วันนี้ไม่ได้เปลี่ยนแนวมาพูดถึงเรื่องรักๆ
ใคร่ๆ ใสๆ หัวใจกิ๊บกิ๊วๆ อะไรยังงั้นหรอกนะ อย่าเข้าใจผิด แม้คำว่าหัวใจพูดถึงทีไร
เป็นต้องเอนเอียงไปทางนั้นตลอดก็เหอะ เรื่องที่หยิบยกมาฝากกันในตอนนี้จะเกี่ยวกับอวัยวะมหัศจรรย์ที่ไม่เคยหยุดเต้นดวงนี้จริงๆ
ว่ากันว่า ใครอยากรู้ว่าหัวใจตัวเองมีขนาดประมาณไหน
ก็ให้ลองกำมือดู ขนาดของกำปั้นที่เห็นนั่นแหละคือขนาดของหัวใจที่คนๆนั้นมี
ทำไมถึงบอกว่าหัวใจเป็นอวัยวะ
“มหัศจรรย์” ก็ถ้าไม่ใช้คำนี้ก็ไม่รู้จะไปขุดหาคำไหนที่ดีกว่านี้มาใช้แล้วล่ะ
เพราะหัวใจที่เป็นก้อนเนื้อเล็กๆ นี่แหละที่แบกภารกิจเอาไว้ยิ่งใหญ่มากๆ
ถ้านึกไม่ออกว่าหัวใจสร้างคุณงามความดีให้กับตัวเรายังไง ก็ขอเฉลยให้รู้ตรงนี้
ถ้าจะเปรียบหัวใจคนเราว่าเหมือนกับอะไร
ก็คงต้องบอกว่าเหมือน “เครื่องปั๊มน้ำ”
แต่ที่พิเศษคือเครื่องนี้ไม่ต้องซดน้ำมันเพราะเป็นปั๊มธรรมชาติ ที่สำคัญมีความทนทานสุดๆ
ลองนึกดูก็แล้วกันว่า วันๆหนึ่งหัวใจคนเราต้องเต้นมากกว่าหนึ่งแสนครั้ง และปั๊มเลือดถึง 11,820 ลิตร ฟังยังงี้แล้วอึ้งกันมั้ยล่ะ แต่ถ้าคำนวณตลอดชั่วอายุของคนเราแล้วล่ะก็
หัวใจจะเต้นเฉลี่ยมากกว่า 2,500 ล้านครั้ง และระหว่างการเต้นแต่ละครั้งหัวใจยังหยุดพักไม่เคยเกินเสี้ยววินาที
เอ้า...ทีนี้อนุญาตให้อ้าปากค้างได้
แล้วหัวใจเต้นหรือบีบตัวปั๊มเลือดได้ยังไง
สงสัยกันล่ะสิ การทำงานบีบตัวของหัวใจเกิดขึ้นได้เพราะมีกลุ่มเซลล์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ
60 - 100 ครั้งต่อนาที โดยกระแสไฟฟ้าจะเดินทางไปตามเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ
ทำให้เกิดการบีบตัวเอาเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่กลุ่มเซลล์เหล่านี้
หรือมีความผิดปกติของการส่งกระแสไฟฟ้า หัวใจของคนเราก็จะเต้นผิดปกติ คือ อาจจะเร็วขึ้นหรือช้าลงได้
เรียกว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะตรวจพบได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
หรือจากการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง
ภาวะที่จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
บางครั้งช้าบางครั้งเร็ว ฟังแล้วก็ชวนให้วิตกอยู่ไม่น้อย และคนส่วนใหญ่ก็มักคิดว่าสาเหตุจะต้องร้ายแรงเสมอไป
เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่มีภาวะนี้มักจะมีความผิดปกติของหัวใจหรือโรคบางอย่างอยู่ก่อน เช่น
โรคหัวใจขาดเลือด,
ลิ้นหัวใจรั่วจากไข้รูมาติค, คอพอกเป็นพิษ หรือบางคนอาจเกิดจากพิษของยาซึ่งใช้รักษาภาวะหัวใจวาย
แต่ความจริงแล้วสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่ร้ายแรงอย่างที่กล่าวมาก็ได้
อาจพบเป็นปกติในคนสูงอายุ ใครเคยดูแลคนเฒ่าคนแก่อาจเคยได้ยินแกบ่นๆ ให้ฟังว่ารู้สึกเหนื่อย
ใจสั่นอะไรทำนองนี้ แต่ก็ต้องระวัง ด้วย
อย่าวางใจว่าเป็นเรื่องปกติทั้งหมด เพราะถ้าคนที่แก่มากๆ แล้วมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าเพียง
30 - 40 ครั้งต่อนาที หรือมีภาวะหัวใจเต้น ๆ หยุด ๆ โดยหยุดนานเกินกว่า
2.5 วินาที ก็อาจมีอาการวูบ ๆ หน้ามืด หรือ หมดสติได้ ก็ต้องสังเกตสังกาอาการกันดีๆ
ถ้าไม่แน่ใจก็รีบพาไปหาหมอ
สำหรับอาการของคนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเป็นยังไง
ก็จะรู้สึกอ่อนเพลียและใจสั่น เหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอกข้างซ้าย ถ้าตรวจร่างกายจะพบว่า
ชีพจรมักจะเต้นไม่สม่ำเสมอ อาจต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาทีหรือมากกว่า 140
ครั้งต่อนาที เสียงหัวใจจะดังไม่เท่ากันและไม่เป็นจังหวะ ถ้าไม่มีสาเหตุร้ายแรง
ชีพจรอาจเต้นไม่เป็นจังหวะเป็นครั้งคราวหรือนานๆ ที แต่ถ้ามีสาเหตุร้ายแรง
นอกจากอาการจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แล้ว ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นเป็นลม
ชักหรือหัวใจวายได้เลย
อ่านแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำเล่นๆ
ได้ หัวใจก็มีวันเหนื่อยวันล้า ดังนั้น ถ้าใครมีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างที่ว่ามา
ก็ใส่ใจมันซักนิด ไปหาหมอตรวจหาสาเหตุ จะต้องปฏิบัติตัวยังไง รักษายังไงก็ว่ากันไป
ยิ่งถ้ามีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคประจำตัวบางอย่างอยู่เดิม
ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เครื่องปั๊มเลือดอย่างหัวใจจะได้ปั๊มเลือดเลี้ยงร่างกายโดยไม่สะดุดไปซะก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น