วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขนจ๋า...ลาก่อน (ตอน 2)

หากสาวๆ ชักรู้สึกไม่สนุกกับการกำจัดขนแบบชั่วคราว ไหนจะต้องทำกันบ่อยๆ เผลอแป็บเป็นขึ้นอีกล่ะ บางคนยังต้องรำคาญใจกับผลที่ได้จากการกำจัดขน เช่น เกิดขนคุด แทนที่จะได้ผิวเกลี้ยงเกลาเรียบเนียน กลายเป็นต้องมาคอยปกปิดผิวกลัวคนเห็นเกรงคนทักอีก อย่างนี้ขอแนะนำวิธี กำจัดขนถาวร ค่ะ แต่จะโดนใจหรือเปล่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป ดูข้อมูลที่นำมาฝากแล้วค่อยตอบตัวเองก็ได้

กำจัดขนถาวร...กำจัดยังไง

    วิธีกำจัดขนถาวรที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 วิธี คือ
   

   วิธีที่ 1 จี้ด้วยคลื่นวิทยุ จะทายาชา ฉีดยาชา หรือประคบเย็นก่อนทำการจี้ แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ สอดเข้าไปที่รูขุมขน จี้ด้วยคลื่นวิทยุเพื่อทำลายรากขน  
                

   

   วิธีที่ 2 ใช้เลเซอร์ จะทายาชา หรือประคบเย็นก่อนทำ เลเซอร์ที่ใช้คือ Gentle Yag Laser ที่มีหัวเลเซอร์ขนาดใหญ่ประมาณ 10-18 มิลลิเมตร ยิง 1 shot จะได้ครั้งละหลายเส้น โดยแสงเลเซอร์จะไปจับเม็ดสีของขนในระยะที่ขนกำลังเจริญเติบโตยาวออกมาเรื่อย ๆ ได้ดี




ทำความเข้าใจกันก่อน...จะได้ไม่โวยหมอทีหลัง

- ต้องบอกก่อนว่าใครคิดจะกำจัดขนถาวร เลิกเพ้อฝันว่าทำครั้งเดียวจะจบนะคะ เพราะขนที่เราเห็นด้วยตาแล้วมาให้หมอกำจัดนั้นไม่ใช่ปริมาณขนทั้งหมดที่มี เป็นปริมาณขนเพียง 20% เท่านั้น หมายความว่าใต้ผิวหนังยังมีรากสำรองที่ยังไม่เจริญเติบโตหรืออยู่ในระยะพักอีก 80% หนเดียวจึงกำจัดไม่หมดแน่นอน
-  การจี้ด้วยคลื่นวิทยุสามารถกำจัดขนถาวรได้ 100% แต่ต้องทำหลายครั้ง ถ้ามีขนโผล่ขึ้นมาใหม่แสดงว่าเป็นขนที่ซ่อนอยู่ ส่วนขนเดิมที่กำจัดออกไปแล้วจะไม่ขึ้นมาใหม่อีก อันนี้คอมเฟิร์ม
-  การใช้เลเซอร์สามารถกำจัดขนได้เพียง 60-80% แม้จะทำซ้ำหลายครั้ง แต่ขนที่เหลือเส้นจะเล็กลง บางลง สีจางลง การงอกขึ้นมาใหม่จะช้าลง

จะกำจัดขนถาวร...ต้องเตรียมตัว


ถ้าไม่เคยกำจัดขนด้วยตนเองมาก่อน สามารถทำได้ทันที แต่คิดว่าไม่น่ามีสาวๆ คนไหนปล่อยให้ขนขึ้นยาวเฟื้อย ยังไงก็ต้องมีการกำจัดขนด้วยตนเองวิธีใดวิธีหนึ่งบ้างล่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้ยังทำไม่ได้ ต้องหยุดกำจัดขนแล้วปล่อยให้ขนขึ้นตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือนานที่สุดเท่าที่จะทนไหว เพื่อให้ขนขึ้นเห็นชัดเจนและมีปริมาณมากพอในการทำแต่ละครั้ง
การกำจัดขนถาวรในคนปกติทั่วไปไม่มีข้อห้ามใด ๆ ยกเว้นคนที่ภูมิต้านทานต่ำ หากกำจัดด้วยการจี้คลื่นวิทยุที่ต้องใช้เข็มอาจเกิดรอยถลอกที่ผิวหนัง เป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังได้

ใช้เวลาทำนานเพียงใด

เวลาที่ใช้ในการกำจัดขนถาวรจะมากน้อยขึ้นกับ

วิธีการที่เลือกใช้ เช่น ขนรักแร้ ถ้าจี้ด้วยคลื่นวิทยุจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในครั้งแรก แต่ครั้งต่อมาจะเร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าใช้เลเซอร์จะใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น
   

    ตำแหน่งที่ทำ แต่ละตำแหน่งมีความหนาแน่นของขนไม่เท่ากัน เวลาในการทำจึงแตกต่างกัน เช่น บริเวณรักแร้ หน้าแข้ง จะมีความหนาแน่นของขนประมาณ 65 เส้น/ตารางเซนติเมตร ถ้าจะกำจัดขนบริเวณหน้าแข้งให้หมดในครั้งเดียวใช้เวลาทำประมาณ 2-4 ชม. ส่วนขนบริเวณใบหน้าจะหนาแน่นมากประมาณ 500 เส้น/ตารางเซนติเมตร สามารถใช้เลเซอร์กำจัดได้หมดในคราวเดียว แต่ถ้าโหมจี้ด้วยคลื่นวิทยุในครั้งเดียวอาจเกิดอาการบวมขึ้นได้ต้องแบ่งทำ 2-3 ครั้ง
   เอาเป็นว่าคงระบุชี้ชัดเวลาที่ทำหรือจำนวนครั้งแน่นอนไม่ได้ คุณหมอจะวางแผนเป็นเคสๆ ไป พูดคุยปรึกษาหารือได้ ไม่ต้องเออออไปทุกเรื่องถ้าไม่สะดวก คุณหมอจะได้ไม่ลำบากใจ สบายใจกับตัวคนไข้ด้วย

หลังทำจะเป็นยังไง  


  • มีอาการบวมได้ สามารถประคบเย็นลดบวม
  • หลังทำเลเซอร์อาจเห็นบริเวณที่ฉายเลเซอร์แดงประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง
  • หลังจี้ด้วยคลื่นวิทยุ อาจมีรอยแดงคล้ายยุงกัด และจะค่อยๆ จางไปภายใน 7 – 10 วัน

ดูแลตัวเองหลังทำก็จำเป็นนะ

อะไรทำได้ อาบน้ำและทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าต้องซกมกไปหลายวัน
อะไรห้าม  ลูกกลิ้ง น้ำหอมอย่าเพิ่งใช้ 1 – 2 วัน เอาไว้หอมวันหลังก็ยังทัน, ไม่ต้องขยันหรืออยากสะอาดเอาเวลานี้ แปรง หิน ฟองน้ำอย่าเพิ่งเอาไปขัดถูบริเวณที่เพิ่งกำจัดขนประมาณ 1 สัปดาห์, ช่วงนี้พักอยู่ในที่ร่มไม่ต้องไปออกแดด ทาครีมกันแดดกันไว้ด้วยก็ดี

ข้อดีเห็นชัดๆ ของการกำจัดขนถาวร

-ขนจะไม่กลับขึ้นมาใหม่อีก ถ้างอกขึ้นใหม่ในกรณีเลเซอร์ก็จะงอกช้าลง บางลง

-เมื่อไร้ขนผิวก็จะเรียบเนียนสะอาดเกลี้ยงเกลา ถูกใจสาวๆ ล่ะงานนี้

-ไม่เกิดปัญหาขนคุดเหมือนการกำจัดขนแบบชั่วคราว เพราะขนถูกกำจัดไปแล้วอย่างถาวรไม่ต้องมานั่งกำจัดขนด้วยสารพัดวิธีที่ทำให้ผิวหนังบอบช้ำ

-ว่ากันเฉพาะรักแร้ จุดอ่อนไหวที่ถ้าไม่เรียบเนียนเกลี้ยงเกลาจริง อย่าหวังว่าสาวๆ จะยกให้ใครเห็น

(1) สาวๆ ที่เคยถอนขนรักแร้เป็นประจำแล้วเกิดตุ่มนูน การกำจัดขนถาวรจะช่วยให้ตุ่มนูนค่อยๆ ลดขนาดลงหรือยุบหายไป เนื่องจากเมื่อไม่ต้องถอนขนอีกก็ไม่เกิดการกระตุ้นต่อมบริเวณรักแร้

(2) กลิ่นรักแร้ลดลง เพราะไม่มีขนให้สะสมเหงื่อที่เป็นต้นเหตุของกลิ่น และการกำจัดรากขนจะทำลายต่อมกลิ่นไปด้วยบางส่วน

(3) รอยคล้ำใต้วงแขนลดลง เพราะความจำเป็นที่ต้องใช้ลูกกลิ้งน้ำหอมเพื่อดับกลิ่นซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดรอยคล้ำลดลง
               

ขอบคุณข้อมูล & ภาพประกอบ : โรงพยาบาลยันฮี

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขนจ๋า...ลาก่อน (ตอน 1)

     
     หากจัดอันดับขนบริเวณไหนที่สาวๆ ไม่ปลื้ม คงไม่มีตรงไหนชวนละเหี่ยใจเท่าขนรักแร้อีกแล้ว รอง ๆ ลงมาคงเป็นขนหน้าแข้ง, ขนแขน จะโชว์วงแขนเรียวขาซะหน่อย แหม่...โดนสกัดดาวรุ่งซะงั้น สาวๆ ก็เลยต้องหาวิธีกำจัดขนที่มันทิ่มตาทิ่มใจออกไปซะ วิธีที่นิยมทำมักเป็นการกำจัดขนแบบชั่วคราว ซึ่งไม่นานขนจะงอกกลับขึ้นมาใหม่ ต้องคอยกำจัดอยู่เรื่อยๆ แต่ข้อดีก็มีนะคือทำง่าย ทำได้เอง เสียตังค์น้อย เอ้า ไปดูกันค่ะว่ามีวิธีไหนบ้าง

อย่างนี้มันต้อง ถอน   

     หลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ด้วยวิธีนี้มาแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ก็ธรรมด๊า ธรรมดา แค่ใช้แหนบอันเดียว การถอนขนจะเป็นการกำจัดขนไปทั้งราก มักใช้กับขนรักแร้ บริเวณอื่นไม่ค่อยนิยมเพราะถอนแต่ละเส้นนี่น้ำตาเล็ดน้ำตาซึมกันเลยทีเดียว คนที่ถอนขนรักแร้เป็นประจำแรกๆ อาจจะเจ็บ แต่นานวันก็จะชาชินจนไม่ค่อยรู้สึกเจ็บเท่าไหร่ สาวคนไหนชอบวิธีนี้ ถ้ามีขนรักแร้ดกคงได้เมื่อยคอและปวดตากันบ้างล่ะ เพราะต้องใช้เวลาถอนนานพอควร และทิ้งช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ขนก็จะงอกขึ้นมาใหม่

โกนให้เกลี้ยง
   

    สาวคนไหนชอบเจ็บน้อยหรือไม่เจ็บเลย คงต้องเลี่ยงมาใช้วิธีโกนแทนค่ะ วิธีนี้นิยมในหมู่สาวๆ ไม่น้อยเพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว และกำจัดขนได้ทุกบริเวณ ก่อนโกนควรทาครีมโกนขนไปก่อนผิวจะนุ่มลื่นโกนสะดวก และควรโกนขนตามทิศทางการงอกของขน แต่วิธีนี้ขนจะงอกกลับมาเร็วคือประมาณ 2 3 วัน ถ้าขี้เกียจต้องโกนบ่อยๆ คงต้องมองหาวิธีอื่นแล้วล่ะ





 แว็กซ์ขน...ก็ฮิตไม่น้อย

      
     ถ้าไม่ชอบวิธีพื้นๆ แนะนำการแว็กซ์ขน แต่บอกก่อนเลยว่าวิธีนี้เจ็บพอสมควร นึกถึงคุณเอาแผ่นเหนียวๆ แปะบริเวณที่มีเส้นขนแล้วกระชากออกจนขนหลุดออกมาทั้งรากนั่นแหละ แต่ทำแล้วผิวเรียบเนียนได้นานกว่าวิธีอื่น กว่าขนจะขึ้นใหม่นานประมาณ 3 4 สัปดาห์ บางคนอาจนานถึง 2 เดือนเลยก็มี สาวๆ หลายคนจึงชอบเพราะไม่ต้องกำจัดกันบ่อยๆ สำหรับแว็กซ์ที่ใช้มีทั้งแบบแว็กซ์ร้อน วิธีการคือป้ายเนื้อแว็กซ์บริเวณที่จะกำจัดขนแล้วดึงออก อีกแบบคือ แว็กซ์เย็น จะเป็นแผ่นแปะแล้วดึงออก ก็เลือกตามความชอบความสะดวก ส่วนใครจะเริ่มแว็กซ์ขนรอบใหม่ควรรอให้ขนยาวไม่น้อยกว่า 1 เซนติเมตร ขนจะได้ติดแว็กซ์ดีดึงออกได้เกลี้ยง

ครีมกำจัดขน...ก็มีนะ

     ถ้าสาวๆ เซย์โนวิธีพื้นๆ อย่างการถอน การโกน แถมแว็กซ์ขนก็ไม่ไหวนะเจ็บเกิ๊นน  ลองวิธีนี้ดูค่ะ การใช้ครีมกำจัดขน จะว่าไปวิธีนี้เริ่มเข้าตาบรรดาสาวๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช้ง่าย ผลก็น่าพอใจ ที่สำคัญไม่เจ็บ   การใช้ก็แค่ทาครีมกำจัดขนลงบนผิว ทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่ระบุข้างกล่อง จากนั้นก็เช็ดหรือล้างออก ปกติครีมกำจัดขนจะมีส่วนผสมของไดซัลไฟด์ที่จะไปออกฤทธิ์กัดตรงส่วนต่อระหว่างขนที่โผล่พ้นผิวหนังให้หลุดออกมา ถึงจะใช้ง่ายไม่เจ็บแต่ขนจะกลับขึ้นมาใหม่เร็วพอๆ กับการโกน คือ ประมาณ 2-3 วัน ถ้าจะเอาง่ายไม่เจ็บด้วยวิธีนี้ก็ต้องขยันกำจัดบ่อยๆ

ชอบไฮเทคต้องนี่เลย...เครื่องถอนขน
  
     เครื่องถอนขนมักผลิตมาให้มีขนาดเหมาะมือ การใช้ไม่ยุ่งยาก และเป็นวิธีที่ไม่ค่อยเจ็บมากเท่าไหร่ เนื่องจากเครื่องถอนจะถอนขนได้ไว แถมรุ่นใหม่ๆ ยังพัฒนาให้รู้สึกเจ็บน้อยลงมากขณะถอน ตัวเครื่องจะมีตัวหนีบสำหรับใช้ถอนขน ถ้าตัวหนีบเยอะก็จะกำจัดขนได้เร็วกว่าตัวหนีบน้อย 

      แต่ก็นั่นแหละ ราคาก็แพงกว่าด้วย อยากได้คุณภาพดีก็ต้องยอมควักจ่ายเยอะหน่อย โดยราคาจะมีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน การใช้เครื่องถอนถ้าอยากให้ง่ายต่อการถอนควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นปาดที่ผิวเพื่อเปิดรูขุมขนและทำให้เส้นขนอ่อนนุ่ม แล้วไล่ถอนย้อนแนวเส้นขน ส่วนระยะเวลาที่ขนจะกลับงอกขึ้นมาใหม่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ค่ะ
  ชอบใจวิธีไหนก็ตามสะดวกนะคะ แต่ต้องบอกก่อนว่าแต่ละวิธีก็อาจก่อผลไม่พึงประสงค์ตามมาได้ ซึ่งปัญหาที่มักสร้างความปวดใจให้ผู้หญิงสุดๆ คงจะหนีไม่พ้นการเกิด ขนคุด (in grown hair)
  ลักษณะจะเป็นตุ่มตามรูขุมขนมากมาย ทำให้ผิวหนังดูสากคล้ายกระดาษทราย หรือหนังไก่ สาวๆ คนไหนฝันว่าเมื่อกำจัดขนแล้วจะได้ผิวเรียบเนียนเกลี้ยงเกลา เผื่อใจไว้ด้วยว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นกันทุกคน บางคนเกิดขนคุดนี่เล่นเอาขำไม่ออกเลยนะ



     แล้วการกำจัดวิธีไหนที่ทำให้เกิดขนคุดได้บ้าง ก็แทบทุกวิธีค่ะ ทั้งการถอน การโกน การแวกซ์ และการใช้เครื่องถอนขน เนื่องจากการกำจัดขนด้วยวิธีเหล่านี้มักทำให้เกิดความบอบช้ำบริเวณผิวหนัง อย่างการใช้แหนบหนีบถ้าหนีบลึกเกินไปก็ทำให้รูขุมขนบิดเบี้ยว บวมช้ำ ตีบแคบ เมื่อขนใหม่ยาวขึ้นมาไม่ได้ก็จะมุดลง ทำให้เกิดขนคุดได้ หรืออย่างการโกนถ้าโกนผิดวิธี แทนที่จะโกนตามแนวเส้นขนกลับโกนย้อน ถึงจะให้ความรู้สึกว่าเกลี้ยงกว่า แต่ก็ทำให้ปลายขนแหลมสั้นเกินไปจนทิ่มแทงรูขน ทำให้เกิดขนคุด ปกติบริเวณที่เกิดขนคุดจะเป็นตุ่มนูน และอาจมีอาการคัน ทนรำคาญไม่ไหว ก็อดไม่ได้ที่จะกด บีบ เค้น จนทำให้เกิดเป็นแผลตามมา เอ้า เล็บไม่สะอาดติดเชื้อซ้ำเข้าไปอีก
    
      การใช้ครีมกำจัดขนก็ใช่ว่าไม่มีข้อเสีย ปกติครีมทากำจัดขนเหล่านี้มักมีส่วนผสมของสารหลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังในบริเวณที่บอบบาง ทำให้เกิดผื่นแพ้ได้ง่าย เวลาใช้จึงควรระวังโดยเฉพาะระยะเวลาที่ทาทิ้งไว้อย่าให้นานกว่าที่ผลิตภัณฑ์แนะนำ อีกอย่างครีมกำจัดขนส่วนใหญ่มักมีกลิ่นไม่ค่อยน่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ คือกลิ่นค่อนข้างฉุนค่ะ

  อ้อ ฝากไว้อีกเรื่องสำหรับสาวคนไหนที่กำจัดขนด้วยการโกน ควรใช้มีดโกนที่สะอาด พลาดท่าถูกบาดมีแผลมีรอยถลอกจะได้ไม่ติดเชื้อ แล้วก็ไม่ต้องใจดีเผื่อแผ่กันใช้นะคะ แนะนำให้ใช้คนเดียวเป็นของใช้ส่วนตัว ตัดปัญหาเรื่องการแพร่กระจายเชื้อ สวยแบบไม่เสี่ยงค่ะ

  สาวบางคนจะเลือกวิธีไหนก็ไม่กังวลเพราะทำแล้วผิวสวยเกลี้ยงเกลาดี จึงสนุกไปกับการกำจัดขนแบบต่างๆ ได้ แต่บางคนไม่เป็นยังงั้นน่ะสิ นอกจากจะเบื่อกับการต้องมากำจัดขนทุกบ่อยแล้ว ยังมีปัญหาขนคุดมาให้กุมขมับอีก อย่างนี้แนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการกำจัดขนแบบถาวรไปเลย มีทั้งทำด้วยเลเซอร์หรือจี้ด้วยคลื่นวิทยุ แบบนี้กำจัดขนได้ถาวรแน่ๆ แถมยังช่วยรักษาขนคุดได้ เนื่องจากการที่ขนน้อยลงหรือไม่มีเลยทำให้ไม่มีความจำเป็นในการถอนขนด้วยตนเอง จึงไม่เกิดการกระตุ้นต่อมในบริเวณนั้น ตุ่มนูนจึงค่อยๆ ลดขนาดลงหรือยุบหายไป แต่ก็อะนะ...อะไรที่ดีก็ต้องจ่ายแพงกว่า บอกเลยว่าค่ารักษาไม่สบายกระเป๋าเหมือนกำจัดขนแบบชั่วคราว แต่ถ้าอยากทำ ไม่มีปัญหาเรื่องสะตุ้งสตางค์ล่ะก็...จัดปายค่ะ


ขอขอบคุณ

ข้อมูล      :   http://www.kondoodee.com ,  
http://women.haijai.com                            
 ภาพประกอบ   :   http://women.kapook.com
http://flashmini.com,         

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

เตรียมตัว (เลเซอร์) ดี...มีชัยไปกว่าครึ่ง

 สาวๆ ที่อยาก “ผิว” สวยด้วยเลเซอร์ คงทราบกันนะคะว่า โดยทั่วไปเลเซอร์จะมี 2 ชนิดคือ เลเซอร์ชนิดที่ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง และเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดแผล ถ้าคุณหมอแนะนำว่าปัญหาผิวหน้าของคุณเหมาะกับ “เลเซอร์ชนิดมีแผล” ก็อย่าตกใจค่ะ  เช่น สาวๆ ที่อยากกำจัดพวกหูด กระเนื้อ ติ่งเนื้อ เนื้องอกของต่อมเหงื่อ ไฝ หรือขี้แมลงวัน ตุ่มยื่น ๆ นูนๆ เหล่านี้เหมาะกับคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่ทำให้เกิดแผลแน่ๆ แล้วจะเตรียมรับมือยังไงดี 

 เตรียมตัวก่อนทำ...อย่าทำเล่นไป

- ก่อนอื่นเตรียมใจ เพราะคุณจะเจอสิ่งเหล่านี้ (1) แผลที่ผิว (2) ต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้น (3) อาจต้องลาหยุดงานเพื่อเลี่ยงสายตาคนอื่น หรือไม่อยากตอบคำถาม อาทิ หน้าเป็นอะไร, ไปทำอะไรมา, บลาๆๆๆ


    - หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนทำ

    - แจ้งประวัติโรคประจำตัวของคุณให้หมอทราบด้วยล่ะ เพราะคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจเกิดปัญหาเรื่องการหายของแผลหรือการติดเชื้อซ้ำเติมได้ คุณหมอจะได้ระวังเอาไว้ก่อน รวมถึงเลี่ยงเลเซอร์บริเวณขาหรือเท้า

    - หลีกเลี่ยงทานยาหรือสมุนไพรที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน แป๊ะก๊วย เพราะอาจทำให้เลือดออกนานขึ้นขณะทำ

    - คนที่มีผิวคล้ำอาจเสี่ยงต่อการเกิดสีผิวผิดปกติหลังทำเลเซอร์ได้มากกว่าคนผิวขาว ดังนั้นคุณหมออาจสั่งยาให้ทาก่อนทำเลเซอร์ 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดรอยคล้ำหลังทำเลเซอร์
    

    ดูแลหลังทำ...สำคัญนะจ๊ะ

- หลีกเลี่ยงแสงแดด
  - หลังทำผิวจะมีรอยบวมแดงและมีแผลเกิดขึ้น...

  o ไม่ต้องกังวลใจเพราะเป็นเรื่องปกติ
  o คุณหมอจะแนะนำวิธีการทำแผล ให้ยาทาแผล แนะนำวิธีทำความสะอาดผิว และประมาณการวันที่แผลจะหายให้ทราบ

  การทายารักษาแผลให้ทาวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 5-7 วัน ก็จะดีขึ้น สำหรับกรณีที่แผลลึกอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

- ห้ามแกะลอกสะเก็ดออก ทายาตามปกติ รอให้สะเก็ดลอกหลุดไปเอง

- ภายหลังสะเก็ดหลุดลอกออกไปเเล้ว ในช่วง 1 เดือนแรกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดรอยคล้ำหลังทำเลเซอร์...ควรใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB และมีค่า SPF ไม่น้อยกว่า 30


แสงแดด...เลี่ยงได้เลี่ยง หลบได้หลบเลยนะ ยิ่งทำเลเซอร์ด้วยแล้วหลังทำห้ามโดนแดดไประยะหนึ่งเลยล่ะ ข้อนี้ซีเรียสเลย 


   ขนาดผิวปกติคุณหมอยังเตือนแล้วเตือนอีกเรื่องการโดนแดด เพราะทำให้ผิวไหม้เกรียม เกิดฝ้า กระ หรือริ้วรอยก่อนวัย ที่น่ากลัวคือเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำ (1) หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีแดดจัดมาก ๆ คือ ช่วง 10.00-15.00 . (2) ถ้าเลี่ยงแดดไม่ได้ เช่น ไปเที่ยว ควรป้องกันไม่ให้ผิวสัมผัสแสงแดดโดยตรง เช่น ทาครีมกันแดด, สวมหมวก, กางร่ม, สวมเสื้อแขนยาว-กางเกงขายาว


