วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 1)

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำถามยอดฮิตที่ครูมักถามเด็ก ๆ            
เด็กมักฝันอยากเป็นโน่นเป็นนี่ จึงมีสารพัดคำตอบ แพทย์ พยาบาล วิศวะ ครู ทหาร ตำรวจ ฯลฯ หลากหลายอาชีพที่อยากเป็น แต่จะเป็นได้อย่างฝันหรือเปล่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย การมีสายตาผิดปกติเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้อง ๆ พลาดโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพที่ต้องการได้ค่ะ            

    ปัญหาสายตาผิดปกติที่กระทบกับการเลือกเรียนต่อก็อย่าง โรคตาบอดสี น้อง ๆ บางคนสอบผ่านข้อเขียนแล้ว แต่สอบตกตอนตรวจร่างกายเพราะพบว่าเป็นโรคตาบอดสี ผิดหวังกันไปแบบงง ๆ ว่าตัวเองเป็นโรคตาบอดสีได้ไง ทำไมไม่เคยรู้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ คนที่ตาบอดสีมาแต่กำเนิด ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็น เพราะการมองเห็นไม่ได้ผิดปกติ ไม่ได้ตาบอด ผิดปกติแค่เรื่องการแยกสีทำให้แปลผลผิดจากความเป็นจริง ขณะที่การใช้ชีวิตทั่ว ๆ ไปก็ยังทำได้เหมือนคนปกติ จนมาตรวจเจอภายหลังเมื่อสมัครเรียนหรือทำงานนั่นแหละถึงได้รู้ตัวว่าตาบอดสี             


โดยทั่วไป โรคตาบอดสี แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ตาบอดสีมาแต่กำเนิด อันนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ หมายความว่าถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกได้ ซึ่งคนไทยที่เป็นโรคตาบอดสีส่วนใหญ่จะอยู่ในข่ายนี้ ตาบอดสีที่เกิดขึ้นภายหลัง พบได้น้อย จะพบในคนที่มีโรคจอประสาทตาหรือโรคเส้นประสาทตาอักเสบ


สำหรับคนที่ตาบอดสีมาแต่กำเนิด แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ   
1. ตาบอดสีแดง สีเขียว จะแยกสีแดงและสีเขียวออกจากสีอื่นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเวลาที่แสงสว่างมีไม่เพียงพอ กรณีนี้พบมากที่สุด และคนกลุ่มนี้มักมีปัญหาตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลืองด้วย     2. ตาบอดสีน้ำเงิน สีเหลือง พบรองลงมา จะแยกสีน้ำเงินและเหลืองออกจากสีอื่นค่อนข้างยาก
3. ตาบอดสีทุกสี จะมองเห็นเพียงแค่สีขาวและดำเท่านั้น โชคดีที่กรณีหลังนี้พบน้อย
                
 สายตา...มีผลต่อการเลือกเรียนต่อ (ตอน 1)

โรคตาบอดสีแต่กำเนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นแล้วเป็นเลย น้อง ๆ อย่าได้ไปหลงเชื่อใครที่บอกว่ารักษาได้เชียวล่ะ ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันจากวงการจักษุแพทย์ทั่วโลก โปรดทราบโดยทั่วกันนะคะ                 
ทีนี้คำถามว่าทำไมโรคตาบอดสีถึงมีผลต่อการเลือกเรียนต่อของน้อง ๆ  คำตอบก็เพราะว่ามีอาชีพที่ต้องใช้สีบ่งบอกความหมายของสิ่งต่าง ๆ นั่นเองค่ะ ถ้าตาบอดสีแล้วแยกแยะสีไม่ได้ คงเดาได้ไม่ยากนะคะว่าจะส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายขนาดไหน บางครั้งอาจร้ายแรงถึงชีวิตเลยก็มี ซึ่งอาชีพที่ไม่เหมาะกับคนตาบอดสีก็อย่างเช่น นักบิน ทหาร ตำรวจ นักร้อยสายไฟ พาณิชย์นาวีหรือนักเดินเรือ แอร์โฮสเตส วิชาชีพแพทย์ เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ นักเคมีที่ต้องทำงานกับสี   พนักงานตรวจคุณภาพสินค้า (QC) จิตรกร เป็นต้น
                  
น้อง ๆ ทราบอย่างนี้แล้วก็อย่าเพิ่งใจแป้ว เป็นโรคตาบอดสีก็ไม่ได้แปลว่าอนาคตจะจบสิ้น เข้าใจค่ะว่าหลายคนมีอาชีพในฝัน แต่ถ้ามันขัดกับความเป็นจริงก็คงจะต้องยอมตัดใจ ยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่เหมาะสมให้เลือกอีกตั้งเยอะ จะตัดใจก็ควรรีบทำแต่เนิ่น ๆ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรคตาบอดสีก็มองหาสายอาชีพอื่นไปเลย แต่ถ้าน้อง ๆ ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะตาบอดสีหรือไม่ หรือพบว่าแยกแยะสีไม่ได้เหมือนคนอื่น ควรพบจักษุแพทย์ตรวจหาความผิดปกติของสายตาเพื่อให้รู้ตัว จะได้วางแผนชีวิตได้ถูกว่าจะเอายังไง จะเลือกเรียนอาชีพไหนที่เหมาะสม  บางทีน้อง ๆ อาจค้นพบความชอบในงานอาชีพนั้น ๆ และประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกับคนสายตาปกติทั่วไปก็ได้ เห็นมั้ยคะว่าหนทางไม่ได้ตันเสมอไป เพราะฉะนั้นอย่าหมดกำลังใจกันนะคะ

ปัญหาสายตาที่ส่งผลต่อการเรียนยังไม่หมดเพียงแค่นี้ แล้วจะมาเล่าต่อในตอนหน้า รอติดตามกันค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: