วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

ฝันให้ไกล...(สายตาสั้น) ก็ไปถึง

น้อง ๆ ที่ต้องการเรียนต่อแต่ติดปัญหาเรื่อง “สายตาสั้น” บางสายอาชีพมีกฎเกณฑ์ห้ามสายตาสั้น เช่น เตรียมทหาร 3 เหล่า, ตำรวจ, นักบิน แนะนำปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อแก้ไขสายตาสั้น ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การทำ เลสิค และ การทำ PRK แค่นี้ปัญหาสายตาสั้นก็เป็นเรื่องจิ๊บๆ น้องๆ สามารถเดินตามฝันได้ไม่สะดุดค่ะ

จะขอพูดถึง เลสิค ก่อน เพราะเป็นการแก้ปัญหาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์ที่ได้ยินบ่อย และนิยมทำกันมากที่สุดในปัจจุบัน ทำไมถึงเป็นที่นิยม? 3 เหตุผลง่าย ๆ คือ มีความปลอดภัยสูง, การฟื้นการมองเห็นเร็ว และที่สำคัญคือความสบายตาหลังทำ แค่นี้ก็ไปนั่งกลางใจคนได้ไม่ยาก

เลสิค คืออะไร? เลสิค หรือ LASIK ย่อมาจาก Laser Insitu Keratomeileusis เป็นการแก้ไขสายตาสั้น โดยการใช้เลเซอร์ขัดกระจกตาเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับความยาวลูกตา และให้ภาพโฟกัสตกลงบนจอรับภาพพอดี โดยขั้นตอนการทำจะต้องแยกชั้นกระจกตาก่อนคล้ายการเปิดหนังสือ แล้วจึงใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer) ยิงไปในเนื้อกระจกตาส่วนใน หลังจากนั้นทำการปิดชั้นกระจกตากลับที่เดิม การทำเลสิคจึงไม่มีแผลบริเวณผิวกระจกตาทำให้หลังทำรู้สึกสบายตาและฟื้นการมองเห็นเร็ว
ถึงจะดูเหมือนง่าย ๆ สบาย ๆ ฟื้นการมองเห็นเร็ว แต่หากน้อง ๆ จะสอบเตรียมทหาร ตำรวจ ก็ควรเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่ามาทำเอาเมื่อจวนตัว นั่นคือควรทำเลสิคล่วงหน้าก่อนสอบประมาณ 1 -2 เดือน อันนี้เป็นคำแนะนำจากคุณหมอตาโดยตรง
ถ้าคิดจะทำเลสิคก็ไปปรึกษาคุณหมอตาได้เลยค่ะ ปกติคนที่เหมาะสมทำเลสิคควรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่น้อง ๆ ที่จะสอบเข้าเตรียมทหาร ตำรวจ ส่วนใหญ่อายุก็อยู่ราว ๆ 15 -17 ปี ซึ่งกรณีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์อย่างนี้แต่มีความจำเป็นคุณหมอตาก็จะยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ และต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอม เมื่อยินยอมพร้อมใจแล้วก็ต้องมาดูว่าน้อง ๆ ผ่านเกณฑ์ที่จะทำได้หรือไม่ด้วยค่ะ คนที่สามารถทำเลสิคได้ต้องผ่านการตรวจสภาพตาและวิเคราะห์กระจกตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ ไม่ใช่ไปบอกหมอแล้วจะทำได้ทุกคน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรคุณหมอก็ยินดีทำให้ อ้อ! น้อง ๆ ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีปัญหาเรื่องสิว แล้วรับประทานยารักษาสิว Roaccutane อยู่ล่ะก็ต้องหยุดยาอย่างน้อย 1 เดือนด้วยนะ

 ฝันให้ไกล...(สายตาสั้น) ก็ไปถึง

ถึงเลสิคจะเป็นที่นิยมขนาดไหนก็ใช่ว่าน้อง ๆ จะแห่มาทำเลสิคได้เสมอไป เพราะบางสายอาชีพก็มีกฎที่ทำให้แก้สายตาสั้นด้วยเลสิคไม่ได้ อย่างน้องๆ ที่จะสอบเข้าเตรียมทหารอากาศ, นักบินบางสายการบิน หรือแม้แต่เตรียมทหาร 3 เหล่า ถ้ามีข้อห้ามว่าต้องไม่เห็นรอยแผลเปิดที่ฝากระจกตา ก็ต้องหันไปพึ่ง PRK  แทน เพราะการทำเลสิคต้องแยกชั้นกระจกตาจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีรอยแผลเปิดที่ฝากระจกตา กรณีน้อง ๆ มีกระจกตาบาง หรือกระจกตาไม่เหมาะจะทำเลสิค คุณหมอตาก็จะเลือกทำ PRK แทน อย่างไรก็ตามการจะทำ PRK ได้น้อง ๆ ควรมีสายตาที่ไม่สั้นมากเกินไป (ไม่เกิน 400) เพราะถ้าค่าสายตาสั้นมากอาจเกิดรอยแผลเป็นได้

PRK คืออะไร?  PRK ย่อมาจาก Photokeratoplasty เป็นการแก้ไขสายตาสั้นที่คล้ายกับการทำเลสิค ต่างกันที่ PRK นั้นจะไม่มีขั้นตอนการแยกชั้นกระจกตา โดยการทำจะเริ่มจากการขูดผิวกระจกตาที่อยู่ด้านนอกสุดของกระจกตาออกก่อน จากนั้นจะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ไปปรับความโค้งของผิวกระจกตา วิธีนี้จะทำให้เกิดแผลถลอกบริเวณผิวกระจกตาในระยะแรก ซึ่งจักษุแพทย์จะใส่คอนแทคเลนส์คลุมกระจกตาดำไว้ประมาณ 3 – 5 วัน รอจนผิวกระจกตาปิดดี จึงจะนำคอนแทคเลนส์ออก
PRK เป็นวิธีที่มีความปลอดภัย เพียงแต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวและการหายของแผลจะนานกว่าเลสิค น้อง ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีนี้จึงควรปรึกษาหมอตาแต่เนิ่น ๆ เพราะต้องใช้เวลาพักฟื้นพอสมควร  ถ้าจะให้ชัวร์ควรทำล่วงหน้าก่อนสอบประมาณ 3 เดือน แผลจากการรักษาจะได้หายสนิทจนตรวจไม่พบ หรือต้องตรวจอย่างละเอียดจริง ๆ จึงจะทราบว่าเคยทำ PRK มาก่อน แต่ถ้าไม่ติดขัดอะไรสามารถทำเลสิคได้ก็ทำเลสิคไปเลยค่ะ

ฝากไว้ก่อนจาก 3 เรื่อง เรื่องแรก...ก่อนตัดสินใจเลือกว่าจะแก้ไขสายตาด้วยวิธีไหน ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่าที่ที่น้องๆ อยากเข้าเรียนมีกฎเกณฑ์ในการรับอย่างไร ซีเรียสเรื่องสายตามากน้อยแค่ไหน วิธีไหนทำได้ทำไม่ได้ เราพร้อมแค่ไหน จะได้ไม่เสียเงิน เสียเวลาเปล่าๆ
เรื่องที่สอง...บางคนกังวลว่าทำเลสิค หรือ PRK ต้องใช้เลเซอร์ปรับผิวกระจกตาจะอันตรายมั้ย  เกิดยิงพลาดจะตาบอดหรือเปล่า คุณหมอยืนยันให้อุ่นใจว่า เอ็กไซเมอร์เลเซอร์เป็นแสงที่ให้พลังงานสูงและยังมีความแม่นยำสูง สามารถขัดผิวกระจกตาได้เรียบโดยไม่ทำให้เกิดรอยไหม้เกรียม และไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อใกล้เคียง ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่สามารถผ่านทะลุเข้าไปในลูกตาได้จึงไม่ทำอันตรายต่ออวัยวะภายในลูกตา
เรื่องสุดท้ายเผื่อน้องคนไหนเป็นกังวล...การทำเลสิค หรือ PRK เป็นการแก้ปัญหาสายตาสั้นอย่างถาวร ย้ำว่า...อย่างถาวรค่ะ แต่โอกาสที่จะกลับมาสายตาสั้นอีกก็มีความเป็นไปได้แต่เป็นส่วนน้อย และมักมีเหตุผลหรือที่มาที่ไปว่าทำไมสายตาถึงกลับมาสั้นอีก เช่น ตอนทำมีค่าสายตาสั้นมากเกินไป หลังทำใช้สายตาไม่ถนอม ฯลฯ ก็ลองสอบถามข้อมูลตรงนี้จากคุณหมอดูนะคะ คุณหมอจะได้แนะนำเทคนิคที่จะรักษาสายตาให้ปรับเปลี่ยนช้าที่สุด

            ทีนี้สายตาสั้นก็ไม่ใช่อุปสรรคแล้วนะคะ ส่วนจะสอบผ่านข้อเขียนหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าน้อง ๆ เตรียมตัวมาดีแค่ไหน ใครพร้อมกว่าก็มีโอกาสมากกว่า หากน้อง ๆ ตั้งใจจริงก็เชื่อว่าไม่น่าเกินความพยายาม  ยังไงขอให้น้อง ๆ โชคดีสอบเข้าเรียนได้ตามที่หวังนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น: