วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ลูกน้อยนอนกรน...ไม่ดี๊ ไม่ดี

        คนเป็นพ่อเป็นแม่ เห็นลูกน้อยทำอะไรก็น่ารักไปซะหมด ขนาดนอนกรนยังบอกน่าเอ็นดู๊  คุยอวดไปสามบ้านเจ็ดบ้าน อยากบอกว่านั่นน่ะเป็นสัญญาณที่ไม่โอเคนะคะ บ่งบอกว่ากำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ยิ่งถ้านอนกรนแล้วมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย ยิ่งแย่หนัก เพราะอาจกระทบกับพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญาได้ เป็นต้นว่า เติบโตช้ากว่าวัย มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซุกซนมากผิดปกติ ปัสสาวะรดที่นอน หรือผลการเรียนแย่ลง และถ้าอาการรุนแรงมากอาจเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจด้วย




โอย...เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่อ่านไปสยองไปแน่ๆ

แล้วการที่เด็กน้อยนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยนั้น สาเหตุเกิดจากอะไร? นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ไว้นะคะ บางคนตอบว่า ก็เด็กมันอ้วนไง จริงอยู่ว่าความอ้วนเป็นสาเหตุที่พบบ่อยรวมถึงภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ แต่สาเหตุสำคัญที่พบบ่อยจริงๆ ก็คือ การมีตอมทอนซิล และหรือต่อมอะดีนอยด์ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกมีขนาดโตค่ะ  นอกเหนือจากนั้นอาจพบได้หากเด็กมีโครงหน้าผิดปกติ เป็นโรคทางพันธุกรรม โรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ อะไรประมาณนี้


ทีนี้จะสังเกตยังไงว่าลูกน้อยนอนกรนแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เอาเป็นว่าถ้าลูกของคุณ
* มีอาการเหล่านี้.....กรนเสียงดังเป็นประจำ นอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกเป็นประจำจนต้องอปากหายใจบ่อยๆ
        * มีพัฒนาการผิดปกติ....ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ เติบโตช้า มีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง

ถ้ามีล่ะก็....ให้เอ๊ะไว้ก่อน พวกที่ชอบหลอกตัวเองว่าคงไม่เป็นไร...คิดบวกไว้ดีกว่า...บลาๆๆๆ นี่เห็นเงิบมาเยอะนะคะ ยังไงพาไปพบคุณหมอไว้ก่อนไม่เสียหาย ไม่ใช่ก็จะได้สบายใจ แต่ถ้าจะพาไปหาหมอต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเด็กมีปัญหาจริงหรือไม่ การตรวจก็จะครอบคลุมทั้งการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ ใบหนา จมูก ช่องปาก คอ ตรวจ X-ray เพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจ รวมถึงตรวจการนอนหลับของเด็กด้วย อาจดูว่าตรวจเยอะแยะไปหมด ทั้งนี้ก็เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยค่ะ


ถ้าตรวจแล้วลูกน้อยดันมีปัญหานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจริง  ทางที่ดีที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คือร่วมมือกับคุณหมอในการรักษา รวมถึงจะดูแลเด็กยังไงให้อาการของโรคไม่แย่ไปกว่าเดิม อย่างถ้าเด็กอ้วนก็ต้องพยายามลดน้ำหนัก อันนี้เด็กคงทำเองไม่ได้พ่อแม่ต้องดูแลใกล้ชิดเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย 

สำหรับการรักษาก็จะมีหลายวิธี ซึ่งคุณหมอจะเลือกวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัยกับเด็กที่สุด บางทีอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยา เช่น ถ้าเด็กมีภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ก็จะให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเพื่อไปลดการอักเสบ หรืออาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างปัญหาเกิดจากต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ที่โตก็ต้องผ่าตัดเอาออก หรือการรักษาอื่นๆ เช่น การใช้เครื่อง CPAP การจัดฟันบางทีก็จำเป็น หรือการรักษาโรคร่วมอื่นๆที่เด็กเป็น ฯลฯ ก็อาจช่วยให้ปัญหาดีขึ้นได้ค่ะ  

สำคัญคือพ่อแม่จะต้องสังเกตลูกน้อยว่ามีความผิดปกติในยามนอนหลับหรือไม่ การนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่ใช่ปัญหาที่เกิดเฉพาะในผู้ใหญ่ การปล่อยปัญหาให้เนิ่นนานไปมีแต่ส่งผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และสติปัญญาของลูกน้อย และในระยะยาวหมายถึงคุณภาพชีวิตของเด็กเองด้วย การรักษาจะได้ผลดีถ้าเด็กได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ ค่ะ




ขอบคุณข้อมูล  :  http://www.si.mahidol.ac.th

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นอนกรนอันตราย...เอ๊ะยังไง!

ครอกฟี้ ๆๆ เสียงกรนที่รบกวนการนอนหลับของคุณยามค่ำคืน เกิดจากลิ้นไก่ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ห้อยลงมาจากด้านหลังของเพดานอ่อนมีการสั่นกระพือมากกว่าปกติขณะนอนหลับ แหม่...จะว่าไปก็ชวนให้หัวเสียจริงๆ นั่นแหละ จนอยากลุกขึ้นมาเบิ๊ดกะโหลก เอ้ย ไม่ใช่ สะกิดคนสร้างเสียงกรนให้ตื่น เผื่อจะเลิกกรนให้คุณได้หลับสนิทบ้าง แต่พอเจ้าตัวหลับผล็อยอีกครั้ง มาอีกล่ะ เสียงกรนอันน่ารำคาญ เฮ้อ!



อย่าเพิ่งเซ็งหรือเบื่อค่ะ ถ้าคนที่คุณรักนอนกรนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ถึงเวลาสะกิดเค้าแล้วค่ะ ไม่ใช่สะกิดให้ตื่นแต่สะกิดเตือนให้ไปพบคุณหมอ เพราะการนอนกรนไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่เราเคยเชื่อๆ กันแล้ว แต่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้เลยทีเดียวหากการนอนกรนนั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วย

แล้วไอ้ภาวะที่ว่านี้มันเป็นยังไง ให้ลองจินตนาการตามนะคะ ปกติคนที่นอนกรนจะมีช่วงที่กรนเสียงค่อยและดังสลับกันไป พอหลับลึกขึ้นก็จะกรนดังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะมีอยู่ชั่วขณะหนึ่งที่คนนอนกรนจะหยุดกรน ซึ่งชั่วขณะนั้นจะมีการหยุดหายใจเกิดขึ้น ซึ่งร่างกายจะตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนด้วยการทำให้การหลับถูกขัดขวาง คนที่นอนกรนก็จะตื่นขึ้นและลุกนั่งหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศ หรือสำลักอากาศขณะหลับ ลองสังเกตคนใกล้ตัวว่ามีอาการอย่างที่บรรยายมามั้ย ถ้ามีนี่น่าตกใจแล้วนะคะ

ที่พูดนี่ไม่ได้ขู่ให้กลัว เพราะถ้าคนเรามีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เป็นวงจรซ้ำกันหลายๆ ครั้งใน 1 คืนอย่างนี้ ถือว่าไม่ปกติแล้วล่ะ ผลเสียที่เห็นชัดๆ ก็จะเกิดจากการนอนหลับที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติระหว่างวัน เช่น ง่วงหรือหลับในขณะขับรถ, นั่งอ่านหนังสือ หรือมีอาการที่เกิดจากการนอนไม่อิ่ม เช่น ปวดศีรษะในตอนเช้า, สะลึมสะลือเป็นช่วงๆ หรืออาจมีพฤติกรรมความต้องการทางเพศลดลง หงุดหงิดง่าย เป็นต้น ส่วนผลเสียต่อสุขภาพอย่างอื่นที่คุณอาจคาดไม่ถึง เช่น อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง, สมองขาดออกซิเจน, ความดันเลือดในปอดสูง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ รู้ยังงี้แล้วก็ไปพบคุณหมอรักษาดีที่สุดก่อนจะเกิดเรื่องร้ายๆ ที่ไม่น่าเกิด

จริงๆ การนอนกรนแบบไม่เป็นอันตรายก็มีนะ คือนอนกรนโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย กรณีอย่างนี้คนนอนกรนไม่เดือดร้อน แต่คนนอนด้วยนี่สิแย่หน่อยที่ต้องทนรำคาญ แต่จะว่าไปคนนอนกรนก็อาจถูกยี้ไม่มีใครอยากนอนร่วมห้องด้วย กลายเป็นปัญหาการอยู่ร่วมในสังคมไป ก็อาจจะต้องหาทางแก้ไขเหมือนกัน

บางคนบอกยังไม่อยากไปหาหมอ ขอแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ก็มีอยู่หลายวิธีที่พอช่วยได้ เช่น ลดน้ำหนัก พูดง่ายๆก็คือ อย่าอ้วนนั่นเอง คนอ้วนรายไหนรายนั้นไม่รอดนอนกรนซักราย นอกจากนั้นก็ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารที่มีฤทธิ์กดประสาท พวกนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดนอนกรนได้ ท่วงท่าการนอนก็มีส่วน อย่างท่านอนหงายนี่ไม่แนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นท่าตะแคงดีกว่า

แต่ถ้าใครคิดว่าแก้ไขด้วยตัวเองคงไม่รอด ไปใช้บริการคุณหมอดีกว่า ก็เข้าไปปรึกษาคุณหมอได้เลย แต่การรักษาไม่ใช่ไปถึงหมอจะจับรักษาเลยนะ จะต้องทำ “การตรวจการนอนหลับ” ก่อน เพื่อดูว่าคนไข้นอนกรนแบบไหน อันตรายหรือไม่ ถ้าอันตรายก็จะดูว่ารุนแรงแค่ไหน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีมากหรือน้อยเพียงใด ผลการตรวจเหล่านี้แหละจะนำมาใช้ประเมินเพื่อวางแผนการรักษา



        การรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่วิธีง่ายๆ อย่างการใส่เครื่อง CPAP ไว้ขณะนอนหลับ เพื่อเพิ่มแรงดันของออกซิเจนให้ผ่านส่วนที่ตีบแคบลงไป หรือจะเป็นการผ่าตัดด้วยการลงมีดหรือใช้แสงเลเซอร์ไปขยายช่องทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก็มีค่ะ อย่างเช่น การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ วิธีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนกระชับและตึงตัวขึ้น  หรือการรักษาด้วย Pillar ซึ่งจะทำให้บริเวณเพดานอ่อนตึงตัวลดการสั่นสะเทือนลง แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไปแต่ที่แน่ๆ ช่วยลดการนอนกรนลงได้ ซึ่งก็ขึ้นกับคุณหมอว่าจะเห็นสมควรใช้วิธีไหน เพราะคนไข้แต่ละคนก็มีสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกคนก็ได้ค่ะ

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ถึงเวลา...ลูกน้อยลืมตาดูโลกแล้วนะ

        อุ้มท้องมานาน 9 เดือน พอถึงกำหนดคลอด แหม่...คุณแม่ท้องแรกคงตื่นเต้นหนักมาก เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ข้อมูลที่นำมาฝากต่อไปนี้น่าจะช่วยให้คุณแม่มือใหม่คลายความกังวลใจลงได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

รู้ยัง...วันคลอด
เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ คุณหมอจะถามเรื่องประจำเดือนครั้งสุดท้ายเพื่อคำนวณอายุครรภ์และกำหนดคลอด หากจำได้แม่นยำการคำนวณก็จะไม่สับสนหรือผิดพลาด




กำหนดคลอดเค้าคำนวณกันยังไง?
วิธีที่ง่ายที่สุด ใช้วิธีการนับเดือนซึ่งจะสามารถบอกกำหนดคลอดอย่างคร่าวๆ มี 2 แบบ คือ
แบบแรก จะเริ่มนับตั้งแต่ประจำเดือนขาด โดยนับเป็นเดือนที่ 1 จนกระทั่งครบกำหนดคลอดคือ 9 เดือน
แบบที่สอง จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายถือเป็นเดือนที่ 1 และนับต่อไปจนกระทั่งครบ 10 เดือน (40 สัปดาห์)               
วิธีคำนวณแบบละเอียด  สามารถระบุวันคลอดได้ใกล้เคียงที่สุด แต่คุณแม่ต้องจำวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายให้แม่น คือต้องระบุได้เลยว่าวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร จากนั้นก็เอาวันดังกล่าวเป็นหลักบวกไปข้างหน้า 7 วัน แล้วนับย้อนหลังไป 3 เดือนก็จะได้กำหนดวันคลอด  เช่น ถ้าวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่ 10 กันยายน  เมื่อบวกไปอีก 7 วันก็จะเป็นวันที่ 17 แล้วนับย้อนไป 3 เดือน ก็จะเป็นเดือนมิถุนายน กำหนดคลอดจึงครบในวันที่ 17 มิถุนายนของปีถัดไป
       รู้กำหนดคลอดกันแล้วนะ...ทีนี้ก็เตรียมนับถอยหลังกันเล้ย

โอ๊ย...โอ๊ย...เจ็บครรภ์คลอด
มันมาแน่ๆ อาการเจ็บครรภ์คลอดในช่วงเดือนท้ายๆ ทั้งเจ็บจริง เจ็บหลอก

เจ็บหลอกเป็นไง เป็นการเจ็บเตือนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอดที่จะตามมา พบได้หลังตั้งครรภ์ 7 เดือนขึ้นไป โดยมดลูกจะมีการบีบรัดตัว หดตัวเป็นก้อนแข็งเป็นครั้งคราว แต่ไม่มีการเจ็บท้อง การเจ็บหลอกจะมีไปจนถึงระยะก่อนคลอดประมาณ 2 อาทิตย์ หลังจากนั้นมดลูกจะบีบรัดตัวแรงขึ้น แต่ยังคงไม่เป็นจังหวะ อาการเจ็บเกิดทางหน้าท้อง และไม่สัมพันธ์กับการบีบรัดตัวของมดลูก อาจเกิดขึ้นทันทีและหายไปทันที บางครั้งอาจเจ็บนาน 3-4 นาที แต่ปากมดลูกยังไม่เปิด
เจ็บจริงเป็นไง มดลูกจะบีบรัดตัวรุนแรงจนรู้สึกเจ็บ โดยเริ่มเจ็บจากทางด้านหลังส่วนล่างบริเวณกระเบนเหน็บ แล้วร้าวมาทางด้านหน้า จากเจ็บน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ระยะเจ็บและระยะพักเป็นจังหวะสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันปากมดลูกก็จะขยายตัวออกและผนังปากมดลูกจะบางลง ถ้ามีอาการเหล่านี้ด้วย เช่น มีมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด, ถุงน้ำคร่ำแตก แสดงว่าใกล้คลอดแล้วล่ะ ให้เก็บของรีบบึ่งไป รพ. เลย

เมื่อคุณแม่...พร้อมคลอด
         ช้าเร็วคุณแม่ก็ต้องมาถึงจุดนี้ ส่วนจะลงเอยด้วยวิธีการคลอดแบบไหนเป็นอีกเรื่อง บางทีคุณแม่อยากคลอดปกติ คลอดตามธรรมชาติ แต่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อตัวแม่หรือตัวลูก ก็อาจต้องผ่าคลอด ตรงนี้คุณหมอจะเป็นคนตัดสินใจเลือกวิธีที่ปลอดภัยที่สุดค่ะ


สำหรับการคลอดปกติ เมื่อครบกำหนดคลอดกระบวนการคลอดจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือคุณแม่จะมีอาการเจ็บครรภ์จากการที่มดลูกบีบรัดตัวเพื่อผลักดันทารกให้เคลื่อนตัวออกมา แต่หากคุณแม่ไม่มีแรงเบ่งหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ไม่สามารถออกแรงเบ่งคลอดได้ เช่นเป็นโรคหัวใจ หรือจำเป็นต้องรีบให้ทารกคลอดออกมาไม่งั้นอาจเป็นอันตราย ก็อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยในการคลอด ซึ่งเครื่องมือช่วยคลอดที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิดคือ
(1) คีมช่วยคลอด คุณหมอจะสอดคีมเข้าไปด้านข้างของศีรษะทารกทีละข้าง แล้วดึงทารกออกมาอย่างนุ่มนวล หลังคลอดอาจพบรอยแดงที่ศีรษะบริเวณคีมคีบ แต่จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน
(2) เครื่องดูดสุญญากาศ คุณหมอจะใช้โลหะกลมรูปร่างคล้ายถ้วยเล็ก ๆ ดูดกับหนังศีรษะทารกแล้วดึงให้ทารกเคลื่อนต่ำลงมาพร้อมกับแรงเบ่งของแม่ หลังคลอดศีรษะทารกอาจนูนเป็นลักษณะคล้ายจุก ซึ่งจะหายไปเองใน 1-2 วัน
เห็นสภาพศีรษะลูกแล้วก็อย่าบ่อน้ำตาแตกกันล่ะ การใช้เครื่องมือช่วยคลอดเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วไป ยังไงก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน เรื่องสวยเรื่องงามเอาไว้ทีหลังค่ะ


         ผ่าตัดคลอด จริงๆ แล้วถ้าคลอดปกติได้คุณหมอก็อยากให้คุณแม่คลอดน้องเองค่ะ ก็อย่างที่บอกว่าการคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติ ระยะพักฟื้นจึงสั้นกว่าผ่าตัดคลอดเยอะ แต่ถ้าปัจจัยไม่เอื้อ คลอดเองแล้วเสี่ยง คุณหมอก็จะแนะนำให้ผ่าตัดทารกออกมาทางหน้าท้อง กรณีที่จะจำเป็นต้องผ่าคลอด เช่น คลอดยากเพราะเกิดการติดขัด, มีภาวะรกเกาะต่ำ, ทารกอยู่ในภาวะวิกฤติ หรือมีภาวะเสี่ยงอื่นๆ เช่น มีแผลเป็นที่ผนังมดลูก, ตกเลือดก่อนคลอด, คุณแม่มีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง เป็นต้น



               




วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พร้อมยัง...เป็นคุณแม่มืออาชีพ

       บางคนอ่านหัวเรื่องแล้วเบ้ปาก โถ...กะอีแค่ตั้งครรภ์ จะซีเรียสอะไรกันนักหนา(วะ) ใครๆ เขาก็ท้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง เรื่องปกติธรรมดาจะตายไป แหมะ...คิดยังงี้ประมาทไปนิดนะจ๊ะ ถ้าคุณแม่อยากให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดี สุขสันต์หรรษาทั้งคุณแม่และคุณลูก ควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้ค่ะ


          
       ฝากครรภ์ ควรทำทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกคุณหมอจะนัดเดือนละครั้ง หลังจากนั้นจนถึงอายุครรภ์ 8 เดือน จะนัดถี่ขึ้นเป็นเดือนละ 2 ครั้ง พอเดือนที่ 9 เป็นต้นไป ทีนี้ใกล้คลอดล่ะ จะนัดสัปดาห์ละครั้ง ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอะไรก็จะประมาณนี้ แต่ถ้ามีอะไรผิดปกติ เช่น มีไข้ บวม คลื่นไส้อาเจียนมากๆ ลูกไม่ดิ้น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำเดินก่อนกำหนด มีอาการเจ็บครรภ์ หรือมดลูกมีการหดตัวแข็งผิดปกติ ไม่ต้องรอถึงกำหนดนัด ควรรีบมาพบหมอทันที 




แพ้ท้อง พบได้ประมาณ 3 ใน 4 ของหญิงตั้งครรภ์ อาการจะเป็นมากในช่วงปลายเดือนที่ 2 และเป็นอยู่ถึงเดือนที่ 4 หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น  อาการที่พบส่วนใหญ่ก็จะประมาณอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด วิงเวียนหน้ามืด มักมีคลื่นไส้อาเจียนเวลาตื่นนอนตอนเช้า มีน้อยรายที่จะมีอาการอาเจียนรุนแรง ถ้าเป็นเยอะขนาดนั้นคุณหมอมักจะให้นอน รพ. ถ้าเป็นอาการแพ้ท้องทั่วไปควรปฏิบัติตัวดังนี้ พักผ่อนให้เพียงพอ, เวลาตื่นนอนตอนเช้า ไม่ควรรีบลุกขึ้นจากเตียงทันที ให้ดื่มนมหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ สักแก้ว แล้วนอนพักสักครู่จึงค่อยลุก, ทานอาหารอ่อนครั้งละน้อยๆ บ่อยครั้ง เลี่ยงอาหารมันหรือรสจัด ถ้าแพ้ท้องมากควรปรึกษาแพทย์อย่าซื้อยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมากินเอง ไม่งั้นอาจเป็นอันตรายต่อลูกได้ 


อาหาร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และไอโอดีน เป็นต้น



พักผ่อน ควรนอนพักผ่อนไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าทำได้ควรนอนพักช่วงกลางวันด้วย ขณะนอนก็ยกปลายเท้าให้สูง เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนจากส่วนปลายได้สะดวก เรื่องพักผ่อนนี่รวมถึงการพักผ่อนหย่อนใจด้วยนะ จิตใจจะได้ปลอดโปร่งสบาย ไม่เครียดกังวล ถ้าคุณแม่สุขภาพจิตดี ลูกน้อยก็จะพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย


ออกกำลังกาย ถึงตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เอาแต่นอน ควรออกกำลังกายบ้าง แต่เลือกที่ไม่หักโหม เช่น อาจไปเดินเล่น ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ควรทำช้าๆ เหนื่อยก็หยุดพัก






คันผิวหนังและรอยแตกลาย ควรใช้ครีมบำรุงให้ความชุ่มชื้นกับผิวเป็นประจำ ไม่เกา และควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นตามมาตรฐาน ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ โปรตีน ส่วนแป้ง ของหวาน และไขมัน ควรทานพอประมาณ ก็จะลดโอกาสเกิดรอยแตกลายได้ระดับหนึ่ง

เต้านม เลือกใส่ยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะ เพื่อพยุงเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น ถ้ามีน้ำนมเหลือง (Colostrum ) ไหลออกมาจากหัวนม ควรใช้น้ำอุ่นและสบู่อ่อนล้างออกและเช็คให้แห้ง ไม่ยังงั้นมันจะแห้งเป็นสะเก็ดแข็งติดที่หัวนม แต่บางทีคุณแม่ละเลยไม่เช็ดทำความสะอาดจนแห้งเป็นสะเก็ดขึ้นมา แนะนำว่าอย่าไปแกะสะเก็ดออก เพราะอาจทำให้เกิดแผลถลอกหรือติดเชื้อได้ สำหรับคุณแม่ที่มีหัวนมบุ๋มหรือหัวนมบอด ควรแก้ไขแต่เนิ่นๆ ลูกคลอดแล้วจะได้ดูดนมได้สะดวก วิธีแก้ไขทำโดยการใช้นิ้มมือดึงหัวนมขึ้นมา หรือใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดที่โคนหัวนมและรูดออกในทิศทางตรงข้ามกัน เพื่อให้หัวนมยื่นออกมา ต้องทำสม่ำเสมอทุกวันจึงจะเห็นผล   

ปัสสาวะบ่อย เกิดจากขนาดมดลูกที่โตขึ้นเรื่อยๆ ไปกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง ถ้ามีอาการถ่ายแล้วแสบขัด เจ็บตอนสุด ควรปรึกษาแพทย์

ท้องผูก เป็นอาการที่พบบ่อยขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากขนาดมดลูกที่โตขึ้นจะไปกดหรือดันลำไส้ทำให้กากอาหารเคลื่อนที่ลำบาก บวกกับลำไส้บีบตัวน้อยลงจากผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ วิธีแก้ไขนอกจากเลือกกินผัก ผลไม้ที่ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้นอย่างพวกมะละกอสุก กล้วยน้ำว้า หรือลูกพรุน แล้ว ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ออกกำลังกายเคลื่อนไหวให้มากขึ้นอย่าเอาแต่นอนแซ่วติดเตียง ถ้าคิดว่าลองทุกวิธีแล้วยังไม่เห็นผล ก็ปรึกษาคุณหมอ คุณหมออาจให้ยาระบายอ่อน ๆ ที่ไปเพิ่มน้ำในอุจจาระ หรือทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น อย่าซื้อยาถ่ายกินเองนะคะ ยาแรงเกินไม่ใช่ออกมาแค่อุจจาระ เด็กจะคลอดตามออกมาด้วยนี่สิ กรรมเลย


มีเพศสัมพันธ์ได้ปะ??? ฮั่นแน่...อยากรู้ล่ะซี้  มีได้ตามปกติคร่า คนเฮน่าจะเป็นคุณสามีนะ 555 แต่...มีคำว่าแต่ค่ะ ห้ามกุ๊กกิ๊กกันเด็ดขาดใน 2 กรณีนี้ กรณีแรกคุณแม่มีประวัติเคยแท้งมาก่อนต้องงดเรื่องอย่างว่าในช่วง 2-3 เดือนแรก เพราะอาจทำให้แท้งได้ง่าย อีกกรณีในช่วง 1 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่มดลูกและการคลอดก่อนกำหนด

บุหรี่และของมึนเมา “งด” ซะ เพราะมีผลโดยตรงต่อเด็ก ถ้าคุณแม่ยังทำตัวเป็นสิงห์อมควันระหว่างตั้งครรภ์ล่ะก็ เมื่อลูกคลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติก็อย่าได้แปลกใจ ส่วนของมึนเมาก็เลิกเหอะเพราะมันสามารถผ่านรกไปยังลูกคุณได้

