อย่าปิดบัง สิ่งเหล่านี้ต้องงดก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
อย่างสารนิโคตินในบุหรี่อาจจะลดประสิทธิภาพในการหายของแผลผ่าตัดได้นะ
เตรียมให้พร้อมสำหรับวันผ่าตัด
เมื่อคนไข้มา
รพ.ตามหมอนัดเพื่อรับการผ่าตัด ก็จะต้องมีการ
เตรียมคนไข้ให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด
จะเตรียมมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับว่าผ่าอะไร บางกรณีก็อาจต้องเตรียมมากขั้นตอนหน่อย
ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด
· คนไข้จะได้รับการตรวจโน่นนั่นนี่หลายอย่าง
อันนี้เป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
· อาจต้องมีการเตรียมบริเวณที่จะทำผ่าตัดให้พร้อม
เช่น บางการผ่าตัดอาจต้องโกนขนบริเวณที่จะทำผ่าตัดให้เกลี้ยง
· หากคนไข้ต้องทำผ่าตัดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
ผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน อาจจะต้องทานยาระบายหรือสวนอุจจาระก่อนการทำผ่าตัด
ก็ไม่ต้องตกอกตกใจไป
· ส่วนใหญ่คนไข้มักจะต้องงดดื่มน้ำและรับประทานอาหารทุกชนิด
ก่อนผ่าตัดประมาณ 6-8
ชม. ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าไปในทางเดินหายใจ
· ของมีค่า เช่น เงิน, เครื่องประดับ ควรให้ญาติดูแล
ถ้าไม่มีญาติให้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ ป้องกันการสูญหาย
ผ่าตัดก็เจ็บตัวพอแล้ว อย่าให้ต้องมายุ่งยากปวดหัวกับเรื่องไม่ใช่เรื่องอีกเลยค่ะ
· ใครใส่ฟันปลอมถอดได้
ต้องถอดออกให้หมดก่อนไปห้องผ่าตัด ไม่งั้นอาจหลุดร่วงลงไปในลำคอได้
ส่วนคนที่ทาเล็บมือเล็บเท้าควรล้างออกให้เกลี้ยง ปกติเจ้าหน้าที่จะถามและตรวจสอบทุกครั้งก่อนส่งไปห้องผ่าตัด
ถ้ามีก็ล้างออกจนหมดนั่นแหละ แต่ทางที่ดีรู้ตัวว่าต้องผ่าตัดก็ล้างยาทาเล็บมาจากบ้านเลยดีกว่าค่ะ
หลังผ่าตัด...ช่วงพักฟื้น
· คนไข้ที่ดมยาสลบซึ่งใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างผ่าตัด
ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัดอาจรู้สึกเจ็บคอ ระคายคอหรือมีเสมหะได้
ซึ่งการไอเป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายจะขับเสมหะออกมา แต่ถ้าไอค่อกๆ แค่กๆ ไปเรื่อย นอกจากจะไร้ประโยชน์แล้ว
ยังอาจทำให้ปวดแผลต้องขอยาแก้ปวดอีก ดังนั้นควรใช้ “วิธีการไออย่างมีประสิทธิภาพ” คือ
คนไข้อยู่ในท่านั่งหรือท่านอนศีรษะสูง ประคองแผลผ่าตัดโดยการกางมือกดบริเวณแผลให้แน่น
(หรือจะใช้หมอนใบเล็ก ผ้าเช็ดตัวม้วนประคองแผลก็ได้) เพื่อลดแรงดันขณะไอ หายใจเข้าลึกๆ
3 ครั้ง และหายใจออกทางปากก่อนเพื่อช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาการไอ จากนั้นไอแรงๆ
เพื่อให้เสมหะที่ตกค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกมา ซึ่งโดยทั่วไปพยาบาลจะสอนคนไข้ให้รู้จักวิธีการไออย่างมีประสิทธิภาพและได้ฝึกฝนก่อนผ่าตัดจริงค่ะ
· คนไข้ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการบล็อกหลัง
ควรนอนราบอย่างน้อย 8
ชั่วโมงเพื่อป้องกันภาวะสมองเคลื่อน
· การผ่าตัดบางอย่างอาจมีอุปกรณ์หรือท่อต่างๆต่อออกมาจากตัวติดมาด้วย
เช่น ท่อระบายของเหลวจากบริเวณที่ทำผ่าตัดออกสู่ภายนอก
ไม่ต้องตกใจเพราะเป็นการคาไว้ชั่วคราว และการระบายเอาของเหลวออกไปจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
สิ่งที่ต้องระมัดระวังคืออย่าให้สายบิด หัก พับงอ และถุงที่ต่อจากท่อระบายควรให้อยู่ต่ำกว่าบริเวณที่ใส่ท่อระบาย
· ในระยะหลังผ่าตัดที่ยังไม่ลุกขึ้นจากเตียง คนไข้ควรหายใจเข้าออกยาวๆ
ลึกๆ บ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ โดยการหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ
จนหน้าท้องตึงและหายใจออกช้าๆทางปาก เพื่อช่วยขยายถุงลมเล็กๆ ในปอดและป้องกันการเกิดปอดอักเสบและถุงลมแฟบหลังผ่าตัด
และยังช่วยขับสารที่ใช้ในการดมยาสลบออกจากร่างกายโดยเร็ว
โดยทั่วไปก่อนผ่าตัดพยาบาลจะสอนวิธีหายใจลึกๆ ที่ถูกต้องให้กับคนไข้ค่ะ
· เมื่อเริ่มรู้สึกว่าแข็งแรงขึ้นแล้ว
ก็อย่าเอาแต่นอนแซ่วติดเตียง ควรมีการเคลื่อนไหวโดยเริ่มจากการพลิกตัว
ถ้าไหวก็ให้ออกกำลังกายบนเตียง บริหารแขนขา เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานเร็วขึ้นป้องกันท้องอืด
ซึ่งการลุกจากเตียงจะทำได้เร็วช้าแค่ไหนขึ้นอยู่กับอวัยวะและการผ่าตัด ถ้าแข็งแรงพอก็ควรลุกจากเตียงโดยเร็ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น