วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทำบอลลูน...มารู้จักกัน

พูดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาก็หลายหน คงรู้กันแล้วล่ะว่า การรักษาโรคนี้ทำยังไงมั่ง แต่ตอนนี้จะขอหยิบเฉพาะเรื่อง “การทำบอลลูน” มาคุยกันจร้า หลายคนบอกได้ยินบ่อยๆ ไอ้การทำบอลลูนเนี่ย แต่ถามว่านึกภาพออกมั้ย แหม่...เห็นส่ายหน้ากันยิก

เอาเป็นว่าในตอนนี้จะอธิบายเรื่องการทำบอลลูนรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างง่ายๆ อ่านแล้วจะได้พอเห็นภาพกันบ้างค่ะ  
เริ่มจากรูปหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ หน้าตาเป็นแบบเนี้ยแหละ


ทีนี้ถ้าหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจมีการก่อตัวของ plaque ที่ผนังหลอดเลือด อย่างนี้...


ก็จะทำให้หลอดเลือดแคบลงหรืออุดตันส่งผลให้หัวใจขาดเลือดได้ ดังภาพ


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://www.eldercarethailand.com

ผู้ป่วยจะมีอาการสำคัญ คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยง่ายโดยเฉพาะในเวลาออกกำลังกาย


การรักษามีหลายวิธี ที่นิยมวิธีหนึ่งคือ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน

วิธีการทำ
แพทย์จะทำการสอดสายขดลวดซึ่งเป็นสายนำเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือหรือขาหนีบของคนไข้


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://www.oknation.net

เมื่อปลายสายนำอยู่ในหลอดเลือดหัวใจแล้ว แพทย์จะสอดเส้นลวดขนาดเล็กกว่าเส้นผมผ่านสายนำเข้าไปจนกระทั่งปลายเส้นลวดผ่านเลยจุดตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นแพทย์จะใช้เส้นลวดเป็นแกนช่วยนำสายชนิดพิเศษที่มีบอลลูนติดอยู่ตรงปลาย ใช้ภาพเอกซเรย์ที่เห็นบนจอช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนให้ตรงกับจุดที่มีการตีบแคบของหลอดเลือด แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนกางออก แรงดันของบอลลูนจะผลักรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจให้เปิดกว้างทำให้เลือดไหลผ่านได้สะดวกขึ้น เสร็จแล้วก็จะดึงบอลลูนออก

ถ้าขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนแล้ว แพทย์เห็นว่ารอยตีบยังขยายได้ไม่กว้างพอ หรือต้องการลดโอกาสเกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจ ก็จะใส่ขดลวด (Stent) คาไว้บริเวณรอยตีบแคบ


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://thearokaya.co.th

จากการศึกษาพบว่า ถ้าทำบอลลูนโดยไม่ใส่ขดลวดจะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด 30-40% ปัจจุบันแพทย์จึงมักใส่ขดลวดพร้อมกับการทำบอลลูน เพื่อลดอัตราการเกิดตีบซ้ำของเส้นเลือดหลังทำบอลลูน


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://www.suriyothai.ac.th 

พอมองเห็นภาพกันไม่มากก็น้อยนะคะ บ๊าย บาย

หัวใจ...จะรอให้ใครดูแล

        ...ตัวเราเองนั่นแหละที่ต้องดูแล หัวใจไม่ใช่ก้อนเนื้อที่จะแข็งแกร่งไปได้ตลอดกาล วันหนึ่งหัวใจอาจมี โรคซ่อนเร้นรอเวลาเล่นงานคุณแบบไม่ให้ทันตั้งตัว มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เช่น เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ  แล้วคนเหล่านี้ก็ตายไปแบบปุบปับ ทิ้งให้ญาติมิตรงงงวยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร???




นั่นเป็นเพราะพวกเราใส่ใจกับหัวใจน้อยเกินไปหรือเปล่า พวกเราไม่เคยตระหนักหรือได้ตรวจเช็คสุขภาพหัวใจกันอย่างจริงจังเลย ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำพาไปสู่โรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ “ไม่ดี” ต่อหัวใจ

เป็นโรคเบาหวาน คนเป็นเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดในอัตราที่สูงมาก เพราะระดับน้ำตาลที่สูงเป็นตัวการเร่งให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ
เมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อม ร่วมกับมีไขมันในเลือดสูง จะทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหากอุดตันก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมาได้ ดังนั้นต้องพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเอาไว้ตลอด เพื่อชะลอการเสื่อมของหลอดเลือดแดง


เป็นโรคความดันโลหิตสูง  ความดันที่สูงนานๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดคือ หลอดเลือดจะแข็ง ไม่สามารถคงสภาพยืดหยุ่นตามปกติได้ ส่งผลให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ-ตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

มีระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้


สูบบุหรี่จัด การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ โดยสารนิโคติน กาซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารอื่นๆ ในควันบุหรี่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเส้นเลือดนำไปสู่การเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ

 มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคหัวใจได้ จากการศึกษาพบว่า ยิ่งมีญาติสายตรง อย่างพ่อแม่ พี่น้องท้องเดียวกันป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจก่อนวัยอันควร โอกาสที่จะถูกตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจก็จะสูงกว่าคนอื่นๆถึง 2 เท่า อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งสติแตก วั้ย! แล้วชั้นจะเป็นโรคหัวใจมั้ยเนี่ย โรคหัวใจไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว กรรมพันธุ์อาจทำให้คุณมีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆลงได้ โอกาสที่จะโดนโรคหัวใจเล่นงานก็น้อยลง


มีอาการเตือนของโรคหัวใจ อาทิ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น หอบเหนื่อยผิดปกติเวลาออกแรง นอนราบแล้วหายใจไม่สะดวก ฯลฯ ถ้าร่างกายส่งสัญญาณเตือนอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรเพิกเฉย รีบไปตรวจเช็คซะ จะเป็นไม่เป็นก็อีกเรื่องค่ะ


ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงที่ยกมาข้างต้น ถึงเวลาที่ต้อง
ตรวจเช็คสุขภาพหัวใจแล้วค่ะ

         เดี๋ยวนี้คนเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น และที่ไม่รู้ตัวก็มีอยู่เยอะ ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยแล้ว โอกาสเสียชีวิตแบบฉับพลันมีสูง เพราะอาจไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าอะไรเลย ทำให้บางครั้งกว่าคนไข้จะมาถึงมือแพทย์ก็สายไปเสียแล้วค่ะ 

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เปลี่ยนข้อ...เปลี่ยนอะไหล่

พูดถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ก็คือการใส่ข้อเทียมเข้าไปแทนข้อที่มันเสื่อมหรือเกิดปัญหา ที่ได้ยินบ่อยๆ เห็นจะเป็น “ข้อเข่า” กับ “ข้อสะโพก” ส่วนข้ออื่นๆในร่างกายยังไม่เคยได้ยินใครเขาเปลี่ยนกันนะ เดี๋ยวนี้คนผ่าตัดเปลี่ยนข้อมีเยอะขึ้นเพราะเทคนิคการทำน่ากลัวน้อยลง ก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มันล้ำสมัยขึ้นนั่นแหละ ทำให้อะไรๆมันง่ายขึ้น แถมมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการผ่าตัด (Computer Assisted Surgery) ด้วย ส่วนตัวข้อเทียมก็มีการออกแบบและพัฒนาให้ใช้งานได้ใกล้เคียงข้อธรรมชาติ ไงล่ะ...ไม่ธรรมดาเลยใช่มั้ย



ถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อจะลดความยุ่งยากไปเยอะ แต่ใช่ว่านึกอยากผ่า เดินไปบอกคุณหมอแล้วจะได้ผ่าสมใจล่ะ คุณหมอเค้าจะเซย์เยสก็ต่อเมื่อเห็นแล้วว่ารักษามาสารพัดวิธีแล้วไม่ดีขึ้น หรือใครมีข้อบ่งชี้เหล่านี้ คุณหมอก็จะผ่าให้ 
-  ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมจากอายุ มีอาการผิดรูปเข่าโก่ง มีอาการปวดจากการเดิน
ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม จากโรคข้ออักเสบ เช่น Rheumatoid, SLE
-    มีโรคหัวสะโพกขาดเลือดไปเลี้ยง (Avascular necrosis)
-    อุบัติเหตุ กระดูกเข่าแตกผิดรูป หรือกระดูกสะโพกหัก


สำหรับวัสดุที่ใช้ทำข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมจะเป็นโลหะอัลลอย (Alloy) มีคุณสมบัติคือ (1) มีความทนทานสูง อันนี้สำคัญเพราะข้อเทียมมันต้องคอยรับน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา ก็ควรจะแข็งแรงไม่สึกกร่อนง่าย และ (2) ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านกับเนื้อเยื่อของร่างกาย ถ้ามีนี่ยุ่งเลยนะเพราะมันต้องเข้ามาฝังอยู่ในร่างกายของเรา

คนไข้ที่เปลี่ยนข้อเทียม บางคนใช้งานไม่สมบุกสมบันมาก ก็สามารถใช้งานไปได้นานมากกว่า 20 ปีก็มี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะใช้งานกันได้ยาวๆแบบนี้นะ เพราะคนไข้แต่ละคนสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน ระดับกิจกรรมที่ทำหรือปริมาณน้ำหนักที่กระแทกลงข้อก็ต่างกัน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดอายุการใช้งานของข้อเทียมค่ะ


ส่วนวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมทำได้ 2 แบบคือ แบบเดิม (Standard) ที่ทำกันมานาน กับ แบบใหม่ (Minimally Invasive Technique) สองแบบนี้ต่างกันยังไงไปดูกันค่ะ


                                                                 แบบเดิม                                        แบบใหม่

ขนาดแผลผ่าตัด                                             ใหญ่ (ประมาณ 15 ซม.)            เล็ก (ประมาณ 5 ซม.)

