วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

สั้นไว...ยังไงก็ไม่เวิร์ก

หากสายตาสั้นมาเร็วเกินไป คือยังเด็กอยู่แท้ ๆ ดันสายตาสั้นซะแล้ว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวล่ะ น้อง ๆ ทราบมั้ยคะว่าสถิติตอนนี้มีเด็กไทยสายตาสั้นเร็วขึ้นกว่าปกติเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่า อั้ยย่ะ! เกิดอะไรขึ้น

         นั่นเป็นเพราะเด็กยุคไอทีครองโลกอย่างทุกวันนี้หันมาติดเน็ต ติดเกมกันมากขึ้นยังไงล่ะคะ ต้องยอมรับว่าสมัยนี้การใช้งานคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กลายเป็นเรื่องธรรมดาไม่เฉพาะในผู้ใหญ่วัยทำงาน เด็กๆน้องๆ วัยเรียนก็ไม่ยอมน้อยหน้ารุ่นใหญ่ขอเกาะกระแสอินเทรนด์กับเค้าด้วย อย่างบ้านใครไม่มีคอมพิวเตอร์นี่ถือว่าเช้ย เชย กระทั่งมือถือ สมาร์ทโฟน ก็กลายเป็นของธรรมดาที่พ่อแม่หลายท่านกล้าควักเงินจ่ายให้ลูกพกพาติดตัว

          การใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เล่นเกม ท่องเน็ต เป็นอะไรที่เพลิดเพลิน บางทีลืมกินลืมนอนไปเลยก็มี ซึ่งจากสถิติคนไทยใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้เฉลี่ยวันละ 7.2 ชั่วโมง โอ้โฮ! เกือบหนึ่งในสามของวันเลยนะเนี่ย แล้วติดเน็ต ติดเกม มันทำให้เด็กสายตาสั้นเร็วกว่าปกติได้ยังไง? ง่าย ๆ ค่ะเวลาเราเล่นอะไรพวกนี้เราต้องใช้สายตามาก ต้องเพ่งหน้าจอใช่มั้ยคะ ทีนี้มันไม่ได้เพ่งดูแป๊บเดียวแล้วเลิก พอเล่นแล้วส่วนใหญ่จะเพลินเพ่งหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน แล้วการใช้งานก็คงไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่นานเป็นเดือนเป็นปี เมื่อสะสมนานวันเข้าก็ส่งผลให้สายตาน้อง ๆ ผิดปกติหรือสายตาสั้นได้ค่ะ

พอสายตาสั้นปัญหาก็ตามมา ชัด ๆ เลยก็ปัญหาเรื่องการเรียน เด็กจะเบื่อหน่ายการเรียน ไม่ใช่เป็นเพราะเค้าขี้เกียจนะคะ ปัญหาเกิดจากเด็กมองตัวหนังสือบนกระดานไม่ชัด จะจดข้อมูลจะเรียนก็ไม่ทันเพื่อน ๆ ทำให้ไม่อยากเรียน บางคนพยายามตั้งใจเรียนต้องเพ่งสายตามองตัวหนังสือบนกระดานก็อาจทำให้เกิดอาการปวดตา ปวดหัวได้ หรืออาจเป็นอุปสรรคในการเลือกเรียนต่ออย่างบางสายอาชีพที่มีข้อกำหนดเรื่องสายตาสั้น เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร เป็นต้น

อ่านแล้วก็คงไม่มีใครอยากสายตาสั้น ดังนั้นหากน้อง ๆ พบว่าตัวเองเริ่มมีความผิดปกติในการมองหรือสงสัยว่าเราจะมีปัญหาสายตาสั้นหรือเปล่า? ควรบอกคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครู เด็กบางคนกลัวไม่กล้าบอกใครเก็บปัญหาไว้คนเดียวจนการเรียนตกต่ำก็มี หรือบางทีพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือคุณครูอาจจะต้องช่างสังเกตสักหน่อยว่าเด็กส่งสัญญาณผิดปกติอะไรออกมาหรือไม่ กรณีสายตาสั้นแก้ไม่ยาก แว่นสายตาช่วยได้ ส่วนน้อง ๆ ที่จะสอบสายอาชีพแล้วติดเรื่องสายตาสั้นควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการแก้ไขสายตาสั้นค่ะ
 สั้นไว...ยังไงก็ไม่เวิร์ก

เมื่อพบว่าตัวเองสายตาสั้น เรื่องหนึ่งที่เด็กมักรู้สึกเป็นกังวล คือ เมื่อสายตาสั้นแล้วจะสั้นไปเรื่อย ๆ มั้ย โดยทั่วไปเด็กที่สายตาสั้นมักจะสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้วสายตาจึงจะเริ่มคงที่ โดยเฉลี่ยคนส่วนใหญ่สายตาจะชะลอหรือหยุดสั้นเมื่ออายุประมาณ 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สิ้นสุดความเป็นวัยรุ่นก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่บางคนอาจหยุดสั้นเร็วกว่านั้นคือ 20 ปีก็มี ส่วนพวกที่หลัง 25 ปีไปแล้วยังคงสั้นเพิ่มขึ้นก็มีแต่เป็นส่วนน้อย

         สำหรับสายตาที่สั้นเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น จะสั้นมากน้อยแค่ไหนอันนี้แล้วแต่คน บางคนสั้นเร็ว บางคนสั้นช้าๆ ซึ่งน้องๆ ก็คงจะอยากให้สายตาตัวเองสั้นช้าที่สุดใช่มั้ยคะ แล้วจะมีวิธีชะลอให้สายตาสั้นช้าลงได้ไหม บอกเลยว่าได้ ก่อนจะเฉลยให้ทราบ ต้องบอกก่อนว่าน้องต้องนำไปปฏิบัติจริงๆ เท่านั้นถึงจะช่วยชะลอให้สายตาสั้นหรือเปลี่ยนแปลงช้าลงได้ “ไม่มีอะไรได้มาเปล่า ๆ โดยไม่ลงทุน” ท่องไว้ ๆ 

เอาล่ะ มาดูกันเล้ย
แว่นตา...อย่าคิดว่าไม่สำคัญล่ะ
        - ควรสวมแว่นที่ตรงกับค่าสายตา ข้อดี สายตาไม่เกิดภาวะเครียด ไม่ต้องปรับสายตาตลอดเวลา
        - ควรสวมแว่นสายตาตลอดเวลา ข้อดี ช่วยให้สายตาอยู่ในสภาพปกติอยู่เสมอ ไม่ต้องเพ่งสายตาเวลามอง
ใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต อย่างชาญฉลาด
ถ้าเป็นไปได้พยายามเล่นไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าทำไม่ได้ งั้นลองปรับเป็นเล่น 25-30 นาที แล้วพักสายตาสัก 1-5 นาที เพื่อจะได้ไม่ใช้สายตาเพ่งมากเกินไป
เลี่ยงเล่นในห้องมืดๆ
-  ปรับความสว่างหน้าจอให้พอดีกับความสว่างของห้อง หรือเท่าที่รู้สึกว่าสบายตา หากเป็นจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ อาจใช้แผ่นกรองแสงช่วย
ควรเลือกตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาว ถึงจะดูไม่จ๊าบเท่าพื้นสีเข้มตัวหนังสือสีขาวหรือสีอ่อน แต่ช่วยถนอมสายตาได้มากกว่าเพราะไม่ต้องใช้สายตาเพ่งตัวหนังสือขณะอ่าน
ระยะห่างของสายตากับจอคอม แท็บเล็ต หรือมือถือควรจะประมาณ 1-2 ฟุต
บางเรื่อง...ก็สำคัญนะ
        -  อย่านั่งจุ้มปุกอยู่นาน ๆ เวลาอ่านหนังสือ หรือทำงานติดโต๊ะแบบหามรุ่งหามค่ำ เพราะจะทำให้สายตาเครียดเกินไป
        -  ออกกำลังกายกลางแจ้งกันบ้างนะคะ เพื่อให้ตาได้กลอกไปมาตามจังหวะการเล่นกีฬานั้น ๆ ทำให้ตาได้ทำงานตามธรรมชาติ
        -  ดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น ดวงตาจะได้ชุ่มชื้น
        -  เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์บำรุงสายตา
        -  พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ประสาทตาได้พักการใช้งาน