ขอบคุณข้อมูล  : คู่มือ สวยด้วยเลเซอร์ รพ.ยันฮี

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

เลเซอร์...รุ่งในวงการแพทย์

     

     ถ้านับจากปี ..1960 ที่มีการคิดค้นเครื่องเลเซอร์ขึ้นมาโดย ดร.ธีโอดอร์ ไมแมน (Dr.Theodore Maiman) ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษแล้ว นับวันเลเซอร์ยิ่งทวีความสำคัญกับชีวิตของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  แนบชิดในชีวิตประจำวันจนเราแทบไม่รู้สึก หลายคนอาจไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่าหลายอย่างที่เราพบเจอกันแทบทุกวันเกี่ยวข้องกับเลเซอร์ เช่น คุณเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อของสักชิ้นแล้วต้องนำมาสแกนกับเครื่องอ่านแถบรหัสหรือบาร์โค้ด (BarCode Scanner) เครื่องถ่ายเอกสาร เลเซอร์ปริ้นเตอร์ ที่ใช้ในสำนักงานหรือที่บ้าน นั่นก็ใช่ ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาคงจะเคยเห็นแสงเลเซอร์ที่คุณครูใช้ชี้บนจอภาพในขณะสอนหนังสือ อันนั้นเรียกว่า เลเซอร์พอยเตอร์ (Laser Pointer) หรือใกล้ตัวกว่านั้นก็บรรดาเครื่องเล่นซีดี, ดีวีดี ก็หนีไม่พ้นที่จะใช้หัวอ่านเลเซอร์ค่ะ

  ที่ผ่านมามีการนำแสงเลเซอร์มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย อาทิ ด้านอุตสาหกรรม, การแพทย์, สื่อสารโทรคมนาคม, การทหาร, วิทยาศาสตร์ และการบันเทิง เป็นต้น ถึงจะมีคุณูปการขนาดนี้ก็เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยกับคำว่า “เลเซอร์” แต่ไม่รู้จริงๆ ว่า เลเซอร์คืออะไร ถ้างั้นมาทำความรู้จักเลเซอร์กันพอสังเขปก่อนนะคะ
  
  คำว่าเลเซอร์ (Laser) เป็นคำย่อที่มาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation จะเรียกสั้นๆว่า เลเซอร์หรือแสงเลเซอร์ก็ได้


แสงเลเซอร์เกิดจากการกระตุ้นอะตอมหรือโมเลกุลของสารประกอบที่เป็นวัตถุตัวกลางบางชนิด ซึ่งการกระตุ้นดังกล่าวก่อให้เกิดการแผ่รังสีเกิดเป็นแสงที่มีความเข้มหรือความจ้าของแสงสูงมากกว่าแสงธรรมชาติอย่างมาก และง่ายต่อการรวมลำแสงให้ตกกระทบบนพื้นที่ขนาดเล็กๆ ได้ โดยกระบวนการที่ก่อให้เกิดแสงเลเซอร์จะอาศัยเครื่องเลเซอร์ที่มีส่วนประกอบหลักๆ 4 อย่าง คือ

· ระบบปั๊มหรือแหล่งพลังงานภายนอก (Pumping System)
· ตัวกลาง (Laser Medium)
· ตัวกล่องที่มีกระจกสะท้อนแสงภายใน (Optical Cavity)
· ระบบนำแสงไปยังเนื้อเยื่อที่ต้องการ

 การทำงานของเครื่องเลเซอร์จะเริ่มจากระบบปั๊มซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทำหน้าที่กระตุ้นอิเล็กตรอนที่อยู่ในตัวกลางทำให้ตัวกลางปล่อยอนุภาคลำแสงออกมา อนุภาคลำแสงที่ถูกปล่อยออกมานี้จะสะท้อนไปมาอยู่ภายในกล่องที่มีกระจก ทำให้เกิดการทวีคูณของอนุภาคลำแสง เมื่อพลังงานสะสมสูงพอแสงเลเซอร์จะถูกปล่อยให้ผ่านออกมาตามระบบนำแสงเพื่อไปสู่เนื้อเยื่อเป้าหมายต่อไป



 ด้วยคุณสมบัติของเลเซอร์ที่มีลำแสงเล็กมากและไม่กระจาย ทำให้พลังงานทั้งหมดรวมกันเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งมีความเข้มของแสงสูงมาก เมื่อยิงไปยังเนื้อเยื่อเป้าหมาย พลังงานแสงจะถูกเนื้อเยื่อดูดซึมไว้และแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนส่งผลให้เนื้อเยื่อถูกความร้อนทำลายจนเกิดการแข็งตัวและย่อยสลายลงค่ะ

  เลเซอร์มักถูกเรียกเป็นชื่อตามตัวกลางที่อยู่ในเครื่อง และยังทำให้เลเซอร์มีสี ความยาวคลื่น และความถี่ของคลื่นแสงแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น ถ้าตัวกลางเป็นทับทิม (Ruby) เครื่องเลเซอร์นี้จะถูกเรียกว่า รูบี้เลเซอร์ ถ้าตัวกลางเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกเรียกว่า คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาเลเซอร์โดยการปรับเปลี่ยนตัวกลางที่เป็นต้นกำเนิดของแสงเป็นวัตถุต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว สารกึ่งตัวนำ และแก๊สชนิดต่างๆ ทำให้ได้แสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกันและส่งผลต่อเนื้อเยื่อแต่ละชนิดและในระดับความลึกที่แตกต่างกันด้วย

     เอาล่ะค่ะ รู้จักแสงเลเซอร์กันไปพอหอมปากหอมคอแล้ว ทีนี้ก็มาพูดถึงการใช้แสงเลเซอร์ในทางการแพทย์บ้าง หากจะกล่าวว่าเลเซอร์ได้เข้ามาพลิกโฉมวงการแพทย์ทั่วโลกก็คงจะไม่ผิดนัก แม้แต่ในบ้านเราก็มีการใช้เลเซอร์กันอย่างแพร่หลาย แรกเริ่มเดิมทีการนำเลเซอร์มาใช้ก็เพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการ, การผ่าตัดที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก  ซึ่งกรณีนี้เลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อจับตัวเป็นก้อนเลือดจึงออกน้อย หรือการผ่าตัดในที่แคบที่มีดหมอธรรมดาเข้าถึงได้ยาก เช่น การเชื่อมประสาทในลูกตาโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดลูกตา เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีการนำเลเซอร์มาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในแง่การรักษาโรคหรือเพื่อความสวยความงามเลยล่ะ

เลเซอร์ผิวหนัง...เพื่อความงาม

    

    การนำเลเซอร์มาใช้เพื่อความสวยความงามของผิวเริ่มครั้งแรกในปี ค..1961 โดย ดร.ลีออน โกลด์แมน อายุรแพทย์โรคผิวหนังแห่งมหาวิทยาลัยชินชินเนติ โดยนำรูบี้ เลเซอร์ มาใช้เพื่อลบรอยสัก และผิวหนังที่มีเม็ดสีผิดปกติ ปัจจุบันแพทย์ผิวหนังนิยมใช้ "เครื่องมือเลเซอร์" ในการรักษาภาวะต่างๆ ทางผิวหนัง แต่เนื่องจากเลเซอร์แต่ละชนิดมีต้นกำเนิดของพลังงานแสงแตกต่างกัน เมื่อนำมาใช้ในการรักษาจึงต้องเลือกชนิดของเลเซอร์ให้เหมาะสม อีกอย่างที่ต้องคำนึงถึงในการรักษาด้วยเลเซอร์คือ เลเซอร์บางชนิดอาจทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง แต่บางชนิดไม่ทำให้เกิดแผล การดูแลผิวหลังทำจึงไม่เหมือนกัน ควรทำตามคำแนะนำตามที่แพทย์บอก เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดด, ทายาตามหมอสั่ง อะไรทำนองนี้ต้องเคร่งครัดด้วยค่ะ

     มาดูตัวอย่างกันค่ะว่า มีเลเซอร์อะไรบ้างในการรักษาผิวพรรณ
  
 ตัวแรกที่ขอพูดถึงคือ คาร์บอนไดออกไซด์ เลเซอร์ (CO2 Laser) ใช้กำจัดไฝ หูด ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่งเนื้อ สิวหิน และต่อมไขมันโต
- Q Switch Ruby Laser รักษาปานดำ ปานโอตะ กระแดด กระลึก ลบรอยคล้ำบริเวณริมฝีปาก ลบรอยสักทั่วไป และลบรอยสักคิ้ว
ND-Yag Laser ลบรอยสักคิ้ว รอยสักต่าง ๆ ลดปัญหาเม็ดสีในผิวหนัง เช่น กระ กระแดด กระลึก ปานดำ และปานโอตะ
Gentle YAG Laser กำจัดขนตามที่ต่าง ๆ เช่น รักแร้ หน้าแข้ง Bikini line  ขนในที่ลับ  
- Aurora/Triniti Laser ช่วยให้หน้าใส ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ รอยแดง ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเนียนกระชับ ลดริ้วรอย
- Q ray Laser รักษาแผลเป็นต่าง ๆ แผลสิวที่หน้า แผลเป็นจากอุบัติเหตุ ทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น สีแผลเป็นดูดีขึ้น แต่ถ้าเป็นพวกรอยแดงจากสิว แผลเป็น หรือมีเส้นเลือดฝอยที่ใบหน้า รักษาด้วย V-Beam Laser ค่ะ


เลเซอร์ฟอกสีฟัน

การฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ จะเป็นการใช้แสงเลเซอร์กระตุ้นสารฟอกสีฟันให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการฟอกสีฟัน ช่วยเปลี่ยนสีฟันให้ขาวสดใส สวยขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ


เลสิครักษาสายตาสั้น


    เลสิค หรือ LASIK ย่อมาจาก Laser Insitu Keratomeileusis เป็นการแก้ไขภาวะสายตาสั้น โดยการใช้เลเซอร์ขัดกระจกตาเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับความยาวลูกตา และให้ภาพโฟกัสตกลงบนจอรับภาพพอดี เลสิคเป็นการแก้ปัญหาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์ที่ได้ยินบ่อย และนิยมทำกันมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง, ฟื้นการมองเห็นเร็ว และที่สำคัญคือความสบายตาหลังทำ นอกจากการทำเลสิคแล้ว ยังมีการนำเลเซอร์มาใช้ในการรักษาโรคทางตาบางอย่าง เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น


ตกแต่งจุดซ่อนเร้นด้วยเลเซอร์
    
    เช่น ผ่าตัดกระชับช่องคลอดด้วยเลเซอร์ จะดีกว่าการผ่าตัดใช้ใบมีดแบบดั้งเดิม เพราะเนื้อเยื่อชอกช้ำน้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า หรือใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอดแบบไม่มีบาดแผล คือไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีบาดแผล เลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบช่องคลอดมีการสร้างคอลลาเจนมากขึ้น ส่งผลให้ช่องคลอดมีความกระชับมากกว่าเดิม แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดกว่าการผ่าตัดเหมาะกับคนที่ช่องคลอดหย่อนไม่มาก



เลเซอร์กำจัดขน

      สามารถกำจัดขนได้ประมาณ  60-80% แต่ต้องทำซ้ำหลายครั้ง ขนที่เหลือเส้นจะเล็กลง บางลง สีจางลง การงอกขึ้นมาใหม่จะช้าลง หลังกำจัดไปช่วงแรกๆ  จะดูเหมือนไม่มีขนเหลืออยู่ ต่อมาจึงค่อยๆ  มีขึ้นมาให้เห็นอีก ถึงจะไม่เกลี้ยงเกลาถาวรเหมือนการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ แต่ข้อดีคือไม่เจ็บ ใครมีปัญหาขนกวนใจตามที่ต่างๆ เช่น รักแร้, หน้าแข้ง, Bikini line, ขนในที่ลับ ฯลฯ อยากกำจัดทิ้งลองพิจารณาดู

เลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด

 เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่แบบปูดโปนเขียวยื่นออกมา ถ้ารักษาด้วยการฉีดยาหรือน้ำเกลือไม่ได้ผล สามารถรักษาได้ด้วยเลเซอร์ โดยการสอดสายเลเซอร์เล็ก ๆ เข้าไปในเส้นเลือดขอด แล้วฉายเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอดถึงต้นตอภายใน เส้นเลือดขอดก็จะยุบหายได้

ฝังเข็มด้วยเลเซอร์

การฝังเข็มโดยใช้เลเซอร์ สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ผลดี อาทิ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดข้อ ข้อเกร็ง ข้อยึดติด เอ็นอักเสบ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ใช้หลักการเดียวกับการฝังเข็ม แต่ใช้แสงเลเซอร์แทนเข็ม ใครกลัวการติดเชื้อ กลัวเข็ม กลัวเจ็บ น่าจะตอบโจทย์เพราะไม่ได้ใช้เข็มจริง

ยกมาให้ดูบางส่วน จริงๆ เลเซอร์ทำอะไรได้มากกว่านี้เยอะ สนใจก็ลองหาข้อมูลหรือสอบถามจากแพทย์ดูได้นะคะ



ขอบคุณข้อมูล : คู่มือ สวยด้วยเลเซอร์ รพ.ยันฮี
ภาพประกอบ : http://en.wikipedia.org/wiki/File:Laser_pointer.jpeg, http://plaza.ufl.edu/dwhahn/, http://www.thisismanufacturing.co.uk/ 

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

สุดเจ๋ง! อัพเต้าใหม่...เสริมมั่นใจสาวไร้เต้า

ผู้หญิงอะนะ จะอกตู้ม อกแฟบ ยังไง้ ยังไง ก็ภูมิใจ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตัดต้องเฉือนเต้านมทิ้ง แหม่...เป็นอะไรที่ทำใจยากจริงๆ จู่ ๆ เต้านมต้องมาหายวับกลายเป็นสาวไร้เต้า จะแต่งตัวทีก็ต้องยัดซิลิโคนมั่งทิชชู่มั่งเวลาสวมยกทรงให้เต้ามันบาล้านซ์ จริงๆ เดี๋ยวนี้เค้ามีการผ่าตัดอัพเต้าใหม่ในคนที่เป็นมะเร็งแล้วต้องตัดเต้านมทิ้งกันแล้วนะ ใครที่เคยแอนตี้ศัลยกรรมเสริมเต้าว่าไม่ดี ไม่โอเค ไม่โน่นนั่นนี่บลาๆๆๆ เห็นทีต้องหันมามองการเสริมเต้าในมุมใหม่แล้ว เพราะนี่เป็นการนำศัลยกรรมมาใช้แบบสร้างสรรค์ถูกที่ถูกเวลา



หมอจะอัพเต้าใหม่ให้คนไข้กลุ่มไหนได้มั่งมาดูกันค่ะ





    ·คนที่เพิ่งตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตัดเต้าทิ้งสามารถอัพ
เต้าใหม่ไปพร้อมกันได้เลย
    ·คนที่ตัดเต้าไปประมาณ 1-2 ปี ถามว่ารออะไร? คือบางคน
ต้องเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านมให้เสร็จสิ้นก่อน เช่น ให้เคมีบำบัด, รังสีรักษา หรือไม่ก็รอติดตามให้แน่ใจว่าปลอดจาก
การกลับเป็นซ้ำของมะเร็งก่อน  
    ·คนที่ตัดเต้านมออกไปนานหลาย ๆ ปีแล้ว

รู้แล้วจะอึ้ง! เทคนิคอัพเต้าใหม่

ใช้ถุงเต้านมเทียม ก็ซิลิโคนที่ใช้เสริมอกทั่วไปนั่นแหละ ผ่าแล้วใส่เย็บปิดเป็นอันจบได้เต้าใหม่สวยๆ แต่กรณีนี้พื้นฐานต้องเป็นคนเต้าเล็กนะ แต่หากผิวหนังหรือเนื้อบริเวณเต้านมน้อยถ้าผ่าแล้วใส่ซิลิโคนไปเลยเนื้อเต้านมจะตึงมาก หมอก็จะปรับวิธีทำเป็น 2 สเต็ป สเต็ปแรกจะถ่างขยายผิวหนังเต้านมก่อน สเต็ปสองถึงจะใส่ซิลิโคนจริงเข้าไป แต่ถ้าไม่ชอบเจ็บตัวหลายรอบก็จะมีอีกวิธีคือเสริมด้วยซิลิโคนพิเศษที่เป็นทั้งตัวถ่างขยายผิวหนังและซิลิโคนถาวรในอันเดียวกัน เรียกว่ามาแบบทูอินวัน คนไข้จะเจ็บตัวหนเดียว


ใช้เนื้อเยื่อของตัวคนไข้เอง เทคนิคนี้คุณหมอจะโยกย้ายเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกายไปสร้างเป็นเต้านม แหม่...อาจฟังดูโหดเล็กน้อย แต่จริงๆ ไม่ได้น่ากลัวแถมเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ยังมีความคงทนและเป็นธรรมชาติกว่าอัพเต้าด้วยวิธีอื่น เรื่องสวยเรื่องเนียนก็เป็นธรรมดาอยู่ล่ะ เพราะผิวหนัง ไขมัน กล้ามเนื้อ เส้นเลือด ล้วนแต่เป็นของจริงทั้งนั้น สำหรับเนื้อเยื่อที่เลือกใช้อาจเป็นเนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้องหรือกล้ามเนื้อหลัง ผลพลอยได้ของการใช้เนื้อเยื่อหน้าท้องคือทำให้หน้าท้องแบนราบขึ้น อั๊ยย่ะ ได้ทีเดียวสองเด้ง ส่วนข้อเสียก็คือใช้เวลาผ่าตัดนาน อย่างว่าแหละไหนจะเลาะไหนจะเย็บเส้นเลือดก็ต้องต่อกันใหม่ ทำแค่ประเดี๋ยวประด๋าวคงไม่ได้ อีกอย่างอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณที่ผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อออกไป
    
        จากภาพ : เสริมเต้านมใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้อง

        จากภาพ : เสริมเต้านมใหม่โดยใช้กล้ามเนื้อหลัง

ฉีดเสริมด้วยไขมัน เป็นการใช้เนื้อเยื่อไขมันตัวเองมาฉีดสร้างเป็นเต้านมใหม่ ตำแหน่งที่นิยมดูดไขมันมาใช้ คงหนีไม่พ้นหน้าท้องกับต้นขาเพราะมีปริมาณไขมันค่อนข้างเยอะ โดยปกติไขมันที่ฉีดเข้าไปจะสูญสลายไปเหลือเพียง 50 – 70% ตอนฉีดก็ต้องฉีดให้มากกว่าปกติเล็กน้อยเผื่อไขมันสลายตัวด้วย บางทีอาจต้องฉีดซ้ำถ้าจำเป็น เช่น ขนาดไม่ได้ตามต้องการ

อยากเหมือนจริงสุดๆ ต้องไม่ลืม...
ถ้าคนไข้ตัดเต้านมไม่เหลือแม้แต่หัวนมและลานหัวนมเลย จะต้องสร้างหัวนมและลานหัวนมขึ้นมาใหม่ ไหนๆ จะอัพเต้าใหม่ทั้งทีก็ต้องเอาให้ครบ หัวนมกับลานหัวนมจะทำหลังจากสร้างเต้าใหม่แล้วประมาณ 3 - 4 เดือนค่ะ

เอาล่ะ  ถึงเวลาสะบัดบ๊อบใส่วิธีการเสริมตู้มด้วยการยัดซิลิโคนหรือทิชชู่กันซะที



ภาพประกอบ  : http://www.thaibreastcancer.com/

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

สัญญาณชวนสงสัย???? มะเร็งเต้านม!!!!

   มะเร็งเต้านม...โรคที่ผู้หญิงกลัวกันมาก ก็แหงล่ะ ไหนจะเป็นโรคร้าย ไหนจะถูกตัดนมกลายเป็นสาวเต้าเดียว ถึงตอนรู้ว่าเป็นจะอยากให้หมอตัด ๆ ออกไปซะก็เหอะ แต่พอเต้าถูกเฉือนออกไปจริงๆ กลับรู้สึกใจแป้วสูญเสียความมั่นใจอย่างแรง การเป็นมะเร็งเต้านมยังไม่เกี่ยวกับว่าเต้าเล็ก เต้าใหญ่ ด้วยนะ จะไซส์ไหนก็เป็นได้ ผู้หญิงจึงควรสังเกตสังกาความผิดปกติของเต้านมตนเองเอาไว้บ้างนะ

และถ้าเจอสัญญาณเหล่านี้   พบหมอด่วน!
· คลำพบก้อนที่เต้านม
· มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม
· ผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัว หรือหนา
ผิดปกติ
· หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
· มีเลือด หรือของเหลวออกจากหัวนม
· ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โต

ก้อนที่เต้านมไม่เจ็บสิน่ากลัว 
ผู้หญิงที่คลำพบก้อนที่เต้านม ไม่ทุกคนที่จะรีบมาพบหมอ ยิ่งถ้าก้อนนั้นไม่เจ็บ ก็ยิ่งนอนใจว่าไม่เป็นไรขอเตือนนะคะว่าคุณกำลังเข้าใจผิดมากๆ  
· ส่วนใหญ่ (90%) ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะ
ไม่มีอาการเจ็บหรือปวด ถ้ารอจนรู้สึกเจ็บแสดงว่าก้อนมะเร็งมัก
โตขึ้นมากแล้ว
· ถ้าคลำเจอก้อนแล้วเจ็บ โอกาสเป็นซีสต์มีสูง คนที่มีซีสต์
มักจะเจ็บที่ก้อน เนื่องจากก้อนซีสต์ไปดันเนื้อนมรอบข้างทำให้
เต้านมตึง

ก้อนมะเร็งเต้านมมักจะแข็งและขรุขระ
ไม่แน่เสมอไป มีเหมือนกันที่พบว่าเป็นก้อนเรียบๆ  จึงต้องตรวจวิเคราะห์ในแน่ชัดว่าเป็นซีสต์เนื้อ เนื้องอกของต่อมเต้านม หรือมะเร็ง

รู้ก่อน รู้เร็ว ย่อมดีกว่านะ
  อะไรคงไม่ดีไปกว่าตรวจหาความผิดปกติของเต้านม ซึ่งมีอยู่หลายวิธี 
    ที่ไม่ต้องลงทุนแต่ลงแรงนิดหน่อยก็คือ การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ทำแค่เดือนละครั้งก็พอ ถ้าหนเดียวยังขี้เกียจอีกก็ตัวใครตัวมันนะคะ ควรทำช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง โดยนับจากวันแรกที่มีประจำเดือนไปไม่เกิน 10 วัน ถ้าเข้าวัยทองนี่สบายเลย ไม่มีข้อจำกัดเรื่องประจำเดือน จะเลือกตรวจวันไหนก็เอาสักวันตามสะดวก แล้วก็ตรวจให้ตรงวันนั้นๆ ทุกเดือน ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่น จะตรวจทุกวันที่ 1 ของเดือน ก็ให้ตรวจทุกวันที่ 1 จริงๆ ไม่ใช่เดือนนี้วันที่ 1 เดือนหน้าวันที่ 10 อ้าว เดือนถัดมาวันที่ 20 ซะงั้น อย่างงี้ไม่เอานะ
                
    การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง มี 2 ท่า

คลำในท่ายืน

1. เริ่มต้นด้วยการยืนตรงหน้ากระจกเงา สำรวจดูเต้านม 2 ข้าง ในส่วนของรูปทรง ขนาด ลักษณะของผิวหัวนม การบวมที่ผิดปกติจากเดิม

2.ใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือบีบหัวนมดูว่ามีของเหลวใด ๆ ออกมาหรือไม่

3.ใช้มือด้านตรงข้ามตรวจโดยใช้ 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำเลื่อนไปเรื่อย ๆ ให้ทั่วเต้านม อาจเลื่อนขึ้นลงสลับกันหรือวนเป็นรูปก้นหอย



คลำในท่านอน ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักให้อกด้านที่จะตรวจแอ่นขึ้น ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำตรวจเต้านมทีละข้างเช่นเดียวกับท่ายืน


ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม
ที่ได้ยินกันบ่อยๆ และนิยมทำกันมากก็คือ การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่บางคนอาจไม่เคยทราบคือ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound) สองวิธีนี้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อนหรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้ 

การทำแมมโมแกรมควรทำหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจแค่ปีละครั้ง ถ้าอายุต่ำกว่า 40 ปี คุณหมอจะสั่งทำเมื่อตรวจพบก้อนที่น่าสงสัย แต่ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม อายุที่ตรวจได้ตั้งแต่ 35 ปี และถึงแม้ผลตรวจไม่พบความผิดปกติก็ควรตรวจเป็นประจำทุกปี




ขอบคุณข้อมูล : http://www.si.mahidol.ac.th/
ภาพประกอบ : http://www.nightsiam.com/ , http://www.oknation.net/ , http://www.newmyshop.com/