วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปากดำ...ทำไงดี

        อยากปากเป็นสีชมพูดูหวาน เป็นสาวสุขภาพดี แต่ส่องกระจกทีไรเห็นแต่ปากดำนี่สิ เฮ้อ จะทาลิปสติกกลบเกลื่อนก็แค่หลอกตาชั่วคราว ความจริงยังคอยสะกิดใจอยู่เรื่อยๆ  ไม่เอ๊า ไม่เอา ได้มั้ยไอ้ปากดำเนี่ย



         ใครๆ ก็ไม่อยากปากดำ จะเพศหญิงเพศชายไม่มีข้อยกเว้นหรอก แต่ถ้าปัญหาปากดำเกิดจากกรรมพันธุ์ คือมียีนผิวคล้ำติดตัวมา อันนี้ก็ต้องทำใจนิดนึง เพราะริมฝีปากก็จะมีสีคล้ำด้วย แต่ถ้าไม่ใช่คนผิวคล้ำแต่กำเนิด ให้ถามตัวเองก่อนว่า คุณได้ทำพฤติกรรมที่ทำร้ายริมฝีปากอยู่หรือเปล่า เช่น สูบบุหรี่จัด , ชอบกัดริมฝีปากตลอดเวลา, รู้ตัวว่าแพ้ดินสอเขียนตัดขอบปาก ลิปสติก -  ขี้ผึ้งทาปากบางยี่ห้อก็ยังจะฝืนใช้ต่อ, กินยาบางตัว ถ้ายังหลีกเลี่ยงต้นตอเหล่านี้ไม่ได้ ทำยังไง้ ยังไง ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาปากดำได้อย่างถาวร ฉะนั้น ต้องลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ให้ได้ก่อน ไม่ซ้ำเติมไปทุกวี่ทุกวัน บางทีอาจไม่ต้องวิ่งไปหาหมอเลย ริมฝีปากที่คล้ำก็จะเริ่มดีขึ้นได้ เพราะตามธรรมชาติร่างกายจะสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาผลัดเปลี่ยนกับเซลล์ผิวเดิมอยู่แล้ว



         เอ้า ถ้าทำแล้วปากก็ยังไม่ชมพู้ ชมพู สมใจ ก็คงต้องพึ่งบริการคุณหมอแล้วล่ะ สมัยนี้มียาทาช่วยได้ หยุดยาแล้วปากก็ไม่กลับไปดำคล้ำอีก เว้นแต่จะกลับไปทำพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำอีก ซึ่งคนแบบนี้มีไม่น้อย แล้วก็มาโวยวายว่าใช้ยาแล้วทำไมไม่ได้ผล บอกเลยยาเทวดาก็ช่วยไม่ได้ จบนะ!
        
        แต่ถ้าใช้ยาแล้วผลที่ออกมาก็ยังไม่ถูกจริตอีก ขอแนะนำอีก 2 วิธี คือให้ไปหาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำ “เลเซอร์” หรือไม่ก็ สักปากชมพู มันซะเลย


        การใช้เลเซอร์จะเป็นการไปทำลายเม็ดสีผิวบางส่วนออกไปก็จะทำให้ปากหายดำคล้ำได้ เดี๋ยวนี้เทคนิคนี้ไม่ยุ่งยาก ไม่น่ากลัว หายห่วงเรื่องเจ็บขณะทำได้เพราะคุณหมอจะทายาชาที่ริมฝีปากก่อนยิงเลเซอร์  หลังทำก็จะให้คนไข้ประคบเย็นสักพักเพื่อไม่ให้แสบร้อนปาก กลับบ้านไปก็ทายาที่คุณหมอจัดให้ไป และเลี่ยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้สักระยะ เช่น อาหารรสจัด ยาสีฟันที่มีรสเข้มข้นหรือเผ็ดจัด การทาลิปสติกหรือขี้ผึ้งทุกชนิด คุณหมอก็จะนัดมาดูก็ขอให้มาตามนัดด้วย ส่วนต้องมายิงเลเซอร์กี่ครั้ง ก็ขึ้นกับความเข้มของสีผิวที่ปาก แต่ส่วนใหญ่มักทำประมาณ 2-3 ครั้ง

        ก็เหมือนกับการทายานั่นแหละ ถึงจะทำเลเซอร์ไปแล้ว ปากกลับมาชมพูดูฟรุ้งฟริ้งก็สามารถกลับไปดำคล้ำได้อีกถ้ายังไม่เลิกพฤติกรรมเก่า  

ส่วน “การสักปากชมพู” ก็เป็นอีกวิธีที่สาวๆ นิยมกัน เพราะสักไปแล้วปากเป็นสีชมพูถาวร เนื่องจากสีที่ใช้จะเป็นสีที่ติดทนนานและถาวร และไม่ทำปฏิกิริยากับร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ สนใจวิธีนี้ก็ไปปรึกษาคุณหมอได้เลย ส่วนใครที่กังวลเรื่องเข็มสัก หายห่วงได้ถ้าเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน คุณหมอจะพิถีพิถันในเรื่องนี้มาก ไม่ได้ใช้เข็มแบบเวียนกันใช้แต่เป็นเข็มชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง


หลังสักปากชมพูไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ เพราะน้ำลายอาจทำให้สีที่สักไว้จางลงได้ ช่วง 1 สัปดาห์หลังสักให้ระวังเรื่องดื่มกินด้วยคือ อย่าเพิ่งไปดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม เพราะอาจทำให้สีที่สักไว้หลุดออกไป ให้ทายาตามที่หมอจัดให้ไป ช่วงนี้เมคองเมคอัพก็เลี่ยงไปก่อน รอให้หายแล้วค่อยสวยก็ยังทัน ถ้าริมฝีปากมีสะเก็ด ก็อย่ามือบอนเที่ยวไปแกะหรือลอกออกล่ะ สังเกตตัวเองด้วยหลังสักไปแล้วมีอาการผิดปกติอะไรมั่งมั้ย ถ้ามีก็กลับไปหาหมอ อย่าวินิจฉัยหรือรักษาเอง อันนี้ดักคอไว้ก่อนเพราะพวกมั่นว่าข้าแน่นี่เห็นตกม้าตายมาเยอะ




วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปากแห้ง...แสลงใจ

        ริมฝีปากเป็นส่วนหนึ่งบนใบหน้าที่ชวนให้ประทับใจชวนจุ๊บก็ได้ ทำให้เห็นแล้วรู้สึกติดลบไปเลยก็มี ถ้าไม่เอาใจใส่ปล่อยให้ริมฝีปากแห้งแตกลอกเป็นขุย บางคนแตกเป็นแผล จะยิ้มทีก็เจ็บตึง จะกินอาหารรสจัดจ้านก็เจ็บแสบ โอ๊ย ไม่สวยยังสร้างความทรมาน แถมใครเห็นเป็นทักให้ขาดความมั่นใจซะอีก        




        ส่วนใหญ่คนที่มีปัญหาปากแห้งมักเกิดจากการดื่มน้ำน้อย        สาเหตุอื่นๆ ก็เช่น บางคนติดเลียริมฝีปากบ่อยๆ ซึ่งในน้ำลายมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารจึงเป็นสาเหตุให้ริมฝีปากแห้ง ระคายเคืองได้,  การใช้ยาสีฟันที่มีฟองเยอะหรือมีรสเผ็ดซ่า, การทาลิปสติกแล้วเกิดอาการแห้ง ระคายเคืองจากสารประกอบในลิปสติก เช่น สี กลิ่น น้ำหอม,  ชอบกินผลไม้รสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ดจัด ร้อนจัด, มีความเครียด, การรับประทานยารักษาโรคบางชนิด, การรับรังสีเพื่อรักษาโรค

        ใครมีปัญหาปากแห้ง ถ้าเกิดจากการกินยาหรือไปฉายแสงมา คงต้องปรึกษาคุณหมอว่าควรหาทางออกยังไงดี คุณหมอจะพิจารณาเปลี่ยนยงเปลี่ยนยาก็ว่ากันไป หรือถ้าฉายแสงก็จะมีคำแนะนำในการดูแลที่ถูกวิธีให้ อันนี้ขอไม่ไปแตะ ส่วนที่มาพูดคุยกันในตอนนี้จะมาว่ากันในแง่การแก้ปัญหาพื้นๆ ทั่วไปที่เรา ๆ ท่านๆ ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติแล้วก็ช่วยให้อาการปากแห้งดีขึ้นได้  


        อย่างแรกเลยที่อยากแนะนำก็คือ ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ หรือจิบน้ำอุ่นๆ บ่อยๆ น้ำนี่แหละยาขนานดีในการแก้อาการปากแห้ง น้ำช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น สดใส มีน้ำมีนวล ผิวหนังทุกส่วนไม่เฉพาะริมฝีปาก จริงๆ การให้ร่างกายได้รับน้ำเพิ่มขึ้นทำได้ทั้งดื่มเข้าไปโดยตรง ส่วนใหญ่เราก็ได้น้ำจากวิธีนี้มากที่สุด ซึ่งน้ำที่กินก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นน้ำเปล่า อาจเป็นน้ำหวาน น้ำผลไม้ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ก็ได้ เพียงแต่ถ้าเอาประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุดก็เป็นน้ำเปล่าที่ใสสะอาด ปราศจากสี กลิ่น และตะกอนดีที่สุด ว่ากันเรื่องแคลอรีก็ไม่ต้องมานับกันให้วุ่นวายเพราะน้ำเปล่าไม่มีแคลอรี กินแล้วไม่อ้วนฟันธงค่ะ ส่วนน้ำที่เราจะได้ทางอื่นก็จากอาหารที่เรากินเข้าไป เช่น น้ำแกง น้ำซุป น้ำที่แทรกซึมอยู่ในผักผลไม้ และอาหารต่างๆ นั่นก็นับได้ด้วย