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

ฝันให้ไกล...(สายตาสั้น) ก็ไปถึง

น้อง ๆ ที่ต้องการเรียนต่อแต่ติดปัญหาเรื่อง “สายตาสั้น” บางสายอาชีพมีกฎเกณฑ์ห้ามสายตาสั้น เช่น เตรียมทหาร 3 เหล่า, ตำรวจ, นักบิน แนะนำปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อแก้ไขสายตาสั้น ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การทำ เลสิค และ การทำ PRK แค่นี้ปัญหาสายตาสั้นก็เป็นเรื่องจิ๊บๆ น้องๆ สามารถเดินตามฝันได้ไม่สะดุดค่ะ

จะขอพูดถึง เลสิค ก่อน เพราะเป็นการแก้ปัญหาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์ที่ได้ยินบ่อย และนิยมทำกันมากที่สุดในปัจจุบัน ทำไมถึงเป็นที่นิยม? 3 เหตุผลง่าย ๆ คือ มีความปลอดภัยสูง, การฟื้นการมองเห็นเร็ว และที่สำคัญคือความสบายตาหลังทำ แค่นี้ก็ไปนั่งกลางใจคนได้ไม่ยาก

เลสิค คืออะไร? เลสิค หรือ LASIK ย่อมาจาก Laser Insitu Keratomeileusis เป็นการแก้ไขสายตาสั้น โดยการใช้เลเซอร์ขัดกระจกตาเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับความยาวลูกตา และให้ภาพโฟกัสตกลงบนจอรับภาพพอดี โดยขั้นตอนการทำจะต้องแยกชั้นกระจกตาก่อนคล้ายการเปิดหนังสือ แล้วจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer) ยิงไปในเนื้อกระจกตาส่วนใน หลังจากนั้นทำการปิดชั้นกระจกตากลับที่เดิม การทำเลสิคจึงไม่มีแผลบริเวณผิวกระจกตาทำให้หลังทำรู้สึกสบายตาและฟื้นการมองเห็นเร็ว
ถึงจะดูเหมือนง่าย ๆ สบาย ๆ ฟื้นการมองเห็นเร็ว แต่หากน้อง ๆ จะสอบเตรียมทหาร ตำรวจ ก็ควรเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่ามาทำเอาเมื่อจวนตัว นั่นคือควรทำเลสิคล่วงหน้าก่อนสอบประมาณ 1 -2 เดือน อันนี้เป็นคำแนะนำจากคุณหมอตาโดยตรง
ถ้าคิดจะทำเลสิคก็ไปปรึกษาคุณหมอตาได้เลยค่ะ ปกติคนที่เหมาะสมทำเลสิคควรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่น้อง ๆ ที่จะสอบเข้าเตรียมทหาร ตำรวจ ส่วนใหญ่อายุก็อยู่ราว ๆ 15 -17 ปี ซึ่งกรณีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์อย่างนี้แต่มีความจำเป็นคุณหมอตาก็จะยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ และต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอม เมื่อยินยอมพร้อมใจแล้วก็ต้องมาดูว่าน้อง ๆ ผ่านเกณฑ์ที่จะทำได้หรือไม่ด้วยค่ะ คนที่สามารถทำเลสิคได้ต้องผ่านการตรวจสภาพตาและวิเคราะห์กระจกตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ ไม่ใช่ไปบอกหมอแล้วจะทำได้ทุกคน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรคุณหมอก็ยินดีทำให้ อ้อ! น้อง ๆ ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีปัญหาเรื่องสิว แล้วรับประทานยารักษาสิว Roaccutane อยู่ล่ะก็ต้องหยุดยาอย่างน้อย 1 เดือนด้วยนะ

 ฝันให้ไกล...(สายตาสั้น) ก็ไปถึง

ถึงเลสิคจะเป็นที่นิยมขนาดไหนก็ใช่ว่าน้อง ๆ จะแห่มาทำเลสิคได้เสมอไป เพราะบางสายอาชีพก็มีกฎที่ทำให้แก้สายตาสั้นด้วยเลสิคไม่ได้ อย่างน้องๆ ที่จะสอบเข้าเตรียมทหารอากาศ, นักบินบางสายการบิน หรือแม้แต่เตรียมทหาร 3 เหล่า ถ้ามีข้อห้ามว่าต้องไม่เห็นรอยแผลเปิดที่ฝากระจกตา ก็ต้องหันไปพึ่ง PRK  แทน เพราะการทำเลสิคต้องแยกชั้นกระจกตาจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีรอยแผลเปิดที่ฝากระจกตา กรณีน้อง ๆ มีกระจกตาบาง หรือกระจกตาไม่เหมาะจะทำเลสิค คุณหมอตาก็จะเลือกทำ PRK แทน อย่างไรก็ตามการจะทำ PRK ได้น้อง ๆ ควรมีสายตาที่ไม่สั้นมากเกินไป (ไม่เกิน 400) เพราะถ้าค่าสายตาสั้นมากอาจเกิดรอยแผลเป็นได้

PRK คืออะไร?  PRK ย่อมาจาก Photokeratoplasty เป็นการแก้ไขสายตาสั้นที่คล้ายกับการทำเลสิค ต่างกันที่ PRK นั้นจะไม่มีขั้นตอนการแยกชั้นกระจกตา โดยการทำจะเริ่มจากการขูดผิวกระจกตาที่อยู่ด้านนอกสุดของกระจกตาออกก่อน จากนั้นจะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ไปปรับความโค้งของผิวกระจกตา วิธีนี้จะทำให้เกิดแผลถลอกบริเวณผิวกระจกตาในระยะแรก ซึ่งจักษุแพทย์จะใส่คอนแทคเลนส์คลุมกระจกตาดำไว้ประมาณ 3 – 5 วัน รอจนผิวกระจกตาปิดดี จึงจะนำคอนแทคเลนส์ออก
PRK เป็นวิธีที่มีความปลอดภัย เพียงแต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวและการหายของแผลจะนานกว่าเลสิค น้อง ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีนี้จึงควรปรึกษาหมอตาแต่เนิ่น ๆ เพราะต้องใช้เวลาพักฟื้นพอสมควร  ถ้าจะให้ชัวร์ควรทำล่วงหน้าก่อนสอบประมาณ 3 เดือน แผลจากการรักษาจะได้หายสนิทจนตรวจไม่พบ หรือต้องตรวจอย่างละเอียดจริง ๆ จึงจะทราบว่าเคยทำ PRK มาก่อน แต่ถ้าไม่ติดขัดอะไรสามารถทำเลสิคได้ก็ทำเลสิคไปเลยค่ะ

ฝากไว้ก่อนจาก 3 เรื่อง เรื่องแรก...ก่อนตัดสินใจเลือกว่าจะแก้ไขสายตาด้วยวิธีไหน ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่าที่ที่น้องๆ อยากเข้าเรียนมีกฎเกณฑ์ในการรับอย่างไร ซีเรียสเรื่องสายตามากน้อยแค่ไหน วิธีไหนทำได้ทำไม่ได้ เราพร้อมแค่ไหน จะได้ไม่เสียเงิน เสียเวลาเปล่าๆ
เรื่องที่สอง...บางคนกังวลว่าทำเลสิค หรือ PRK ต้องใช้เลเซอร์ปรับผิวกระจกตาจะอันตรายมั้ย  เกิดยิงพลาดจะตาบอดหรือเปล่า คุณหมอยืนยันให้อุ่นใจว่า เอ็กไซเมอร์เลเซอร์เป็นแสงที่ให้พลังงานสูงและยังมีความแม่นยำสูง สามารถขัดผิวกระจกตาได้เรียบโดยไม่ทำให้เกิดรอยไหม้เกรียม และไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียง ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่สามารถผ่านทะลุเข้าไปในลูกตาได้จึงไม่ทำอันตรายต่ออวัยวะภายในลูกตา
เรื่องสุดท้ายเผื่อน้องคนไหนเป็นกังวล...การทำเลสิค หรือ PRK เป็นการแก้ปัญหาสายตาสั้นอย่างถาวร ย้ำว่า...อย่างถาวรค่ะ แต่โอกาสที่จะกลับมาสายตาสั้นอีกก็มีความเป็นไปได้แต่เป็นส่วนน้อย และมักมีเหตุผลหรือที่มาที่ไปว่าทำไมสายตาถึงกลับมาสั้นอีก เช่น ตอนทำมีค่าสายตาสั้นมากเกินไป หลังทำใช้สายตาไม่ถนอม ฯลฯ ก็ลองสอบถามข้อมูลตรงนี้จากคุณหมอดูนะคะ คุณหมอจะได้แนะนำเทคนิคที่จะรักษาสายตาให้ปรับเปลี่ยนช้าที่สุด

