วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

บ๊าย บาย...ริซซี่ (ริดสีดวงทวาร)

“โอ๊ย...ลมมันเย็น” ใครได้ยินประโยคนี้  เชื่อแน่ว่าโรคริดสีดวงทวารจะลอยมาทันที อย่าทำเล่นไปริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย และพบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ แถมยังไม่เกี่ยงเพศด้วยจ้า  




             ริดสีดวงทวาร หมายถึง กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองบริเวณทวารหนัก เราส่วนใหญ่คุ้นเคยกับหลอดเลือดดำขอดบริเวณขา แต่อันนี้หลอดเลือดดำมันดันไปขอดที่ทวารหนักแทนไง ซึ่งเป็นเพราะมีแรงกดดันกับหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักนานๆ สาเหตุท็อปฮิตคือ มีอาการท้องผูก บางคนนี่นั่งเบ่งถ่ายนานๆ เป็นกิจวัตร ซึ่งก็มักไม่รอดริดสีดวงทวารมาเยือนแทบทุกราย  

โรคริดสีดวงทวารมี 2 แบบ คือ แบบภายในและแบบภายนอก แบบภายในจะไม่มีอาการปวดให้เห็นชัดเจนนัก คนไข้ไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็น ถ้าเป็นมากถึงจะมีก้อนยื่นออกมาขณะถ่าย แต่จะหดกลับเข้าไปเองได้ ถ้าเป็นหนักข้อขึ้นก้อนจะไม่สามารถกลับเข้าไปได้เอง คนไข้ต้องดันกลับเข้าไป และหนักสุดหัวริดสีดวงจะอยู่ภายนอกไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้อีกเลย ส่วนแบบภายนอก จะเป็นก้อนที่มองเห็นได้ คนไข้จะรู้สึกเจ็บและคันกว่าแบบภายใน


อาการของคนที่เป็นริดสีดวงทวาร ถ้าเบ่งถ่ายแรงๆ บางครั้งหัวริดสีดวงก็อาจปริแตกทำให้มีเลือดสดออกมาได้ แต่ปริมาณไม่ได้มากมายอะไร หลังถ่ายเสร็จเลือดก็จะหยุดไหล แต่มีเหมือนกันที่เป็นเรื้อรังเสียเลือดไปเรื่อยๆ จนซีดเซียว ถ้าหัวริดสีดวงเกิดการอักเสบก็จะมีอาการเจ็บปวด บางทีปวดมากขนาดนั่ง ยืน เดิน ลำบาก จนเป็นที่มาของ...ลมมันเย็น...ยังไงล่ะคะ



ถึงจะไม่ใช่โรคร้ายแรงใดๆ แต่อ่านแล้วก็ไม่น่าเป็นเอาซะเลย ทางที่ดีดูแลตัวเองไม่ให้เป็นก่อนดีกว่า ดังนี้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดจัด ชา กาแฟ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้อุจจาระนิ่ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พยายามหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งนานๆ และฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา


        ส่วนคนที่เลยจุดนั้นมาแล้ว ริดสีดวงทวารคารูก้นอยู่ทนโท่ วันดีคืนดีก็สำแดงเดชบ้างอะไรบ้าง ก็อย่าปล่อยไว้ ควรหาทางรักษาซะ การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับระดับความรุนแรงที่เป็น ขอยกมาให้ดูกันพอหอมปากหอมคอดังนี้

ถ้ายังเป็นน้อยๆ อาการไม่รุนแรงมาก คุณหมอจะแนะนำให้กินอาหารที่มีพวกเส้นใยมากอย่างผัก ผลไม้ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น หรือให้ยาขับถ่ายมารับประทานร่วมด้วยเพื่อให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก หรืออาจมีการใช้ยาเหน็บ ยากิน หรือยาทาเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการอักเสบ ปกติถ้าเป็นระยะแรกก็จะใช้การรักษาเบื้องต้นประมาณนี้ ถ้าจำเป็นต้องพึ่งเครื่องไม้เครื่องมือก็จะใช้วิธีจี้ด้วยความร้อนจากไฟฟ้าค่ะ

การใช้ยาฉีดเพื่อทำให้หัวริดสีดวงยุบลง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นำมาใช้กรณีมีเลือดออกและหัวริดสีดวงย้อยไม่มาก โดยยาจะไปทำให้เกิดพังผืดรัดเส้นเลือดบริเวณริดสีดวง และรั้งเนื้อเยื่อริดสีดวงไม่ให้เลื่อนตัวลงมา 

การใช้ยางรัดริดสีดวงทวาร วิธีนี้จะใช้ในกรณีหัวริดสีดวงย้อย และมีขั้วขนาดเหมาะที่จะรัดได้เท่านั้น โดยจะรัดที่ขั้วริดสีดวงทำให้หัวริดสีดวงขาดเลือดหล่อเลี้ยงและหลุดออกมาเอง และพังผืดที่เกิดจากแผลจะรั้งริดสีดวงที่เหลือให้หดกลับเข้าไปในทวารหนัก

การจี้ด้วยอินฟราเรด โดยจะจี้หัวริดสีดวงด้วยอินฟราเรด 3 จุดต่อ 1 หัว เพื่อให้ริดสีดวงทวารยุบลง และหยุดเลือดออก

การผ่าตัดเอาหัวริดสีดวงออก ซึ่งจะทำในรายที่มีอาการมากแล้ว หลังผ่าตัดคนไข้จะต้องกินยาระบายหล่อลื่น ยาเพิ่มกากใยอาหาร เพื่อช่วยในการขับถ่ายในช่วงแรก และไม่ต้องกังวลค่ะ คุณหมอจะจัดยาแก้ปวดให้กลับไปด้วย



ขอบคุณภาพประกอบ : http://zoneplus.net

ยาระบาย...อย่าใช้พร่ำเพรื่อ

คนที่ทุกข์กับอาการท้องผูก แถมยังอดกังวลไม่ได้ว่านานวันไปอาจโดนริดสีดวงทวารเล่นงานเข้าอีก มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่หาทางออกแบบเอาง่ายเข้าว่า พึ่ง “ยาระบาย” มันซะเลย



ยาระบายหรือยาถ่าย...ชื่อก็บอกสรรพคุณโต้งๆ แล้วว่าเข้าไปช่วยเร่งการขับอุจจาระออกจากร่างกาย ทำให้ถ่ายคล่องปรื๊ดๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะล่อใจให้อยากใช้จนต้องเดินกลับไปร้านขายยาอีก  จำนวนคนที่แก้ปัญหาท้องผูกด้วยยาระบายมีมากเพียงใด ดูได้จากธุรกิจเกี่ยวกับยาระบายที่ทำเงินกันเป็นกอบเป็นกำ   เรียกว่าเดี๋ยวนี้คนหันไปพึ่งยาระบายกันจนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเป็นทางออกที่หวังผลได้เร็วที่สุดยังไงล่ะคะ 

แล้วยาระบายมีฤทธิ์ช่วยให้กากอาหารหรืออุจจาระในลำไส้ใหญ่ถูกขับออกมาได้ง่ายได้ยังไง อันนี้ก็สืบเนื่องจากตัวมันจะไปดึงน้ำออกจากผนังลำไส้เข้าไปเจือในเนื้ออุจจาระทำให้อุจจาระนิ่มจึงขับถ่ายออกได้โดยง่ายนั่นเอง


ฟังดูเหมือนจะดี แต่ผลดีนั้นจะปรากฏให้เห็นเฉพาะตอนใช้ช่วงแรกๆ เท่านั้น นานวันเข้ากลับจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะยาระบายทุกตัวเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผนังลำไส้ใหญ่ โดยจะออกฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ให้หดรัดตัวอย่างผิดปกติ เป็นการตอบสนองเพื่อขับสารที่ระคายเคืองออกนั่นเอง แม้แต่ยาระบายที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดก็มีผลต่อลำไส้ใหญ่ในทำนองเดียวกัน จากงานวิจัยพบว่า ผู้ใช้ยาระบายเป็นประจำนั้นผนังลำไส้จะบางกว่าปกติ เกิดการระคายเคือง จนเสื่อมหน้าที่ได้ในที่สุด อีกทั้งการหลั่งน้ำย่อยในทางเดินอาหารก็จะผิดไปจากปกติอีกด้วย

การใช้ยาระบายจะทำให้ร่างกายของเราเสียน้ำไปส่วนหนึ่งโดยทำให้เยื่อบุลำไส้ใหญ่ระคายเคือง เกิดอาการบวมน้ำ และปล่อยน้ำออกมาในรูของลำไส้ใหญ่ ในขณะเดียวกันยาก็จะกระตุ้นให้ผนังลำไส้เกิดการบีบตัวแล้วถ่ายออกมาเป็นอุจจาระเหลว และถ่ายหลายครั้งตามฤทธิ์ยา ซึ่งการสูญเสียของเหลวในปริมาณมากๆ ดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ การสูญเสียน้ำจะส่งผลต่อเนื่องไปยังทุกๆ เซลล์ในร่างกายของคนเรา หากปริมาณน้ำในร่างกายมีไม่เพียงพอ กระบวนการภายในเซลล์ตามปกติก็จะลดลง รวมถึงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วย และในหลายๆกรณีสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ค่ะ

เป็นธรรมดาที่ยาระบายจะเข้าเร่งการเคลื่อนตัวของอาหารผ่านลำไส้ ซึ่งเราต่างทราบกันดีว่าสารอาหารส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมที่นั่น การผลักดันอาหารผ่านลำไส้ก่อนการย่อยจะสมบูรณ์อาจนำไปสู่การขาดสารอาหารได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นยาระบายอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาอื่นๆ ตามมา เช่น ถ่ายเหลว มีมูกในอุจจาระ ปวดท้องอย่างกะทันหัน กระทั่งมีพิษต่อตับ


ผลเสียอีกประการของยาระบายที่เราส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึงก็คือ ถ้าเรากินยาระบายที่มีฤทธิ์แรงๆ ขณะมีอาการปวดท้อง ผลเสียร้ายแรงอาจเกิดตามมาได้ หากเรามิอาจจำแนกได้ว่าอาการปวดท้องแบบใดเป็นสัญญาณเตือนของไส้ติ่งอักเสบ ในกรณีนี้โอกาสที่ยาระบายจะเป็นสาเหตุให้ไส้ติ่งแตกก็ย่อมเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงอันตรายมาถึงตัวคุณโดยตัวคุณนั่นเองเป็นผู้หยิบยื่นให้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


และที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือ คนที่กินยาระบายบ่อยๆ มักมีแนวโน้มใช้ยาชนิดนี้เป็นประจำคล้ายเสพติด นั่นคือจะต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม และถ้าหากหยุดใช้ยาโดยทันทีก็จะเกิดปัญหาท้องผูกตามมา เนื่องจากยาพวกนี้ได้ทำลายความสามารถของลำไส้ใหญ่ในการขับถ่ายตามธรรมชาติแบบถาวรไปเสียแล้ว ดังนั้นลำไส้ใหญ่จึงไม่สามารถบีบตัวไล่อุจจาระได้เอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ใช้ยาระบายเป็นประจำจึงหยุดยาไม่ได้  แถมยังทำให้อาการท้องผูกเป็นมากขึ้นอีก 



เห็นพิษภัยที่แฝงมากับยาระบายเยอะขนาดนี้ ถ้ายังไงคิดให้รอบคอบก่อนกินล่ะ ถ้ากินแก้อาการท้องผูกชั่วครั้งชั่วคราวหรือนานๆ ทีก็คงไม่กระไรนัก แต่ถ้าใช้ประจำต่อเนื่องเป็นเวลานานนี่ต้องคิดดีๆ จะได้ไม่คุ้มเสียซะเปล่าๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ให้ปรึกษาหมอหรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยดีที่สุดค่ะ

ปล่อยให้ท้องผูก...ริดสีดวงจะถามหา

ใครท้องผูกบ่อยๆ ยกมือขึ้น ฮั่นแน่ ยกกันเพียบ เดี๋ยวนี้เจอคนที่มีปัญหาท้องผูกเยอะขึ้น มักอ้างว่าก็แหมงานมันยุ่งหัวฟู จะเอาเวลาไหนไปพิถีพิถันกับอาหารการกิน ก็ได้แต่กินอาหารขยะไร้กากใย น้ำเหรอ? แทบไม่มีเวลาแตะ ออกกำลังกายนี่ไม่ต้องพูดถึงจะเจียดเวลาไหนไป แหม่...เหตุผลมากันตรึม แล้วไงล่ะ ได้ปัญหาท้องผูกเป็นของแถม เข้าห้องน้ำทีต้องเผื่อเวลาไว้เลยเพราะถ่ายยากถ่ายเย็น กว่าจะถ่ายออกมาได้ต้องใช้ความพยายามเบ่งกันจนหน้าเขียวหน้าเหลืองเนื่องจากอุจจาระแข็งโป๊ก ระบบขับถ่ายเป็นยังงี้นานๆ ไม่พ้นน้องริซซี่....ริดสีดวงมาเคาะถึงทวารแน่ค่ะ




ยังไงถึงเรียกท้องผูก? คุณอาจยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาท้องผูกอยู่หรือไม่ เอางี้ค่ะง่ายๆ ถ้าคุณถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และถ่ายลำบาก อุจาระแข็ง หมายความว่าคุณเข้าข่ายท้องผูกแล้ว

ถ้ารู้ตัวแล้วว่าคุณมีปัญหาท้องผูกก็อย่าปล่อยจนน้องริซซี่มาทักทายเลยค่ะ บอกเลยว่าเป็นแล้วตอนถ่ายนี่เจ็บทรมานสุด ๆ เบ่งอุจจาระทีมีเลือดสดๆ พุ่งออกมาก็มี ดังนั้นถ้าอยากรอดพ้นจากภาวะท้องผูกที่ไม่น่าพิสมัยแล้วล่ะก็ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยชินเหล่านี้ซะ


·       กินแต่อาหารขยะไม่มีกากใย กากใยอาหารนี่แหละตัวอุ้มน้ำชั้นดีที่ทำให้อุจจาระนิ่มขับออกได้ง่าย ดังนั้นถ้าสามมื้อของคุณยังวนเวียนอยู่แต่อาหารขยะที่อุดมไปด้วยแป้ง ไขมัน น้ำตาล ล่ะก็ ควรปรับเปลี่ยนใหม่ให้เมนูอาหารในแต่ละมื้อมีกากใยอาหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งผัก ผลไม้ และธัญพืช จัดไปเลยเน้นๆ


·       ดื่มน้ำน้อย น้ำมีประโยชน์สารพัดรวมถึงทำให้อุจาระนุ่มและถ่ายออกง่ายขึ้น อันนี้ชัดๆไม่ต้องอธิบายเยอะ ใครที่รู้ตัวว่าดื่มน้ำน้อย วันๆ อย่าเรียกว่าดื่ม ใช้คำว่าจิบดีกว่า นี่ต้องรีบเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วนนนน! ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว จะเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำผัก น้ำแกงได้ทั้งนั้น แต่ถ้าให้ดีน้ำเปล่าสะอาดๆ นี่แหละดีที่สุด แคลอรีเป็นศูนย์ไม่ต้องกระดกแก้วไปกังวลไปว่าน้ำหนักตัวจะขึ้น ส่วนพวกกาแฟ และแอลกอฮอล์เพลาๆ หน่อยจะดีมากเพราะส่งผลให้อุจาระแห้งได้


·       ไม่ออกกำลังกาย จะด้วยเหตุผลไม่มีเวลา ขี้เกียจ ไม่ชอบเหนื่อย หรืออะไรก็ตาม เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ซะ รู้ไว้เหอะการออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น จะเลือกออกกำลังกายแบบไหน ก็เอาที่ถนัด สะดวกหรือสบายใจ จะได้ไม่เอามาอ้างว่ายุ่งยากงู้นงี้ ถ้าข้อจำกัดเยอะแยะไปหมด ไม่มีสถานที่บ้างล่ะ อุปกรณ์ไม่พร้อมบ้างล่ะ ไม่มีเพื่อนบ้างล่ะ บลาๆๆๆ  แค่ “เดิน” วันละ 20-30 นาทีก็เยี่ยมแล้วค่ะ




·       พยายามรีบถ่ายให้เสร็จ ๆ นี่ก็พฤติกรรมที่หลายคนไม่คิดว่าจะทำให้ท้องผูก แต่เชื่อเหอะว่ามันมีผลจริงๆ บางคนก็ไม่รู้ว่าจะรีบร้อนไปไหน คุณไม่ได้ไปแข่งโอลิมปิค ไม่ต้องทำเวลาขนาดนั้น ให้เวลากับการขับถ่ายบ้าง นั่งชิลๆ ผ่อนคลายบ้างอะไรบ้าง ถ้ารีบเร่งเกินไปจะกลายเป็นคุณกำลังกดดันตัวเอง ทีนี้แทนที่จะถ่ายออกกลายเป็นหายปวดไปเลยก็มี  

·       ชอบอั้นอุจจาระนาน ๆ ทำเป็นเล่นไปคนกลุ่มนี้มีเยอะนะคะ ปวดแล้วอั้นไว้ คิดว่าไม่มีอะไร จริงๆ แล้วมีผลค่ะ เพราะพอคุณอั้นอุจจาระเอาไว้นานๆ น้ำที่มีอยู่ในอุจจาระก็จะถูกลำไส้ใหญ่ดูดซึมกลับไป ทำให้อุจจาระแข็ง ท้องผูกได้ ฉะนั้นปวดเมื่อไหร่ถ่ายให้เสร็จก่อนดีกว่าค่ะ


แถมท้ายอีกนิด ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น แคลเซียม, ยาลดกรด, ยาขับปัสสาวะ, ยาแก้ปวดบางชนิด เป็นต้น เผื่อใครกินยาที่ว่านี้เป็นประจำก็จะได้รู้ที่มาที่ไป ซึ่งอาการท้องผูกที่เกิดจากยาคงจะต้องปรึกษาคุณหมอแล้วล่ะ อย่าไปวินิจฉัยเอง คิดเองเออเอง ถ้าจำเป็นคุณหมอจะปรับหรือเปลี่ยนยาตามความเหมาะสมเองค่ะ

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ผ่าตัดผ่านกล้อง...ไม่รู้จักระวังตกยุคนะจ๊ะ

สมัยนี้พูดถึงการผ่าตัด ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัดด้วยการเปิดแผลใหญ่ๆ เสมอไปแล้วล่ะค่ะคู๊ณ คุณหมออาจเสนอทางเลือกให้อย่าง “การผ่าตัดผ่านกล้อง” (Laparoscopic surgery) ซึ่งแผลจะเล็กกว่า (อุ๊ย...คุณหมอไม่ได้หลอกดาวใช่ปะ) เจ็บตัวก็น้อยกว่า (โอ้ว...ในฝันเลยนะนั่น) ระยะฟื้นตัวสั้นมาก (ว้าว...งั้นก็ได้ไปลั้ลลาเร็วขึ้นดิ) หลายคนฟังแล้วไม่ต้องคิดหลายตลบ รีบเซย์ “เยส” สะบัดบ๊อบใส่การผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้องใหญ่ๆ แบบเดิมทันที 5555



ทำไมการผ่าตัดผ่านกล้องถึงมาพร้อมสโลแกน “แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว” ได้ ก็คงต้องมาดูถึงเทคนิคการทำกัน ขอยกตัวอย่างโรคนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งปัจจุบันนิยมผ่าตัดผ่านกล้องมากที่สุด ขั้นตอนการผ่าตัดก็คือ คุณหมอจะเจาะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง แล้วสอดกล้องขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร เข้าไปส่องหารอยโรค จากนั้นจะเจาะผนังหน้าท้องเพิ่มอีก 2 - 3 รู แล้วใส่เครื่องมือผ่าตัดขนาดใกล้เคียงกันเข้าไปทำการผ่าตัด โดยขณะผ่าตัดจะดูภาพผ่านจอทีวีไปด้วยซึ่งจะเห็นภาพพร้อมกันทั้งคุณหมอที่ผ่าตัดและคุณหมอช่วยผ่าตัด 

ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เห็นรอยแผลเป็นยาว
ผ่าตัดผ่านกล้อง แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก

เนื่องจากการผ่าตัดเป็นเพียงแค่การเจาะผ่านกล้ามเนื้อเข้าไป ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อเยอะเหมือนผ่าเปิดหน้าท้อง เพราะทั้งกล้องทั้งเครื่องมือผ่าตัดเล็กซะขนาดนั้น การบาดเจ็บจึงน้อย การฟื้นตัวของร่างกายก็เลยเร็วขึ้น หลังผ่าตัดไม่นานคุณหมอก็จะให้เริ่มกินได้ เรียกว่ากินเร็วกว่าผ่าตัดแผลใหญ่ พอฟื้นตัวเร็วยังงี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่คุณหมอจะรั้งตัวไว้ที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ก็จะกลับบ้านไปใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมปกติได้ภายในไม่กี่วันหรืออาจจะซักหนึ่งสัปดาห์

ส่วนเทคนิคที่ว่าทำไงให้ภายในช่องท้องมีพื้นที่มากพอให้เครื่องมือผ่าตัดทำงานได้สะดวก คุณหมอก็จะใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปให้ช่องท้องขยายตัวค่ะ ที่เลือกก๊าซตัวนี้ก็เพราะเป็นก๊าซไม่ติดไฟ เวลาคุณหมอเค้าผ่าตัดมันจะมีการตัดหรือจี้เนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าไง ถ้าขืนใช้ก๊าซที่ติดไฟได้ เดี๋ยวไฟได้ลุกกันพรึบพรับบรรลัยกันหมด


เหมือนจะเป็นของใหม่ยังงี้ก็มิได้หมายความว่าการผ่าตัดผ่านกล้องเพิ่งจะมาคิดค้นกันหรอกนะ จุดเริ่มต้นของการผ่าตัดผ่านกล้องต้องย้อนกลับไปร่วมร้อยกว่าปี นั่นคือในปี ค.ศ. 1902 คนแรกที่ทำการส่องกล้องผ่านรูเล็กๆเข้าไปดูอวัยวะในตัวสุนัขได้สำเร็จเป็นชาวเยอรมันชื่อ  Georg Kelling ค่ะ ครั้นถึงปี คศ. 1910 ก็มีรายงานความสำเร็จของการผ่าตัดผ่านกล้องในคนเป็นครั้งแรก จนกระทั่งหลังปี คศ. 1950 แล้วนั่นแหละจึงได้มีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือกันขนานใหญ่ ส่วนการใช้กล้องรับภาพเพื่อส่งเข้าฉายในจอทีวีนั้นมาประสบความสำเร็จเอาราว ปี ค.ศ. 1990 นี้เอง

หลังจากนั้นการผ่าตัดผ่านกล้องก็ก้าวหน้าราวติดปีก ถึงตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือพัฒนาไปมาก อย่างกล้องรับภาพก็พัฒนาจนเห็นภาพได้ละเอียดมาก ระดับ HD หรือ High definition กันเลยทีเดียว หรือจะเป็นกล้องสามมิติ 3D ก็มีนะเออ เอากะเค้าสิ รวมถึงพัฒนาจอภาพทีวีให้มีความละเอียดมากขึ้นด้วย ส่วนวิธีการผ่าตัดก็แจ่มไม่แพ้กัน นอกจากการผ่าตัดเจาะแผลหน้าท้องหลายๆ รู แล้ว ยังพัฒนาเทคนิคผ่าตัดโดยเจาะแผลเพียงรูเดียวที่สะดือมาเอาใจคนรักสวยรักงาม แต่ต้องบอกก่อนว่าถ้าผ่าแบบแผลเดียวจะใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า และเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากกว่า และที่ก้าวหน้าสุดๆ เห็นจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic surgery) ไม่ต้องต๊กกะจายว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานคุณหมอซะหมด ที่ต้องคิดค้นหุ่นยนต์มาช่วยก็เพราะบางทีการทำผ่าตัดด้วยมือมันมีข้อจำกัด อย่างบางทีรอยโรคมันอยู่ในมุมที่คับแคบเกินไป ก็ต้องอาศัยแขนกลเล็กๆ ของหุ่นยนต์นี่แหละมาช่วย เพราะแขนกลจะหมุนเปลี่ยนทิศทางในที่คับแคบได้ดีกว่ามือคนเยอะ แต่เทคนิคล้ำๆ อย่างนี้ก็มาพร้อมราคาที่แพงหูฉี่ แถมในบ้านเราก็ใช้เทคนิคนี้เฉพาะบาง รพ. เท่านั้น


เอาล่ะ ทีนี้มาดูกันว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทำอะไรได้มั่ง ที่นิยมสุดก็เห็นจะเป็นการนำมาใช้ผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดี  ส่วนอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่ง กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน  ไต ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ต่อมหมวกไต ฯลฯ ก็รักษาได้ อย่างคนไข้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปตัดต่อลำไส้ได้ หรือตัดต่อลำไส้ที่อุดตัน ตัดต่อท่อน้ำดีก็ยังได้ คนอ้วนมากๆ ก็มีการนำเทคนิคนี้ไปใช้ตัดต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ทางสูตินรีเวชก็นำเทคนิคนี้ไปใช้อยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่า ต้องการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่ เช่น คนไข้มีภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ หรือมีบุตรยาก คุณหมอก็จะเจาะหน้าท้องเพื่อส่องกล้องตรวจดู หรือรักษาความผิดปกติอื่นๆ เช่น ผ่าตัดปีกมดลูก, ท้องนอกมดลูก, ช็อกโกแลตซีสต์, ถุงน้ำรังไข่, ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก, ผ่าตัดมดลูก, ผ่าตัดเลาะพังผืดในช่องท้อง เป็นต้น


นอกจากการผ่าตัดทางช่องท้องแล้ว ทางช่องทรวงอกก็ทำได้เช่นกันค่ะ เช่น เข้าไปตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด, ตัดปอดในคนไข้ที่เป็นมะเร็งปอด, ตัดเยื่อหุ้มปอดเพื่อวินิจฉัยโรคปอด, ตัดต่อหลอดอาหารในคนไข้มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น


เอ้า...ยังไม่หมดแค่นั้นค่ะ การผ่าตัดผ่านกล้องยังนำมาใช้ผ่าตัดในบางตำแหน่งของร่างกายที่ผ่าแล้วทิ้งรอยแผลเป็นหราทำให้รู้สึกเสียเซลฟ์ได้ด้วยค่ะ อย่างการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ผ่าทีเห็นรอยแผลเป็นขวางลำคอ ถึงจะอาศัยรอยพับของผิวช่วยอำพรางแต่บางทีก็ยังตำตาอยู่ดีแหละ หรือคนไข้ที่มีก้อนเนื้องอกในเต้านม ถึงจะซ่อนอยู่ในร่มผ้าแต่ลึกๆแล้วก็ไม่อยากให้มีแผลเป็น ใครไม่เห็นก็ตรูนี่แหละเห็น  คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขาก็เหมือนกัน แทบร้อยทั้งร้อยไม่อยากให้ทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนเรียวขาแน่ๆ นั่นล่ะค่ะที่การผ่าตัดผ่านกล้องจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย  โดยคุณหมอจะเจาะรูในตำแหน่งที่ซ่อนรอยแผลได้ เช่น รักแร้ แล้วสอดเครื่องมือผ่านช่องใต้ผิวหนังไปยังตำแหน่งที่ต้องการรักษา

พูดๆมาดูเจ๋งดูดี แล้วผลเสียล่ะมีบ้างมั้ย? ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัดยังไงก็ต้องมีอยู่แล้วล่ะ ถ้าเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดใหญ่แล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อ หรือเลือดออกขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดก็จะน้อยกว่า แต่ถ้าระหว่างผ่าตัดดันเกิดมีอะไรผิดพลาดขึ้นก็มักจะรุนแรงกว่าผ่าเปิดแผลใหญ่นะคะ เช่น ถ้าหลอดเลือดใหญ่ทะลุ การห้ามเลือดก็จะทำได้ช้ากว่าการเปิดแผลแบบกว้างๆ เป็นต้น แต่ความผิดพลาดที่ว่ามานั้นโอกาสพบน้อยมากนะคะ ไม่ต้องตกใจ ที่ต้องบอกให้รู้เพราะไม่อยากให้มาด่าทีหลังว่าเอาแต่ข้อดีมาบอก ถ้าจะให้แนะนำก็คงต้องเลือกคุณหมอที่เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์สูงๆ ดีที่สุด

เรียกว่าดีและแทบจะปลอดภัยขนาดนี้ก็ทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ไปซะทุกคนก็หมดเรื่องว่ามะ แหม่...ใจเย็นค่ะ เพราะค่ารักษาแอบแพงเอาเรื่องอยู่ แต่ถ้าทำเป็นมองๆ ข้ามเรื่องราคาไป ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ค่ะ คนที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ก็อย่างเช่น  คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคอ้วน คนไข้ที่เคยผ่าตัดใหญ่ที่อาจจะมีพังผืดในช่องท้องมาก คนไข้ที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มาก หรือลำไส้บวมพองจนไม่มีช่องว่างในท้อง  เป็นต้น คุณหมอก็จะแนะนำให้ผ่าเปิดแผลใหญ่ไปเลย ไม่ต้องเสี่ยงทั้งคนไข้ทั้งคนผ่า ก็อย่าไปเซ้าซี้คุณหมอเค้าล่ะ เชื่อเหอะยังไงคุณหมอก็ต้องเลือกทางที่ดีที่สุดให้คนไข้เสมอ




ขอบคุณภาพประกอบ  : http://karimnawfal.com 
                                     

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558

รู้ไว้ซะ...ก่อนขึ้นเขียง

        จะขึ้นเขียงผ่าตัด ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ๆ ต้องดมยาสลบหรือบล็อกหลังแล้วหมอศัลย์ผ่าเปิดเข้าไปในร่างกาย หูยยย...เป็นใครจะไม่ใจฝ่อล่ะคร้า  ใช่การผ่าตัดเล็กๆ ฉีดยาชาพอชิลๆ ซะที่ไหน ความกลัว ความวิตกกังวลของคนไข้ก็มาจากความไม่รู้นั่นแหละ ถึงหมอจะแจงแล้วว่าคนไข้จะเจอะเจออะไรบ้าง แต่ก็แค่คร่าวๆ ก็ได้แต่จินตนาการกันไป ถูกมั่งผิดมั่ง เราก็เลยขอหยิบข้อมูลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครก็ตามที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความหวาดวิตกต่อการผ่าตัดลงได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังลดภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ด้วยค่ะ




ถามหมอให้เคลียร์
โดยปกติถ้าต้องผ่าตัด หมอก็จะอธิบายให้ทราบอยู่แล้วล่ะว่า ทำไมต้องผ่าตัด จะผ่ายังไง ผ่าแล้วคาดหวังผลเพียงไหน ต้องดมยาหรือไม่ต้อง ข้อดีข้อเสียของการผ่าตัด ผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นทั้งระหว่างและหลังการผ่าตัด ฯลฯ แต่บางทีข้อมูลมันเยอะ คนไข้เองก็ยังตกใจที่ต้องผ่าตัด ฟังไปเบลอไป งงๆงวยๆ เก็บความได้บ้างไม่ได้บ้าง ข้อมูลก็อาจจะมีตกๆ หล่นๆ ได้ ถ้ายังไงตั้งสติให้ดีๆ ซะก่อน ไม่แน่ใจสติสตังก็หนีบญาติไปช่วยกันฟัง สงสัยไม่เข้าใจตรงไหนให้ถามหมอตรงๆ ไม่ต้องเกรงใจ ซักจนกว่าจะกระจ่างนั่นแหละ เมื่อเข้าใจทุกขั้นตอนของการรักษาก็จะได้ผ่าอย่างมั่นใจ


แข็งแรงไว้ก่อน
หากร่างกายฟิตโอกาสฟื้นตัวหลังผ่าตัดก็เร็วขึ้น ดังนั้น ก่อนผ่าตัดดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ใส่ใจทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าใกล้วันผ่าตัดเกิดไม่สบายขึ้นมา แม้ยามปกติจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด มีผื่นคัน ฯลฯ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที


แจ้งประวัติให้ละเอียด 
        ประวัติสุขภาพของคนไข้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแจ้งให้คุณหมอทราบ เพื่อลดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด
           ·  ในกรณีที่มีโรคประจำตัว ต้องแจ้งคุณหมอโดยละเอียด อย่างบางคนเป็นเบาหวานอาจต้องปรับระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อน หรือเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องควบคุมความดันให้ได้ก่อน
           ·  ถ้ารับประทานยาเป็นประจำ ควรนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดมาให้คุณหมอดู เพราะบางทีคนไข้อาจกำลังกินยา วิตามินหรืออาหารเสริมบางตัวที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจำเป็นต้องหยุดยาเหล่านั้นก่อนผ่าตัด
           ·  เคยแพ้ยาอะไรบ้าง แพ้แล้วมีอาการยังไง บอกไปให้หมด
       · ถ้าเคยผ่าตัดมาก่อน แจ้งด้วยว่าผ่าตัดอะไร ใช้วิธีระงับความรู้สึกแบบไหน ยาชา ยาสลบ บล็อกหลัง แพ้บ้างหรือเปล่า ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นแนวทางให้กับหมอดมยาได้
        · ดื่มเหล้าหรือเปล่า เป็นสิงห์อมควันหรือไม่ ถ้าใช่ก็อย่าปิดบัง สิ่งเหล่านี้ต้องงดก่อนผ่าตัดอย่างน้อย สัปดาห์ อย่างสารนิโคตินในบุหรี่อาจจะลดประสิทธิภาพในการหายของแผลผ่าตัดได้นะ

เตรียมให้พร้อมสำหรับวันผ่าตัด
         เมื่อคนไข้มา รพ.ตามหมอนัดเพื่อรับการผ่าตัด ก็จะต้องมีการ
เตรียมคนไข้ให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด จะเตรียมมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับว่าผ่าอะไร บางกรณีก็อาจต้องเตรียมมากขั้นตอนหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด
         · คนไข้จะได้รับการตรวจโน่นนั่นนี่หลายอย่าง อันนี้เป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น


         · อาจต้องมีการเตรียมบริเวณที่จะทำผ่าตัดให้พร้อม เช่น บางการผ่าตัดอาจต้องโกนขนบริเวณที่จะทำผ่าตัดให้เกลี้ยง
         · หากคนไข้ต้องทำผ่าตัดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน อาจจะต้องทานยาระบายหรือสวนอุจจาระก่อนการทำผ่าตัด ก็ไม่ต้องตกอกตกใจไป
         ·  ส่วนใหญ่คนไข้มักจะต้องงดดื่มน้ำและรับประทานอาหารทุกชนิด ก่อนผ่าตัดประมาณ 6-8 ชม. ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสำลักอาหารเข้าไปในทางเดินหายใจ
         ·  ของมีค่า เช่น เงิน, เครื่องประดับ ควรให้ญาติดูแล ถ้าไม่มีญาติให้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ ป้องกันการสูญหาย ผ่าตัดก็เจ็บตัวพอแล้ว อย่าให้ต้องมายุ่งยากปวดหัวกับเรื่องไม่ใช่เรื่องอีกเลยค่ะ
         ·  ใครใส่ฟันปลอมถอดได้ ต้องถอดออกให้หมดก่อนไปห้องผ่าตัด ไม่งั้นอาจหลุดร่วงลงไปในลำคอได้ ส่วนคนที่ทาเล็บมือเล็บเท้าควรล้างออกให้เกลี้ยง ปกติเจ้าหน้าที่จะถามและตรวจสอบทุกครั้งก่อนส่งไปห้องผ่าตัด ถ้ามีก็ล้างออกจนหมดนั่นแหละ แต่ทางที่ดีรู้ตัวว่าต้องผ่าตัดก็ล้างยาทาเล็บมาจากบ้านเลยดีกว่าค่ะ


หลังผ่าตัด...ช่วงพักฟื้น
         ·  คนไข้ที่ดมยาสลบซึ่งใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างผ่าตัด ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัดอาจรู้สึกเจ็บคอ ระคายคอหรือมีเสมหะได้ ซึ่งการไอเป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายจะขับเสมหะออกมา แต่ถ้าไอค่อกๆ    แค่กๆ ไปเรื่อย นอกจากจะไร้ประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้ปวดแผลต้องขอยาแก้ปวดอีก ดังนั้นควรใช้ “วิธีการไออย่างมีประสิทธิภาพ” คือ คนไข้อยู่ในท่านั่งหรือท่านอนศีรษะสูง ประคองแผลผ่าตัดโดยการกางมือกดบริเวณแผลให้แน่น (หรือจะใช้หมอนใบเล็ก ผ้าเช็ดตัวม้วนประคองแผลก็ได้) เพื่อลดแรงดันขณะไอ หายใจเข้าลึกๆ 3 ครั้ง และหายใจออกทางปากก่อนเพื่อช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาการไอ จากนั้นไอแรงๆ เพื่อให้เสมหะที่ตกค้างอยู่ในหลอดลมถูกขับออกมา ซึ่งโดยทั่วไปพยาบาลจะสอนคนไข้ให้รู้จักวิธีการไออย่างมีประสิทธิภาพและได้ฝึกฝนก่อนผ่าตัดจริงค่ะ
        ·  คนไข้ที่ได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการบล็อกหลัง ควรนอนราบอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเพื่อป้องกันภาวะสมองเคลื่อน
        ·  การผ่าตัดบางอย่างอาจมีอุปกรณ์หรือท่อต่างๆต่อออกมาจากตัวติดมาด้วย เช่น ท่อระบายของเหลวจากบริเวณที่ทำผ่าตัดออกสู่ภายนอก ไม่ต้องตกใจเพราะเป็นการคาไว้ชั่วคราว และการระบายเอาของเหลวออกไปจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สิ่งที่ต้องระมัดระวังคืออย่าให้สายบิด หัก พับงอ และถุงที่ต่อจากท่อระบายควรให้อยู่ต่ำกว่าบริเวณที่ใส่ท่อระบาย
        ·  ในระยะหลังผ่าตัดที่ยังไม่ลุกขึ้นจากเตียง คนไข้ควรหายใจเข้าออกยาวๆ ลึกๆ บ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ โดยการหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ จนหน้าท้องตึงและหายใจออกช้าๆทางปาก เพื่อช่วยขยายถุงลมเล็กๆ ในปอดและป้องกันการเกิดปอดอักเสบและถุงลมแฟบหลังผ่าตัด และยังช่วยขับสารที่ใช้ในการดมยาสลบออกจากร่างกายโดยเร็ว โดยทั่วไปก่อนผ่าตัดพยาบาลจะสอนวิธีหายใจลึกๆ ที่ถูกต้องให้กับคนไข้ค่ะ

        ·  เมื่อเริ่มรู้สึกว่าแข็งแรงขึ้นแล้ว ก็อย่าเอาแต่นอนแซ่วติดเตียง ควรมีการเคลื่อนไหวโดยเริ่มจากการพลิกตัว ถ้าไหวก็ให้ออกกำลังกายบนเตียง บริหารแขนขา เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานเร็วขึ้นป้องกันท้องอืด ซึ่งการลุกจากเตียงจะทำได้เร็วช้าแค่ไหนขึ้นอยู่กับอวัยวะและการผ่าตัด ถ้าแข็งแรงพอก็ควรลุกจากเตียงโดยเร็ว 


วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

โรคต้อ...อย่าล้อเล่น

   
    
        ถ้าพูดถึงโรคที่เกิดกับดวงตา โรคต้อน่าจะอยู่ในลำดับต้นๆ ที่คนนึกถึง เพราะพบได้บ่อย แต่การที่เจอบ่อยๆ ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องธรรมดาจนไม่ต้องใส่ใจหรอกนะ เพราะถ้าเป็นแล้วปล่อยปละละเลยก็มีสิทธิ์ลงเอยแบบไม่ค่อยโสภา คือ ดวงตามืดมัวหรือบอดได้เลย แล้วถ้าถามต่อว่าที่ได้ยินกันบ่อยๆ น่ะรู้จักกันสักกี่มากน้อย คงได้แต่ทำหน้างงๆ กันไปซะเป็นส่วนใหญ่ ถ้ายังงั้นถือโอกาสนี้หยิบเรื่อง 3 โรคต้อที่พบบ่อยมาฝากกันซะเลย คงไม่เชยเกินไปนะคะ     


ต้อเนื้อ
        มาดูต้อแรกกันก่อน บอกปุ๊บต้องร้องอ๋อปั๊บ ก็ต้อเนื้อไง มีคนเป็นกันไม่น้อย เกิดจากการเสื่อมของเยื่อบุตา ลักษณะจะเป็นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมคลุมกระจกตาดำ พบทางหัวตาหรือหางตา ถ้าโดนสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น แดด, ฝุ่น, ลม จะทำให้ต้อเนื้อมีอาการอักเสบและมีอาการตาแดง แสบ เคืองตา น้ำตาไหลบ่อย เมื่อมีการอักเสบบ่อยครั้งต้อเนื้อจะลามเข้าตาดำได้รวดเร็วขึ้น และหนาตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บดบังการมองเห็นหรือมีสายตาเอียงจากบริเวณที่ต้อเนื้อเกาะได้


คนเป็นต้อเนื้อเจอใครเป็นต้องถูกถาม เอ๊ะ ตาเป็นอะไร? บางคนก็จะแนะนำให้ไปลอกออกซะ แต่จริงๆ แล้วคนที่เป็นต้อเนื้อ ถ้าเป็นไม่มากคือยังลามเข้าตาดำไม่มากไม่บังการมองเห็น นานๆ อักเสบที ก็ยังไม่จำเป็นต้องไปลอกออกก็ได้ ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบแดง ใส่แว่นกันแดด กันฝุ่น ลม ไปก่อนได้ แต่ถ้าเป็นเยอะขนาดลามเข้าตาดำจนการมองเห็นลดลง กลอกตาได้ไม่เต็มที่ หรือขยันอักเสบบ่อยๆ หรือบางคนเป็นแล้วรู้สึกอาย สบตาใครไม่ได้เต็มตา ก็ควรไปลอกออกซะ การลอกต้อเนื้อทำได้ง่ายมาก คุณหมอจะฉีดยาชาให้ แล้วจึงลอกเอาต้อเนื้อที่ติดกับตาดำและเยื่อบุตาขาวออกไป  อาจมีการวางเนื้อเยื่อเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ


แต่หลังลอกต้อเนื้อไปแล้วก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีกนะ ไม่ได้ลอกแล้วหายขาดถ้ายังคงเจอะเจอกับปัจจัยที่ทำให้ระคายเคืองตาอย่าง แสงอุลตราไวโอเลตในแสงแดด, แสงจ้า, ลม, พัดลม, แอร์คอนดิชั่น, ฝุ่น แต่ถ้าหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้โอกาสเป็นซ้ำก็ลดลง

ปกติต้อเนื้อจะไม่มีอาการเจ็บปวด ถ้าไม่โดนสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น แดด, ฝุ่น, ลม คนที่เป็นก็เลยชิลๆ ไม่ค่อยใส่ใจนัก ก็อย่าชิลกันจนเกินไปล่ะ ถ้าเริ่มสังเกตว่าเป็นเยอะหรือบางทีมีคนทัก ก็ควรปรึกษาหมอจะลอกจะอะไรก็ว่ากันไป

พูดถึงต้อเนื้อ ไม่พูดถึงต้อลมคงจะไม่ได้ ต้อลมเกิดจากการเสื่อมของเส้นใยคอลลาเจนในเยื่อตา สาเหตุจะคล้ายคลึงกับต้อเนื้อคือได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีในแสงแดดเป็นเวลานาน สัมผัสกับลม ฝุ่น ควัน ทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อตา

ต้อลม

ลักษณะของต้อลมจะเป็นก้อนสีขาวเหลืองอยู่บนเยื่อตาที่คลุมตาขาว อาจเรียบหรือนูนเล็กน้อย บางคนเป็นแล้วไม่มีอาการอะไรเลย แต่ถ้ามีการอักเสบ อาจทำให้มีอาการตาแดง บวมคันตา เคืองตา และน้ำตาไหลได้ ต้อลมจะต่างกับต้อเนื้อตรงที่จะไม่ลุกลามไปบนกระจกตา และไม่ทำให้เกิดตามัว

ใครเป็นต้อลมก็ไม่ต้องกังวลใจมาก ไม่ต้องผ่าตัดลอกออกเหมือนต้อเนื้อ  ถ้าเป็นไม่มากยังไม่ต้องทำอะไร เวลาออกแดดก็ใส่แว่นกันแดดป้องกันสักหน่อย ถ้ามีอาการระคายเคืองตาไปพบคุณหมอก็จะได้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมมาหยอด สิ่งสำคัญก็คือคนไข้ต้องพยายามเลี่ยงแสงแดด ฝุ่น ลม ถึงไม่หายขาดก็ไม่ทำให้แย่ไปกว่าเดิมค่ะ


มาถึงอีกหนึ่งโรคต้อ...อันนี้จะเจอบ่อยในผู้สูงอายุ นั่นก็คือ ต้อกระจก ซึ่งเป็นภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัว อย่างว่าล่ะอะไรๆ มันก็ย่อมเสื่อมไปตามวัย เลนส์ตาที่รับใช้มาเนิ่นนานก็ขุ่นมัวไปตามสังขารของมนุษย์นั่นแหละ อาการก็คือการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอาการเจ็บใดๆ บางคนเห็นภาพซ้อนเวลาปิดตามองทีละข้าง หรือมีหมอกหรือเงาดำบังเวลามองภาพ ถ้าทิ้งไว้นานๆ จนต้อสุกมากจะเห็นสีขาวบริเวณรูม่านตา

ต้อกระจก

ส่วนใหญ่คนไข้ที่เป็นน้อยๆ ยังไม่เดือดร้อนก็ยังไม่มาพบหมอตากันหรอก จนกระทั่งกระทบกับการดำเนินชีวิตแล้วนั่นแหละ เช่น การมองเห็นลดลงมาก คุณภาพชีวิตเริ่มแย่ ก็จะมาพบหมอ ซึ่งคุณหมอจะแนะนำให้ผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน ปัจจุบันนิยมทำโดยใช้คลื่นอุลตราซาวด์สลายตัวต้อกระจกแล้วดูดเอาออก จากนั้นจะใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนเลนส์ต้อกระจกที่เอาออกไป ซึ่งเลนส์ตาเทียมนี้จะอยู่ในตาไปได้ตลอดชีวิต การมองเห็นของคนไข้จะกลับมาชัดเจนแจ่มแจ๋วอีกครั้ง วิธีนี้เป็นที่นิยมเพราะแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กและใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน

หลังผ่าตัดต้อกระจก ชีวิตประจำวันอาจต้องปรับเปลี่ยนนานประมาณ 1 เดือน เพื่อให้แผลหายเป็นปกติดีเสียก่อน เป็นต้นว่า ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตา ให้เช็ดหน้าแทนการล้างหน้า ระวังเรื่องการสระผมถ้าไม่สะดวกไปนอนสระที่ร้านเลย เวลานอนให้ใช้ที่ครอบตาที่เป็นพลาสติกแข็งปิดตาไว้ด้วย เดี๋ยวจะเผลอไปขยี้ตาเข้า ท่านอนให้นอนหงายดีที่สุด ถ้าจะนอนตะแคงก็ให้ตะแคงไปด้านที่ไม่ได้ผ่าตัด ท่านอนคว่ำนี่ห้ามเด็ดขาด กลางวันจะออกไปไหนมาไหน ควรสวมแว่นกันแดด กันลม กิจกรรมไหนที่เสี่ยงทำให้ติดเชื้อก็ให้เลี่ยงสักพัก เช่น ทำสวน, รดน้ำ, พรวนดิน, ทำความสะอาดบ้านฝุ่นผงฟุ้งกระจาย, ปรุงอาหารที่มีไอหรือควัน เป็นต้น ระวังพฤติกรรมที่จะไปเพิ่มแรงดันในลูกตาด้วย เช่น ไอหรือจามแรงๆ ก้มหน้านานๆ สั่นศีรษะ ท้องผูกจนต้องเบ่งอุจจาระ พวกยาหยอด ยาป้ายตาให้ใช้ตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด ถ้าคุณหมอนัดก็มาทุกครั้งด้วยล่ะ ไม่ใช่คิดว่าดีแล้วหายแล้ว คือคิดเองเออเองไง คุณหมอจะได้ติดตามผล และอาจแนะนำให้ตัดแว่นสำหรับอ่านหนังสือถ้าจำเป็น แต่ถ้าช่วงก่อนถึงวันนัดมีอาการผิดปกติอะไร เช่น มีขี้ตามาก ปวดตามาก ตามัวลงกว่าเดิมมาก เป็นต้น ก็ไม่ต้องเถรตรงรอจนถึงวันนัด ให้รีบบึ่งรถมาพบคุณหมอทันที จริงๆ อันสุดท้ายนี้แทบไม่ต้องเตือนต้องบอก แต่ก็ขอนึดนึงเพราะอาจมีบางคนที่ประมาทหรือชะล่าใจ ซึ่งบอกเลยว่ามีแต่เจ๊ง ไม่มีเจ๊าค่ะ




ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.doohealthy.com 
                                           http://www.allaboutvision.com

                                           http://www.healthcarethai.com

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

ลดความล้า...ดวงตาคู่สวย


สาวออฟฟิศที่ต้องนั่งเพ่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน แทบไม่ได้พักสายตา ดวงตาย่อมล้าเป็นธรรมดา ความเคร่งเครียดจากงานเลยยิ่งอัพเลเวล หมดวันทีแทบหมดแรง ปวดตาปวดหัวปนเป ร่ำๆ จะไมเกรนถามหาเอา ถ้าขืนยังปล่อยให้สภาพการณ์ยังงี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คงไม่ดีแน่ ถ้ายังไงมาลองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้เพื่อผ่อนคลายอาการล้ากันดีกว่าค่ะ




บริหารดวงตา...อย่าขี้เกียจ

       · ค่อยๆ กลอกตาเป็นวงกลมอย่างช้าๆ จากบน -ไปขวา -  ลงล่าง - ขึ้นซ้าย - แล้วขึ้นบนสุด ทำประมาณ 5-6 รอบ
     · ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้าย – ขวา แตะบนหัวตา แล้วค่อยๆ คลึงเบาๆ แบบกดจุด นานประมาณ 1-2 นาที
       · ใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่หัวตา แล้วค่อยๆ เลื่อนนิ้วเบาๆ จากหัวตาไปหางตา ขณะเคลื่อนนิ้วให้น้ำหนักนิ้วลงที่กระบอกตาด้านบน ไม่ใช่ที่ลูกตา
       · ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางแล้วแต่ถนัด แตะที่ใต้ขอบตาเคลื่อนนิ้วช้าๆ จากหัวตาไปยังหางตา โดยให้น้ำหนักลงที่กระบอกตาล่าง ไม่ใช่ที่ลูกตา

ฝึกมองไกล...คุณก็ทำได้


ลองบริหารดวงตาอีกแบบด้วยการมองออกไปจับภาพวัตถุที่อยู่ไกลที่สุด แล้วค่อยๆ เคลื่อนสายตามองวัตถุที่ใกล้เข้ามาๆ จนเป็นภาพวัตถุที่อยู่ใกล้ที่สุด


พักสายตาแบบง่าย
ลองหาต้นไม้เล็กๆ สักต้นมาวางไว้ในห้องทำงาน แล้วพักสายตาด้วยการมองต้นไม้สีเขียวสดสักครู่หนึ่ง ก็จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้
สุดท้ายที่อยากแนะนำ เป็นวิธีช่วยให้ดวงตาคลายความล้าที่ได้ผลดี คือ ให้หลับตาเพื่อพักสายตาแล้วใช้ผ้านุ่มๆ หรือสำลีชุบน้ำเย็น 






หรือจะใช้ถุงชาที่ใช้แล้วแช่เย็น หรือแตงกวาสดๆ ฝานบางๆ
  นำมาวางบนเปลือกตา ความเย็นสดชื่นจะช่วยให้กล้ามเนื้อดวงตาได้ผ่อนคลายจากความล้าค่ะ




               
ขอบคุณภาพประกอบ http://issue247.com 
                                      http://webboard.edtguide.com