การแต่งกาย เลือกใส่เสื้อผ้าที่หลวมใส่สบาย อย่าให้รัดแน่นไม่งั้นจะรู้สึกอึดอัดหรือหายใจไม่สะดวก รองเท้าก็เลือกส้นเตี้ยหรือไม่มีส้น จะได้เดินเหินคล่องตัว

การใช้ยา ต้องระมัดระวังมากถึงมากที่สุด อย่าเที่ยวกินยาพร่ำเพรื่อหรือซื้อยากินเอง ตอนนี้คุณมีอีกหนึ่งชีวิตให้ต้องห่วง ไม่ใช่ตัวคุณเองโดดๆ ที่จะหัวหกก้นขวิดยังไงก็ได้ ขนาดวิตามินบำรุงจะกินก็ยังต้องถามหมอก่อน ยาอื่นๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง ผิดปกติอะไรไปหาหมอเลยนะ อย่าคิดว่าไม่เป็นไร ยิ่งช่วง 3 เดือนแรกที่ตัวอ่อนในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะต้องระวังจงหนัก ขืนกินยาซี้ซั้วลูกเกิดมาพิกลพิการไปก็ไม่ต้องโทษใคร


วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฝังเข็มแบบไร้เข็ม...ก็มีนะเออ

หลายคนเมื่อได้ทราบถึงประโยชน์ของการฝังเข็มในการรักษาโรคต่าง ๆ เออ....ชั้นก็ปวดหัวไมเกรนบ่อยๆ หรือบางคนมีอาการอื่นๆ อีกบลาๆๆ ที่เป็นแล้วทุกข์ทรมาน น่ารำคาญ บั่นทอนคุณภาพชีวิต เอ้า พอได้ยินว่าฝังเข็มช่วยได้ เฮ้ย ใครจะไม่อยากลอง แต่ให้ตายเถอะ ดันเป็นโรคกลัวเข็มขึ้นสมองนี่สิ จะทำยังไงดี คนแบบนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อยนะคะ กลัวเข็ม กลัวติดเชื้อ กลัวเจ็บสารพัด ถึงใครจะการันตีผลลัพธ์ว่าเจ๋งแค่ไหน ก็ขอ....ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า




แต่อ่านหัวเรื่องในตอนนี้แล้ว คนกลัวเข็มคงได้เฮกับเค้าบ้างล่ะ งานนี้ไม่ได้ใช้มายากลช่วยนะจ๊ะ แค่เปลี่ยนจากการใช้ “เข็ม” ที่สุดหวาดเสียวมาใช้ “เลเซอร์” แทน ใช่แล้วค่ะ อ่านไม่ผิด เดี๋ยวนี้เค้ามีการฝังเข็มโดยใช้เลเซอร์กันแล้ว เป็นไงล่ะ สุดล้ำจนตามไม่ทันกันเลยทีเดียว

จะว่าไปเลเซอร์ นี่มันก็สารพัดประโยชน์จริงๆ ทำได้ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ใครจะไปนึกว่าเลเซอร์ก็เอามาช่วยในการฝังเข็มได้ รู้ทีแรกยังนึกว่าแหกตาแหงๆ หรือไม่ก็พูดเอาขำ อ้าว...กลายเป็นเรื่องจริงซะงั้น ซึ่งการนำเลเซอร์มาผสานรวมกับการฝังเข็มศาสตร์เก่าแก่ยังงี้ ต้องถือว่าหัวครีเอทสุดๆ เอ้า แล้วจะรออะไรอยู่ ปรบมือรัวสิคร้า


ทีนี้การใช้เลเซอร์แทนเข็ม ก็คงมีบางคนกังวลบ้างล่ะน่ะว่า ประสิทธิภาพจะดีเหมือนการใช้เข็มหรือเปล่า บอกเลยว่าไม่แตกต่างเพราะยังไงก็ยังยึดหลักการฝังเข็มแบบเดิมอยู่ ต่างกันแค่ว่าเปลี่ยนจากการใช้เข็มปักไปบนผิวหนังมาเป็นการยิงเลเซอร์ไปยังจุดฝังเข็มแทน  ผลคือจะช่วยกระตุ้นระบบต่างๆ ภายในร่างกาย อาทิ ระบบประสาท, ระบบฮอร์โมน, ระบบการไหลเวียนโลหิต, ระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ให้กลับมาทำงานได้สมดุลตามปกติ

อีกเรื่องที่คนน่าจะกังวลก็คือ การที่มันใช้แสงเลเซอร์ ฟังดูแล้วน่ากลัว ยิงแรงไปก็กลัวผิวไหม้ ยิงน้อยไปก็กลัวไม่ได้ผล อย่ากังวลค่ะ เพราะแสงเลเซอร์ที่ใช้จะเป็นแสงที่มีพลังงานต่ำ ไม่ทำอันตรายผิว แล้วตัวเครื่องเลเซอร์ฝังเข็มเองจะมีหน้าปัดแสดงค่าตัวเลขให้ทราบถึงการปรับพลังงาน ณ จุดใดๆในร่างกายจนกระทั่งเกิดความสมดุล ดังนั้นเรื่องความแม่นยำจึงหายห่วง


ถ้าไม่นับความต่างเรื่องใช้เลเซอร์กับใช้เข็มปักไปบนผิว สิ่งที่ต่างกันเห็นชัดๆข้อหนึ่งก็คือ เวลาที่ใช้รักษา การฝังเข็มด้วยเลเซอร์จะใช้เวลาสั้นกว่ามาก ประมาณ 10 วินาที 2 นาที จุดหรือบริเวณไหนใช้เวลาสั้นมากสั้นน้อยแค่ไหน คุณหมอจะเป็นคนตัดสินใจค่ะ

เทคนิคล้ำขนาดนี้เอาคะแนนไปเลยเต็มสิบ แต่ก็มีข้อที่อยากฝากไว้ 2 ประการคือ วิธีนี้ยังมีข้อจำกัดในคนบางกลุ่ม เช่น คนท้อง และไม่ควรใช้เลเซอร์ในบริเวณที่เป็นมะเร็ง มีแผล หรือติดเชื้อ ถ้าจะทำต้องปรึกษาคุณหมอให้ชัวร์ๆ ก่อน หรืออาจต้องเลี่ยงไปใช้วิธีฝังเข็มแบบเดิม และการที่มันล้ำมากๆ นี่แหละ ถ้าจะทำก็ต้องเลือกหมอที่เก่งหรือเชี่ยวชาญจริงๆ ค่ะ


               


วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฝังเข็ม...เก่าแต่เก๋า

ผู้เขียนเป็นแฟนตัวยงของหนังจีนกำลังภายใน เลยได้ยินคำว่า ฝังเข็ม บ่อยๆ การฝังเข็มไม่ใช่ศาสตร์ใหม่ไก่กาอาราเร่นะจ๊ะ ฝังเข็มเป็นศาสตร์การแพทย์แผนโบราณจีนแขนงหนึ่งที่ใช้เพื่อการรักษาโรคย้อนหลังกลับไปเนิ่นนานนับพันปี บางตำราบอก 4 พันปีเลยทีเดียว แม้ทุกวันนี้โลกจะก้าวล้ำจนเราส่งยานอวกาศไปสำรวจไกลถึงดาวพลูโตแล้ว การฝังเข็มก็ยังใช้เป็น “การแพทย์ร่วมรักษา” ในการรักษาโรคต่างๆ หลายโรค แสดงว่าต้องมีดีจริงไม่งั้นคงไม่ยืนหยัดข้ามกาลเวลามาได้ไกลขนาดนี้ แถมความนิยมฝังเข็มยังแพร่หลายพ้นจากประเทศต้นกำเนิดไปถึงฟากฝั่งอเมริกา ยุโรป ส่วนในบ้านเราว่ากันว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเนื่องจากสมัยนั้นเรามีการติดต่อกับจีน ก็ประมาณ 700 ปีก่อนโน่นแหละ วาว วาว ว้าว


        ถึงปัจจุบัน การฝังเข็มได้รับการยอมรับในวงการแพทย์กว่า 120 ประเทศทั่วโลกแล้วค่ะ โดยในปี 2522 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม และปลายปี 2540 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) ก็ยอมรับว่าการฝังเข็มเป็น ทางเลือกที่สมเหตุสมผลในการรักษาโรคได้หลายอย่าง

แล้วการฝังเข็มช่วยแก้ไขพยาธิสภาพต่างๆ หรือสามารถรักษาโรคได้ยังไง เอ้า จะอธิบายง่ายๆ ดังนี้ เวลาเข็มถูกปักลงไปบน “จุดฝังเข็ม” ซึ่งเป็นจุดที่มีอิทธิพลต่ออวัยวะหรืออาการต่างๆ ก็จะไปช่วยกระตุ้นระบบต่างๆ ภายในร่างกายของคนเรา อาทิ ระบบประสาท, ระบบฮอร์โมน, ระบบการไหลเวียนโลหิต, ระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ช่วยให้อวัยวะต่างๆ กลับมาทำงานได้สมดุลตามปกติ หรือจะเรียกว่าปรับสมดุลให้กลับมาใหม่ก็ได้ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบูรณาการซ่อมแซมตามธรรมชาติ

แต่การฝังเข็มจะให้ผลในการรักษาโรคของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องปักเข็มลงไปบน “จุดฝังเข็ม” ให้ถูกที่ด้วยนะคะ ไม่ใช่ปักไปมั่วๆ ซั่วๆ ดังนั้นถ้าอยากฝังเข็มต้องหาข้อมูลดีๆ ว่าไอ้คลินิกหรือสถานพยาบาลที่เราจะไปทำนั้นมีผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอที่ได้ศึกษาหรือฝึกอบรมมาโดยตรงจริงๆ จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวฟรีโดยไม่ได้ผลอะไรกลับมาเลย

แต่คนไข้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สภาวะร่างกายของคนเราแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน การตอบสนองต่อการฝังเข็มก็ย่อมต้องแตกต่างกันด้วย อย่างคนที่เป็นโรคเดียวกัน อาการเหมือนกันเดี๊ยะ ฝังเข็มไปแล้วผลที่ได้รับอาจไม่เท่ากันก็ได้ ไหนจะโรคที่เป็นอีกล่ะ บางทีเป็นมาน้านนาน หรือเป็นรุนแรง จะให้ฝังเข็มรักษาแล้วดีขึ้นเหมือนคนที่อาการยังเป็นน้อยๆ หรือเพิ่งเริ่มเป็นไม่นาน ก็คงไม่ใช่ จึงอยากให้เปิดใจกับตรงนี้ด้วย 
        

        ที่อยากให้ทำความเข้าใจอีกเรื่องก็คือ การฝังเข็มเป็น “การแพทย์ร่วมรักษา” ในการรักษาโรคค่ะ หมายความว่า ถ้าคุณเป็นโรคๆ หนึ่งที่รักษาด้วยการฝังเข็มแล้วได้ผล ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะตะบี้ตะบันรักษาด้วยการฝังเข็มอย่างเดียว การตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนการฝังเข็มก็ใช้เป็นการรักษาร่วมไปกับการแพทย์หลักดังกล่าว ก็จะช่วยให้การรักษาเห็นผลดีขึ้นค่ะ ซึ่งการฝังเข็มรักษาสามารถใช้ควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาโรคทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณได้อย่างปลอดภัย 
          
      
          สำหรับวิธีการฝังเข็ม ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนชอบจินตนาการกันไปเกินจริงเพราะไปติดกับคำว่า “ฝัง” เข็ม คุณหมอเค้าไม่ได้ปักเข็มเข้าไว้ในตัวเราค่ะ แค่ปักลงบนตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นจุดฝังเข็ม ลักษณะของเข็มจะทำด้วยสแเตนเลสไม่เป็นสนิม มีขนาดเล็ก ตั้งแต่ 0.22-0.25 มิลลิเมตร ความยาวตั้งแต่ 25 - 75 มิลลิเมตร ซึ่งจะเลือกใช้ขนาดเข็มเบอร์ใดก็ขึ้นกับตำแหน่งที่จะฝัง ซึ่งจะมีความตื้นลึกจากผิวหนังแตกต่างกัน เข็มที่ใช้รักษาเป็นเข็มใหม่แบบ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการติดเชื้อจากคนอื่น พอคุณหมอปักเข็มลงไปแล้วก็จะกระตุ้นโดยใช้นิ้วมือหมุนปั่นหรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า  ใช้เวลากระตุ้นประมาณ 20 – 30 นาที ก็เสร็จ ส่วนจะต้องทำซ้ำบ่อยแค่ไหนเดี๋ยวคุณหมอจะบอกเอง

ทีนี้มาดูกันว่า มีโรคอะไรบ้างที่สามารถรักษาด้วยการฝังเข็ม อันนี้ไม่ใช่ข้อมูลแบบมั่วๆ นะคะ แต่เป็นข้อสรุปที่ได้จากการประชุมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มจากทั่วโลกที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก สำหรับรายชื่อโรคที่ได้รับการประกาศรับรองว่าสามารถรักษาด้วยการฝังเข็มแล้วได้ผลจริง เป็นต้นว่า โรคภูมิแพ้จมูก, อัมพาตใบหน้า, อัมพาตครึ่งซีก, โรคหอบหืด, กระดูกต้นคออักเสบ, โรคซึมเศร้า, ปวดประจำเดือน, ปวดศีรษะ, นอนไม่หลับ, ไมเกรน, ปวดไหล่, ปวดจากการผ่าตัด, ปวดรากเส้นประสาทสันหลังถูกกด, ปวดกล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก, ปวดหลัง, ปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด, ข้ออักเสบรูมาตอยด์, ติดบุหรี่, สายตาสั้นในเด็ก, โรคอ้วน, ท้องผูก, ท้องร่วง, การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะคั่ง, ภาวะปวดขณะคลอดบุตร, ไซนัสโพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น


ที่ยกตัวอย่างมาเนี่ย เอามาให้ดูแค่พอเป็นน้ำจิ้ม จริงๆ แล้วยังมีอีกเพียบ ถ้าใครมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกเหนือจากที่บอกไป แล้วอยากรู้ว่าจะรักษาได้มั้ย ก็ลองเสิร์ชในอินเตอร์เนตดูค่ะ เห็นหลายเว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บ รพ.ที่ให้การรักษาด้วยการฝังเข็มจะมีรายละเอียดในเรื่องโรคต่างๆ อยู่
         


         สุดท้ายก็อยากฝากไว้ว่า ใครสนใจเรื่องการฝังเข็ม ควรตัดสินใจเลือกสถานที่ทำดีๆ นะคะ ถ้าชัวร์ว่าเป็นคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ก็เดินหน้าโลด ห่วงแต่คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วไปใช้บริการพวกหมอเถื่อนหรือไม่มีความรู้จริงๆ แล้วมาหลอกหากินง่ายๆ นอกจากจะต้องเสียเงินฟรีๆแล้ว คุณอาจเสี่ยงติดโรคร้ายจากการใช้เข็มแบบเวียนกันใช้ แค่คิดก็สยองเกินบรรยายแล้วค่ะ