            ทีนี้สายตาสั้นก็ไม่ใช่อุปสรรคแล้วนะคะ ส่วนจะสอบผ่านข้อเขียนหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าน้อง ๆ เตรียมตัวมาดีแค่ไหน ใครพร้อมกว่าก็มีโอกาสมากกว่า หากน้อง ๆ ตั้งใจจริงก็เชื่อว่าไม่น่าเกินความพยายาม  ยังไงขอให้น้อง ๆ โชคดีสอบเข้าเรียนได้ตามที่หวังนะคะ

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 2)

            นอกจากตาบอดสีที่ีเป็นอุปสรรคต่อการเลือกเรียนต่อที่เล่าไปในครั้งก่อนแล้ว
            สายตาสั้นก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการเลือกเรียนต่อในบางอาชีพ แต่โชคดีที่สายตาสั้นสามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ ขณะที่ตาบอดสีเป็นแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ต้องตัดใจตัดโอกาสไปเลย

 สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 2)

อย่างแอร์โฮสเตสถ้าตาบอดสีก็หมดสิทธิ์ กรณีสายตาสั้นยังพออนุโลมให้ได้ แต่ต้องใส่คอนแทคเลนส์ห้ามใส่แว่นตาเด็ดขาด ผู้เขียนเองยังไม่เคยเห็นแอร์ใส่แว่น น่าจะเป็นกฎที่เค้าห้ามไว้น่ะ แต่ถ้าอยากสายตาปกติก็แก้ไขซะ จะได้ไม่ต้องพึ่งคอนแทคเลนส์

ส่วนอาชีพที่ซีเรียสเรื่องสายตาสั้น ก็อย่างเช่น เตรียมทหาร ตำรวจ นายสิบตำรวจ นักบิน ที่ห้ามก็เนื่องจากอาจเป็นอุปสรรคต่อการฝึกหรือปฏิบัติงานได้ แต่เตรียมทหารบางเหล่าทัพ เช่น ทหารบก ทหารเรือ ถ้าสายตาสั้นไม่มากก็อาจอนุโลมได้แต่ต้องดูคะแนนสอบด้วย ถ้าคะแนนดีมากๆ ก็มีโอกาสได้เรียนสมใจ แต่สำหรับเหล่าตำรวจและเหล่าทหารอากาศ หรือนักบินนั้นไม่อนุโลมเลย สายตาต้องปกติเท่านั้น
แต่ถ้าจะให้ชัวร์สายตาปกติเป็นดีที่สุด น้อง ๆ ที่สายตาสั้นก็อย่าเพิ่งเสียกำลังใจค่ะ ถ้ามีการแก้ไขสายตาสั้นให้กลับมาปกติก็เข้าเรียนได้ไม่มีปัญหา
 สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 2)

การแก้ไขสายตาสั้นให้กลับเป็นปกติที่นิยมทำกันในปัจจุบันก็คือ เลสิค (Lasik) เป็นการใช้เลเซอร์ในการปรับแก้สายตา แต่การทำเลสิคก็มีข้อที่น้อง ๆ ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น
-  ควรทำล่วงหน้านานเท่าไหร่ ถ้าจะให้ดีน้องๆที่จะสอบเข้าเตรียมทหาร ตำรวจ ควรทำล่วงหน้าก่อนสอบประมาณ 1 – 2 เดือน หรือนักบินบางสายการบินก็มีกฎว่าต้องทำมามากกว่า 1 ปี น้อง ๆ ก็ต้องศึกษาเงื่อนไขเหล่านี้จากทางต้นสังกัดให้ดีก่อนนะคะ
-  เช็คให้ชัวร์ด้วยว่าที่ที่น้องจะสอบเข้าเรียนเขาอนุญาตให้ทำเลสิคหรือเปล่า อย่างทหารอากาศ หรือนักบินบางสายการบินเขาไม่อนุญาตให้ทำเลสิคค่ะ เพราะมีรอยแผลเปิดที่ฝากระจกตา ซึ่งในอนาคตถ้าโดนอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก ๆ ตัวผิวกระจกตาที่ปิดกลับเข้าไปอาจมีโอกาสเลื่อนหลุดได้
            