เวลาในการผ่าตัด                                                      นานกว่า                                       1 – 1 ½ ชม.

ระยะเวลาดมยา                                                         นานกว่า                                        สั้นกว่า

การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้าง                              มากกว่า                                      น้อยกว่า

ระยะเวลาพักฟื้นใน รพ.                                      มากกว่า 1-2 สัปดาห์                          สั้นกว่า

กลับไปเดินได้ตามปกติ                                            ช้ากว่า                                           เร็วกว่า


ถ้าจำเป็นต้องผ่า อยากผ่าแบบไหนคงมีคำตอบในใจกันบ้างล่ะนะ แต่ขอฝากเอาไว้นิด การผ่าตัดอะไรซักอย่างมันมีเงื่อนไขหลายอย่าง จะเอาตามใจคนไข้อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องพิจารณาหลายๆด้าน ทั้งตัวคนไข้เอง ไหนจะคุณหมออีกล่ะ คนไข้อยากได้อย่างนี้แต่คุณหมอคิดว่าอีกทางเหมาะสมกว่า ก็ต้องฟังคุณหมอด้วย

  

ปกติหลังเปลี่ยนข้อเทียม คนไข้ก็ต้องมาฝึกหัดเดินกันใหม่ ก็ต้องนิดนึงล่ะ เปลี่ยนข้อเทียมนี่นะ ไม่ได้ผ่าฝีจะได้ลุกมาเดินปรู๊ดปร๊าดได้เลย ก็จะมีคุณหมอแผนกกายภาพมาฝึกให้ และจะสอนฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อให้ด้วย ฝึกกันตั้งแต่ช่วงพักฟื้นในโรงพยาบาลนั่นแหละ พอกลับบ้านก็เอาไปทำต่อเอง ถ้าขยันทำตามหมอบอกก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้นค่ะ 

มา มะ...มาถนอม “ข้อ”

        ถ้าพูดถึงเรื่องการถนอมข้อ ในร่างกายคนเราก็มีข้อเยอะแยะ แล้วจะเป็นข้อไหนดีล่ะ ไม่ต้องคิดเยอะค่ะ ตอนนี้จะขอพูดเรื่องการถนอม “ข้อเข่า” ก็แหม...เห็นคนบ่นๆกันเยอะ เรื่องปวดข้อเข่า จะไม่ปวดยังไงไหว เวลาคนเรายืนข้อเข่าแต่ละข้างต้องแบกรับน้ำหนักข้างละประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว แถมในชีวิตยังมีสารพัดกิจกรรม เดิน วิ่ง กระโดด ที่ทำให้ข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า แล้วยังทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมทำร้ายข้อเข่าอีกล่ะ สังขารก็ร่วงโรยตามวัย โอกาสที่โรคข้อเข่าเสื่อมจะมาเล่นงานย่อมเกิดขึ้นได้




ข้อเข่าเสื่อมมักเป็นกันมากในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่คนอ้วนหรือคนที่ทำงานหนักใช้ข้อเข่าสมบุกสมบันอาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรหรือเร็วกว่าคนปกติทั่วไปได้

อาการของข้อเข่าเสื่อมมีดังนี้ ปวดขัดในข้อเข่าเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี มักจะปวดมากเวลางอเข่า เช่น นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ หรือเมื่อเดินไกลๆ หรือขณะก้าวขึ้นบันได แต่ถ้าเหยียดเข่าตรงจะปวดน้อยลง เมื่อจับเข่าโยกไปมามักจะมีเสียงดังกรอบแกรบ ในรายที่เป็นมากอาจมีข้อเข่าบวมและถ้าเป็นนานๆ จนข้อเข่าโก่งออกด้านนอกแสดงว่าข้อเข่าเสื่อมมากแล้ว


ข้อเข่าเสื่อมเป็นแล้วเป็นเลย ไม่หายขาดนะ คุณหมอทำได้แค่ให้ยาลดการอักเสบหรือบรรเทาปวดเท่านั้น กรณียังเป็นไม่มากก็กินยา แล้วบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าเพื่อให้ข้อเข่าแข็งแรง จะช่วยลดอาการปวดเข่าได้ การบริหารควรทำทุกวันเช้า – เย็น ประมาณ 1 เดือนจึงจะเห็นผล
ท่าบริหาร
·  นั่งบนเก้าอี้ที่ค่อนข้างสูงเพื่อสามารถห้อยขาได้
·  ถ่วงน้ำหนักที่หลังเท้า ½ กิโลกรัม
·  เกร็งกล้ามเนื้อเข่า นับ 1 – 10 นับเป็น 1 เซ็ต ทำประมาณ 10 - 20 เซ็ต 

ถ้าเข่าเสื่อมมากเดี๋ยวนี้คนไข้สามารถผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมแทนได้ แต่ราคาแพงเอาเรื่องอยู่ เห็นแล้วแอบมีปาดเหงื่อเลยล่ะ แต่ถ้าพิจารณาว่าคุ้มที่จะจ่ายก็ลองปรึกษาคุณหมอดู แต่วิธีนี้คุณหมอมักแนะนำในคนไข้ที่อายุยังน้อยหรือมีความจำเป็นเรื่องอาชีพค่ะ

หยุดทำร้ายข้อเข่า! ถ้าไม่อยากข้อเสื่อมก่อนวัย
·  หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ เพราะจะไปเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า ทำให้การนำอาหารไปสู่เซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อโดนรบกวน
·  ลดน้ำหนักซะ ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกิน ข้อเข่าจะได้ไม่ต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินตลอดเวลา
·  เลี่ยงใส่รองเท้าส้นสูง จะช่วยลดแรงกดทับมากกว่าปกติทั้งที่ข้อเข่า และข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า


·  ขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น
·  เลือกออกกำลังกายที่ไม่มีทำร้ายข้อเข่า เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

เพิ่มความแข็งแรงให้ข้อเข่า

หมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ 


ขอบคุณภาพประกอบ : http://xn--22c6d0amx5a0dc4ee.com/?p=943

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ส่องพัฒนาการลูกน้อย

      ลุ้นยิ่งกว่าหวย ก็พัฒนาการของลูกน้อยน่ะสิ พ่อแม่แทบร้อยทั้งร้อยจะเป็นกังวลหนักมากกับเรื่องนี้ กลัวลูกพัฒนาการไม่สมวัย ยิ่งถ้าเห็นลูกคนอื่นพัฒนาการดีวันดีคืน อ้าว! ไหงลูกเราพัฒนาการช้านักฟระ โอ๊ย เครียดดด ถ้างั้นมาดูกันดีกว่าว่า พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงอายุควรเป็นยังไง คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่มโนกันไปเกินจริง หรือคิดเอาเองว่าลูกชั้นไม่มีปัญหา



    อายุ 1 เดือน  ทารกสนใจมองวัตถุ โดยเฉพาะหน้าคน
    อายุ 2 เดือน  ทารกจะเริ่มยิ้ม ฟังเสียงและส่งเสียงในคอ
    อายุ 3 เดือน  ทำท่าคว้าของเล่นที่อยู่ข้างหน้าได้แต่ยังคว้าไม่ได้
    อายุ 4 เดือน   คว้าของ เอาของเข้าปาก คว่ำ หัวเราะ
   อายุ 6 เดือน   เล่นกับเงาในกระจก รู้จักคนแปลกหน้า เปลี่ยนของในมือได้ ฟันซี่แรกขึ้น สามารถนั่งเองได้ เลียนเสียง
    ายุ 8 เดือน  คลานได้

   อายุ 9 เดือน ยืนเกาะได้ หยิบของเข้าและออกจากภาชนะ หยิบของด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ
    อายุ 10 เดือน  สามารถเรียก “แม่” ได้ โบกมือ ปรบมือ
   อายุ 11 เดือน เกาะเดินได้ ชอบเปิดหนังสือและปิดทีละหลายหน้า
   อายุ 12 เดือน ทำตามสั่งง่ายๆ ได้ ตั้งไข่ พูดเป็นคำ “ผม” “หม่ำ”  หยิบของชิ้นเล็กๆ เช่น เส้นผม จับของตามต้องการ
    อายุ 1 ปี 3 เดือน  ต่อของซ้อนกัน คลานขึ้นบันได
    อายุ 1 ปี 8 เดือน  ดึงของเล่นแยกจากกัน รูดซิป


    อายุ 2 ปี  ลงบันไดได้เอง วิ่งได้ พูดสองคำติดกัน พูดคนฟังเข้าใจประมาณ 50%
    อายุ 2 ปี 6 เดือน  หัดนับ เดินเขย่งเท้า
   อายุ 3 ปี สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในหลายๆ ด้าน ได้แก่ รับประทานอาหารเองได้ แต่งตัวเองแต่ติดกระดุมยังไม่ได้ แปรงฟันเอง พูดเป็นประโยค ขึ้นลงบันไดสลับเท้า
    อายุ 4 ปี สามารถวาดรูปคนได้ รู้จักสีต่างๆ ร้อยลูกปัดได้ ใช้กรรไกรตัดกระดาษ พูดแล้วคนอื่นฟังเข้าใจ 100%

      
       ถ้าลูกน้อยของคุณไม่ได้มีพัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างที่กล่าวมา ควร “เอ๊ะ” บ้างนะ อย่าคิดแต่ว่า “คงไม่เป็นไร” แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยัง งง ๆ งวย ๆ กับภาพรวมของพัฒนาการที่เอามาฝากข้างต้น ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ควร “เอ๊ะ” งั้นให้สังเกตว่าลูกของคุณมีลักษณะชวนผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีควรได้รับการแก้ปัญหาโดยด่วน

การได้ยิน
·       ในเดือนแรกเด็กไม่สะดุ้งเวลามีเสียงดังใกล้ตัว
·       6 เดือน ไม่หันมองหาตามเสียงเรียก

การมองเห็น
·       3 เดือน ไม่มองตามสิ่งของหรือหน้าคนที่เคลื่อนไหวอยู่ ตรงหน้า
·       6 เดือน ไม่คว้าของ
·       9 เดือน ไม่หยิบของที่วางอยู่ตรงหน้า

การเคลื่อนไหว
·       แขนขาขยับไม่เท่ากันหรือเคลื่อนไหวน้อย
·       3 เดือนไม่ชันคอ
·       6 เดือนไม่คว่ำ
·       9 เดือนยังไม่นั่ง
·       1 ปี ยังไม่เกาะยืน
·       อายุเกิน 2 ปี ยังล้มง่าย เก้งๆ ก้างๆ

การรู้จัก...และการใช้ภาษา
·       10 เดือน ยังไม่เลียนเสียงพูด
·       1 ปี ยังไม่เรียนท่าทาง
·       1 ปีครึ่ง ยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ
·       3 ปี ยังไม่พูดเป็นประโยคโต้ตอบ

มีปัญหาอื่นๆ เช่น
·       ซนผิดปกติ
·       ก้าวร้าว
·       แยกตัว ไม่สนใจเล่นกับคนอื่น


แบ่งเป็นกลุ่มอย่างนี้คงพอจะประเมินพัฒนาการของลูกได้ชัดขึ้นนะคะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าพัฒนาการลูกไม่โอเค ควรรีบพาไปพบคุณหมอ การรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้ผลดีกว่าปล่อยจนอายุมากขึ้น ดั่งสุภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” นั่นล่ะค่ะ แต่หมอเด็กทั่วไปไม่ตอบโจทย์กรณีนี้ ต้องเป็นหมอด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ซึ่งจะให้คำแนะนำ ปรับพฤติกรรม กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก


แต่บอกไว้ก่อนว่าเวลาไปตรวจรักษา คุณพ่อคุณแม่อย่าใจร้อน เพราะคุณหมอต้องซักประวัติแล้วยังต้องดูพฤติกรรมของเด็กในห้องตรวจด้วย จึงอาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือกว่านั้น บางทีการตรวจก็อาจต้องทำมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะหมอยังวินิจฉัยเด็กในการตรวจครั้งแรกไม่ได้ เนื่องจากเด็กกลัวหรือตื่นเต้น เด็กยังไม่พร้อมเพราะง่วงหรือหิว เป็นต้น ทำให้พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กต่างไปจากปกติ จึงอาจต้องมีการนัดมาประเมินซ้ำเป็นระยะๆ ส่วนการรักษาก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน ไม่ใช่วันสองวันไม่เห็นผลแล้วไปเหวี่ยงไปวีนกับคุณหมอ อันนี้ไม่สมควรนะคะ ยังไงก็ขอให้อดทน การรักษาจะได้ผ่านไปอย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กมากที่สุด




วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ฟ. ฟัน ลูกน้อยมาละจร้า

                เย้ ลูกชั้นมีพัฒนาการอีกขั้นแล้ว เริ่มเห็นฟันโผล่มาให้ตื่นเต้น ว้าว วี้ด โย่วว ดีใจจัง ปกติพอเด็กอายุ 6 – 7 เดือน ฟันชุดแรกที่เรียกว่า “ฟันน้ำนม” ก็จะเริ่มขึ้น อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ได้บ้างก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการไม่เท่ากัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ช่างสังเกตอาจเห็นตุ่มน้ำใสๆ โป่งขึ้นมาจากสันเหงือกหรือเห็นเส้นสีห้อเลือดก่อนฟันน้ำนมจะขึ้นประมาณ 2 -3 สัปดาห์ จากนั้นถุงน้ำจะหายไปได้เอง แต่อันนี้ใช่ว่าจะเกิดกับเด็กทุกคนนะคะ บางคนก็ไม่มี ถ้าคุณแม่ตามส่องแล้วไม่เห็นก็ไม่ต้องกังวลใจไปล่ะ
     
         
            ฟันน้ำนมไม่ได้ขึ้นสะเปะสะปะนะจ๊ะ ปกติจะเริ่มขึ้นจากฟันล่างคู่หน้าก่อนเป็นคู่แรก จากนั้น 2 – 3 เดือน ฟันหน้าคู่บนก็จะขึ้นตามมา แล้วฟันซี่อื่นๆ ก็จะทยอยตามๆ กันมา ช่วงที่ฟันขึ้นเนี่ยเด็กจะมีน้ำลายไหลยืดมากกว่าปกติ อาจร้องกวนบ้าง หรือเบื่ออาหาร คุณแม่ก็อย่าหงุดหงิดล่ะ พอฟันขึ้นแล้วอาการที่ว่าก็จะหายไปเอง ช่วงนี้ลูกอาจรู้สึกมันเขี้ยวอยากกัดโน่นนี่ อย่างของเล่นเงี้ย ก็ต้องระวังเรื่องความสะอาดด้วย ส่วนพ่อแม่ที่ชอบส่งขนมมาให้เด็กกัดเล่น อันนี้ไม่ควรนะคะ กินไม่ระวังอาจเสี่ยงมีไข้ ท้องเสีย ทำความสะอาดไม่ดีอาจทำให้ฟันผุได้


    ฟันน้ำนมนั้นมีจำนวน 20 ซี่ และจะขึ้นครบเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง พอเด็กอายุประมาณ 6 ขวบฟันน้ำนมจะค่อยๆ ทยอยหลุดทีละซี่แล้วมี “ฟันแท้” ขึ้นมาแทน กระทั่งอายุ 12 ปี ฟันน้ำนมก็จะหลุดออกจนหมด ส่วนฟันแท้ที่ทยอยขึ้นมานั้นจะขึ้นจนครบ 32 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 21 ปี


   ฟันแท้ซี่แรกที่ขึ้นจะเป็นฟันกรามอยู่ด้านในต่อจากฟันกรามน้ำนม ซึ่งไม่ได้ขึ้นแทนฟันน้ำนมซี่ใด ๆ เลย ฟันแท้ซี่นี้มีความสำคัญมากในการบดเคี้ยวอาหารตลอดจนการเจริญเติบโตของขากรรไกร รูปร่างของฟันซี่นี้จะมีด้านบดเคี้ยวใหญ่กว่าฟันกรามน้ำนม มีหลุมและร่องฟันจำนวนมาก สีจะเหลืองกว่าฟันกรามน้ำนม ถ้าเด็กฟันขึ้นต้องเน้นการแปรงฟัน เพราะเศษอาหารมักจะหมักหมมบริเวณนี้ในช่วงที่ฟันกำลังจะขึ้น และเมื่อฟันขึ้นเต็มซี่ ควรจะพาไปพบทันตแพทย์ เพื่อเคลือบหลุมร่องฟันให้ตื้นขึ้นจะทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น

   ถึงแม้สุดท้ายแล้วฟันน้ำนมจะหลุดร่วงออกจนหมด แต่การปล่อยปละละเลยให้ฟันผุก่อนเวลาอันควร ก็เป็นเรื่องไม่สมควรเพราะอาจก่อปัญหาตามมาได้ นั่นคือ ทำให้การเจริญเติบโตของขากรรไกรเป็นไปได้ช้า และทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาซ้อนเกได้ ดังนั้น คุณแม่ควรดูแลสุขภาพปากและฟันของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันฟันน้ำนมผุและหลุดร่วงก่อนเวลาอันควร ดังนี้
  

ล้างปากหลังกิน ในเด็กเล็กให้ดูดน้ำตามหลังนมทุกครั้ง ในเด็กโตหลังทานอาหารทุกมื้อ ควรให้เด็กบ้วนปากหรือแปรงฟันให้สะอาด

ขนมขบเคี้ยว ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ไม่ควรให้เด็กทานพวกของหวาน เช่น ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต ขนมกรุบกรอบที่ติดฟัน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรให้ทานในมื้ออาหารไปเลย และไม่ควรให้เด็กรับประทานจุบจิบตลอดวัน

สอนการแปรงฟัน
เมื่อเด็กอายุได้ 1 ขวบ หัดให้เด็กรู้จักแปรงสีฟันและการแปรงฟัน โดยเริ่มจากใช้แปรงเล็ก ๆ กับฟันหน้าและควรให้เลิกดื่มนมขวด มาดื่มจากแก้วแทน และดื่มน้ำตามทุกครั้ง

เมื่อเด็กอายุได้ 2 ขวบ สอนให้เด็กแปรงบริเวณฟันหน้าและฟันกรามให้ทั่วทุกซี่ ถ้าเด็กยังบ้วนปากไม่เป็น อย่าเพิ่งเริ่มใช้ยาสีฟัน เพราะเด็กอาจกลืนยาสีฟันเข้าไป ควรให้แปรงด้วยแปรงเปล่าๆ ไปก่อน ถ้าเด็กบ้วนปากเป็นแล้วไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะกลืนยาสีฟัน อาจเริ่มใช้ยาสีฟันจำนวนน้อยๆ ก่อนก็ได้


เมื่อลูกอายุได้ 3 ขวบ ฟันน้ำนมขึ้นครบล่ะ ตอนนี้ต้องฝึกให้เด็กแปรงฟัน เช้า –  เย็น อย่างจริงจัง แต่อย่าเพิ่งเข้มงวดว่าเด็กต้องทำได้ดี ได้เป๊ะ ต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่มือได้ดี จะให้แปรงฟันได้สะอาดเหมือนเด็กโตคงยาก ดังนั้น คุณแม่ควรแปรงซ้ำอีกครั้ง แนะนำใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน เพื่อทำความสะอาดบริเวณซอกฟันที่แปรงเข้าไม่ถึงอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนนอนก็จะเยี่ยมไปเลยค่ะ


จูงลูกน้อยมาพบทันตแพทย์เพื่อเคลือบฟลูออไรด์ทุก 6 เดือน


วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หม่ำ หม่ำ...ยังไง ดี๊ ดี กับพัฒนาการ

            หลังจากอุ้มท้องมาน้าน นาน ลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงอยากเห็นเบบี้มีพัฒนาการสมวัย ปกติพ่อแม่ก็จะเฝ้าสังเกตว่าแต่ละวันลูกน้อยมีพัฒนาการอะไรขึ้นมามั่ง คือใจร้อนไง อยากเห็นลูกยิ้ม หัวเราะ เรียกแม่ โอ๊ย สารพัดจะคาดหวัง ถ้าคุณอยากเห็นพัฒนาการที่ดีวันดีคืนของลูกน้อย “อาหาร” ก็สำคัญไม่แพ้เรื่องไหนๆ นะจะบอกให้
     


แล้วก็ไม่ต้องไปควานหาอาหารสุดพิสดารจากที่ไหนให้เมื่อยตุ้ม น้ำนมจากอกนี่ล่ะคร้า สุดยอดอาหารสำหรับเจ้าตัวน้อยของคุณ เนื่องจากมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท วิตามิน และเกลือแร่ โดยเฉพาะน้ำนมช่วง 4 - 6 วันแรก นี่แหละ ซู้ดยอดด เพราะมีปริมาณโปรตีน เกลือแร่ และภูมิคุ้มกันโรคสูงกว่าน้ำนมที่ออกมาในระยะหลังๆ แถมนมแม่ยังลดปัญหาการเกิดโรคภูมิแพ้ เพราะไม่มีโปรตีนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผิดกับนมผสมที่เป็นนมวัว เด็กมีโอกาสแพ้โปรตีนในนมวัวได้ รู้ปะ? ในนมวัวมีโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่า 20 ชนิดเลย โดยโปรตีนหลักที่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็คือ เคซีน และ เบต้าอิมมูโนกลอบบูลิน


ดังนั้นให้เจ้าตัวน้อยดูดนมจากเต้าดีที่สุดนะจ๊ะ จัดกันยาวไปประมาณ 4 – 6 เดือนกันเลย หลังจากนั้นถึงค่อยลดระดับนมแม่มาเป็นแค่อาหารเสริม คือยังให้กินต่อไปนั่นแหละแต่ไม่ได้เป็นอาหารหลักแล้วไง แล้วไปเพิ่มอาหารเสริมอย่างอื่นในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาหารหลักในที่สุด

แล้วนมผสมนำมาใช้เลี้ยงลูกได้มั้ย ก็ได้ค่ะถ้ามันจำเป็น อย่างคุณแม่ไม่สะดวกให้ลูกกินนมตัวเอง เป็นต้นว่ามีปัญหาสุขภาพ, มีปัญหาหัวนม ต้องไปทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ อยากให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะดีกว่า เดี๋ยวนี้เค้าก็รณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันโครมๆ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์อย่างที่พูดไปข้างต้นแล้ว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังประหยัดตังค์ไม่ต้องจ่ายไปกับค่านมกระป๋องที่แสนแพง สะดวกก็สะดวก เปิดเต้าก็ดูดได้เลย ไม่ต้องคำนวณสัดส่วนตอนชงให้ยุ่งยาก สะอาดและปลอดภัยนี่คงไม่ต้องอธิบายมาก อย่างนมผสมถ้าเตรียมไม่ถูกสุขลักษณะ ทารกก็อาจจู๊ดๆ หรือติดเชื้อได้ ปัญหาลูกอ้วนก็ไม่มีมาให้ปวดหัว เพราะน้ำนมแม่จะมีปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อทารกดูดจนอิ่มแล้วก็จะหมดพอดี ต่างกับการเลี้ยงด้วยนมผสม คุณแม่มักจะยัดเยียดให้กินจนหมดขวด ก็เลยได้รับนมผสมมากเกินไป

ส่วนผลดีต่อจิตใจก็มีนะ ขณะให้ลูกดูดนมสายใยความผูกพันมันก็จะยิ่งแน่นแฟ้น ก็แหม่..ลูกดูดนมจากเลือดจากเนื้อเราเองนี่เนอะ พูดแล้วน้ำตามา 555 ส่วนตัวคุณแม่เองก็ได้อานิสงส์จากให้ลูกดูดนมตัวเอง อย่างเมนส์กว่าจะกลับมาอีกทีก็โน่น 8 เดือน 12 เดือนนั่นแหละ ต่างกันลิบกับคุณแม่ที่เลี้ยงด้วยนมผสม ประมาณ 2 - 4 เดือนก็มาล่ะ ยังงี้ต้องวางแผนครอบครัวดีๆ ไม่งั้นอาจตุ๊บป่องๆ แบบไม่ทันระวัง อ้อ การที่คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ว่ากันว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งของเต้านมด้วยนะ


นอกจากกินนมแม่แล้ว ถึงระยะหนึ่งคุณแม่ต้องเริ่มอาหารเสริมให้เจ้าตัวน้อยด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี้ยงด้วยนมแม่ไปตลอด สำหรับอาหารเสริมควรเริ่มตอนประมาณ 3 – 4 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตามนี้เป๊ะๆ คือต้องดูสภาพของเด็กว่าพร้อมหรือไม่ด้วย อย่างถ้าเด็กอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ พี่น้องสารพัดจะแพ้ เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ แพ้อาหาร แพ้อากาศ ก็อาจประวิงเวลาในการเริ่มอาหารเสริมออกไปก่อน แต่เด็กบางคน โอ้โห...ทานนมเก่งเว่อร์จนแม่ผลิตน้ำนมไม่ทันกันเลยทีเดียว สุขภาพก็ดีเยี่ยม ท้องอืดท้องเฟ้อไม่มี๊ ยังงี้แค่ 2 เดือน ก็อาจจะเริ่มอาหารเสริมเช่นกล้วยได้             

แล้วจะเสริมตอนไหนถึงเหมาะล่ะ ไม่ใช่นึกอยากให้อาหารเสริมตอนไหนก็ให้ อาจทำให้เด็กทานนมไม่ลงเพราะดันอิ่มอาหารเสริมไปซะก่อน ช่วงแรกควรเริ่มป้อนระหว่างมื้อนม จากนั้นค่อยๆ เลื่อนจนมาอยู่ตามหลังนมทันที ต่อไปเด็กก็อาจจะทานอาหารเสริมแทนนมไปเลย

ถ้าเด็กงอแงไม่ยอมกินอาหารเสริม จะกินนมลูกเดียวล่ะ ทำยังไง? พ่อแม่ก็ต้องใจเย็น ไม่ต้องไปบังคับ นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่สักหน่อย ทอดเวลาออกไปก่อนก็ได้ รอสัก 1 – 2 อาทิตย์ แล้วค่อยเริ่มใหม่ อาจจะปรุงแต่งรสชาติให้หวานขึ้นอีกเล็กน้อย



ทีนี้มาลองดูตัวอย่างอาหารเสริมสำหรับลูกน้อยของคุณกันค่ะ คุณแม่อาจเริ่มอาหารเสริมตอนอายุ 3 เดือน ดังนี้
-  อาหารเสริมจำพวกผลไม้ คุณแม่อาจครูดผิวนอกของกล้วยสุกให้เด็กทาน คุ้นๆ กันมะ กล้วยน้ำว้าสุกนี่นิยมให้เด็กทานมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายของเราแล้วล่ะ ถ้าจะให้ผลไม้อื่น เช่น แอปเปิล มะละกอ ส้ม องุ่น ก็ได้ แต่ต้องบดให้ละเอียด พวกผลไม้ย่อยยาก เช่น มังคุด ลางสาด ขนุน ฯลฯ ให้เลี่ยงไปก่อน พอเด็กเริ่มมีฟันก็ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ พอที่เด็กจะเคี้ยวได้ก็พอ
-  ข้าวตุ๋นบดใส่น้ำซุปผสมกับผักใบเขียวที่ย่อยง่ายๆ เช่น ตำลึงอ่อน ฟักทอง ผักกาดขาว เป็นต้น ก็เป็นอาหารเสริมที่ทำได้ไม่ยาก คุณค่าเพียบ ยังไงก็เลือกผักที่ไม่มีกลิ่น รสไม่ขม ไม่งั้นเด็กอาจยี้ไม่ยอมทาน   พออายุ 4 เดือน เริ่มให้ทาน “ไข่” ได้ค่ะ แต่ต้องระวังถ้าคนในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหาร เด็กอาจมีโอกาสแพ้ไข่ได้ ในเด็กกลุ่มนี้มักให้เริ่มทานไข่ขาวเมื่ออายุประมาณ 8 – 9 เดือน

อายุ 4 – 6 เดือน เริ่มรับประทานเนื้อและปลาได้ โดยเอามาต้มหรือตุ๋นแล้วบดให้ละเอียด อาจเสริมด้วยถั่วแทนบ้างก็ได้


ตัวอย่างอาหารเสริมข้างต้นคงพอเป็นไอเดียให้คุณแม่เอาไปต่อยอดได้นะคะ ก่อนจากก็อยากจะเน้นย้ำอีกรอบ อาหารนั้นสำคัญต่อพัฒนาการของทารกอย่างยิ่ง จะคุณแม่มือเก่าหรือมือใหม่ควรให้ความใส่ใจสุดๆ ค่ะ