             แล้วอย่าคิดทำตีเนียน ๆ ไปเชียวล่ะ เดี๋ยวจะหน้าแตก เทคโนโลยีสมัยนี้เขาทันสมัยค่ะ มีเครื่องมือที่สามารถตรวจการทำเลสิคได้ คือสามารถเห็นรอยแผลเปิดที่ฝากระจกตา จับโกหกได้แบบหลักฐานมัดดิ้นไม่หลุดค่ะ

โดยคร่าว ๆ ก็จะเป็นไปทำนองนี้ แต่ถ้าจะให้มั่นใจจริง ๆ ว่าทำเลสิคได้หรือไม่ ต้องหาข้อมูลล่วงหน้าให้แม่น ๆ เพราะระเบียบปฏิบัติแต่ละปีก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างเตรียมทหารบางเหล่าที่เคยบอกว่าได้แล้วอาจไม่ได้ขึ้นมา น้อง ๆ จะได้เตรียมตัวหรือแก้ไขได้ทัน
             
             แล้วถ้าทำเลสิคไม่ได้ จะด้วยเหตุผลห้ามมีรอยแผลหรือสภาพกระจกตาไม่เอื้อกับการทำเลสิค จะต้องทำยังไง จะหมดสิทธิ์เรียนเลยหรือเปล่า ใจเย็น ๆ ค่ะ ยังแก้ไขได้ เพราะยังมีอีกวิธีหนึ่งคือ การทำ PRK วิธีนี้ใช้แทนการทำเลสิคในกรณีที่ไม่ต้องการเห็นรอยแผลเปิดฝากระจกตา และถ้าทิ้งระยะหลังทำนานพอสมควรแผลอาจจะหายไปได้จนตรวจหาไม่เจอ สำหรับ PRK เหมาะกับน้อง ๆ ที่อยากสอบเข้าทหารอากาศหรือนักบิน หรืออย่างเตรียมทหาร 3 เหล่าถ้ามีข้อกำหนดว่าห้ามเห็นรอยแผลเปิดฝากระจกตาล่ะก็ ให้เลือกใช้วิธีนี้
             
              อ่านแล้วโล่งอกเลยล่ะสิ เมื่อสายตาสั้นแก้ไขได้ น้อง ๆ ก็สามารถเดินตามฝันได้ แล้วคราวหน้าจะมาพูดถึงการแก้ไขสายตาสั้นด้วยเลสิค และ PRK ให้ละเอียดกว่านี้ รอติดตามอ่านนะคะ

สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 1)

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำถามยอดฮิตที่ครูมักถามเด็ก ๆ            
เด็กมักฝันอยากเป็นโน่นเป็นนี่ จึงมีสารพัดคำตอบ แพทย์ พยาบาล วิศวะ ครู ทหาร ตำรวจ ฯลฯ หลากหลายอาชีพที่อยากเป็น แต่จะเป็นได้อย่างฝันหรือเปล่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย การมีสายตาผิดปกติเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้อง ๆ พลาดโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพที่ต้องการได้ค่ะ            

    ปัญหาสายตาผิดปกติที่กระทบกับการเลือกเรียนต่อก็อย่าง โรคตาบอดสี น้อง ๆ บางคนสอบผ่านข้อเขียนแล้ว แต่สอบตกตอนตรวจร่างกายเพราะพบว่าเป็นโรคตาบอดสี ผิดหวังกันไปแบบงง ๆ ว่าตัวเองเป็นโรคตาบอดสีได้ไง ทำไมไม่เคยรู้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ คนที่ตาบอดสีมาแต่กำเนิด ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็น เพราะการมองเห็นไม่ได้ผิดปกติ ไม่ได้ตาบอด ผิดปกติแค่เรื่องการแยกสีทำให้แปลผลผิดจากความเป็นจริง ขณะที่การใช้ชีวิตทั่ว ๆ ไปก็ยังทำได้เหมือนคนปกติ จนมาตรวจเจอภายหลังเมื่อสมัครเรียนหรือทำงานนั่นแหละถึงได้รู้ตัวว่าตาบอดสี             


โดยทั่วไป โรคตาบอดสี แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ตาบอดสีมาแต่กำเนิด อันนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ หมายความว่าถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกได้ ซึ่งคนไทยที่เป็นโรคตาบอดสีส่วนใหญ่จะอยู่ในข่ายนี้ ตาบอดสีที่เกิดขึ้นภายหลัง พบได้น้อย จะพบในคนที่มีโรคจอประสาทตาหรือโรคเส้นประสาทตาอักเสบ


สำหรับคนที่ตาบอดสีมาแต่กำเนิด แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ   
1. ตาบอดสีแดง สีเขียว จะแยกสีแดงและสีเขียวออกจากสีอื่นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเวลาที่แสงสว่างมีไม่เพียงพอ กรณีนี้พบมากที่สุด และคนกลุ่มนี้มักมีปัญหาตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลืองด้วย     2. ตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลือง พบรองลงมา จะแยกสีน้ำเงินและเหลืองออกจากสีอื่นค่อนข้างยาก
3. ตาบอดสีทุกสี จะมองเห็นเพียงแค่สีขาวและดำเท่านั้น โชคดีที่กรณีหลังนี้พบน้อย
                
 สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 1)

โรคตาบอดสีแต่กำเนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นแล้วเป็นเลย น้อง ๆ อย่าได้ไปหลงเชื่อใครที่บอกว่ารักษาได้เชียวล่ะ ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันจากวงการจักษุแพทย์ทั่วโลก โปรดทราบโดยทั่วกันนะคะ                 
ทีนี้คำถามว่าทำไมโรคตาบอดสีถึงมีผลต่อการเลือกเรียนต่อของน้อง ๆ  คำตอบก็เพราะว่ามีอาชีพที่ต้องใช้สีบ่งบอกความหมายของสิ่งต่าง ๆ นั่นเองค่ะ ถ้าตาบอดสีแล้วแยกแยะสีไม่ได้ คงเดาได้ไม่ยากนะคะว่าจะส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายขนาดไหน บางครั้งอาจร้ายแรงถึงชีวิตเลยก็มี ซึ่งอาชีพที่ไม่เหมาะกับคนตาบอดสีก็อย่างเช่น นักบิน ทหาร ตำรวจ นักร้อยสายไฟ พาณิชย์นาวีหรือนักเดินเรือ แอร์โฮสเตส วิชาชีพแพทย์ เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ นักเคมีที่ต้องทำงานกับสี   พนักงานตรวจคุณภาพสินค้า (QC) จิตรกร เป็นต้น
                  
น้อง ๆ ทราบอย่างนี้แล้วก็อย่าเพิ่งใจแป้ว เป็นโรคตาบอดสีก็ไม่ได้แปลว่าอนาคตจะจบสิ้น เข้าใจค่ะว่าหลายคนมีอาชีพในฝัน แต่ถ้ามันขัดกับความเป็นจริงก็คงจะต้องยอมตัดใจ ยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่เหมาะสมให้เลือกอีกตั้งเยอะ จะตัดใจก็ควรรีบทำแต่เนิ่น ๆ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรคตาบอดสีก็มองหาสายอาชีพอื่นไปเลย แต่ถ้าน้อง ๆ ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะตาบอดสีหรือไม่ หรือพบว่าแยกแยะสีไม่ได้เหมือนคนอื่น ควรพบจักษุแพทย์ตรวจหาความผิดปกติของสายตาเพื่อให้รู้ตัว จะได้วางแผนชีวิตได้ถูกว่าจะเอายังไง จะเลือกเรียนอาชีพไหนที่เหมาะสม  บางทีน้อง ๆ อาจค้นพบความชอบในงานอาชีพนั้น ๆ และประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกับคนสายตาปกติทั่วไปก็ได้ เห็นมั้ยคะว่าหนทางไม่ได้ตันเสมอไป เพราะฉะนั้นอย่าหมดกำลังใจกันนะคะ

ปัญหาสายตาที่ส่งผลต่อการเรียนยังไม่หมดเพียงแค่นี้ แล้วจะมาเล่าต่อในตอนหน้า รอติดตามกันค่ะ