        จริงๆ จะดูว่าแต่ละวันเราได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ ไม่ต้องรอจนปากแห้งแตกถึงค่อยมาสรุป ให้ดูที่สีของปัสสาวะก็พอประเมินได้ล่ะ ถ้าเป็นสีเหลืองจาง ๆ แสดงว่าได้น้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มแสดงว่าดื่มน้ำน้อย แต่ถ้าซัดน้ำมากเกินความต้องการของร่างกายปัสสาวะจะใสเหมือนน้ำไม่มีสีเหลืองเลย อันนี้ก็เยอะไป ก็เอาให้พอดีๆ ล่ะกัน ถ้าใครไม่ค่อยชอบดื่มน้ำ ให้ดื่มอั๊กๆ ทีละเป็นแก้วนี่เหมือนโดนลงโทษยังไงยังงั้น แนะนำให้ใช้วิธีเก็บสะสมไปเรื่อยๆ จิบชิลๆ บ่อยๆ จะได้ไม่รู้สึกทุกข์มาก

        

         
         ส่วนอาการปากแห้งมากจนลอกเป็นขุย แก้ปัญหาด้วยการผสม “น้ำอุ่นกับเกลือป่น” เล็กน้อย แล้วใช้สำลีหรือทิชชูชุบให้เปียกบีบพอหมาด แล้วใช้ปากคาบทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที หรือเช็ดไล้ริมฝีปากเบาๆ ก็จะช่วยให้ขุยต่างๆ หลุดลอกออกไปได้ หรือถ้าริมฝีปากมีรอยแห้งแตกให้ลองใช้น้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวเจือจางทาบางๆ บริเวณริมฝีปาก เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่ให้ริมฝีปากกลับมาสวยสดใส

       สาวๆ ที่แต่งหน้าทาปาก ลิปสติกนี่เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้ แต่ถ้าใช้แล้วปากแห้ง ระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงซะ หมั่นทาลิปมันที่มีส่วนผสมของสารบำรุง หรือถ้าปากแห้งมากแนะนำให้ทาปิโตรเลียมเจล (มีลักษณะเป็นเจลใสคล้ายขี้ผึ้ง) ทาได้บ่อยครั้งตามต้องการ ปิโตรเลียมเจลจะไปเคลือบริมฝีปากไว้ตลอดเวลา ช่วยลดการระเหยของน้ำ และป้องกันผิวระคายเคืองได้                

        อย่าเผลอเลียริมฝีปากบ่อยๆ เตือนตัวเองเอาไว้ค่ะ
    

    
    เปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันชนิดฟองน้อยหรือไม่มีฟอง ไม่มีรสเผ็ดซ่า อาจทาปิโตรเลียมเจลเคลือบริมฝีปากก่อนแปรงฟัน เพื่อป้องกันฟองยาสีฟันไประคายเคืองริมฝีปาก

     สาวๆ ที่นิยมทานผลไม้รสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ดจัด เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงนะ แต่ถ้ายังตัดใจไม่ได้ หลังกินก็บ้วนปากให้สะอาด

        ลองนำไปปฏิบัติกันดูค่ะ อ้อ ฝากไว้ก่อนจาก หน้าหนาวก็ใกล้เข้ามาแล้ว หน้าหนาวอากาศแห้ง ถ้าเผชิญปัญหาผิวแห้งปากแห้ง ก็นำวิธีที่แนะนำข้างต้นไปใช้ได้นะคะ 


วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

มัจจุราชเงียบ! หลอดเลือดหัวใจตีบ

        เขียนกันมาถึงตอนนี้ ถ้าไม่พูดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คงต้องเอาหัวโขกฝา รับผิดเต็มๆ ยิ่งสถิติเห็นกันอยู่ทนโท่ว่าโรคนี้เป็นสาเหตุการตายมากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาโรคหัวใจทั้งหมด ยิ่งไม่พูดถึงไม่ได้ แต่ขนาดตอกย้ำกันแทบจะทุกสื่อยังงี้ก็ยังเห็นข่าวคนตายปุบปับด้วยโรคนี้เยอะแยะ บางคนอยู่ดีๆ ใช้ชีวิตปกตินี่แหละ ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองเป็น จู่ๆ แน่นหน้าอกเป็นลมล้มหงายตึงลาโลกไปซะงั้นก็มี

        

   

        ใครอ่านแล้วชักหนาวๆ ร้อนๆ กลัวโรคหลอดเลือดหัวใจตีบขึ้นมา ถ้าไปค้นหาข้อมูล แล้วไปเจอะเจอคำว่า โรคหัวใจขาดเลือด ก็ไม่ต้องต๊กกะใจ มันก็คือโรคเดียวกันนั่นแหละ แล้วไอ้โรคน่ากลัวโรคนี้มันเกิดได้ยังไง เรื่องมันก็มีอยู่ว่า...หลอดเลือดหัวใจของเราที่เลือดเคยไหลไปเลี้ยงหัวใจอย่างคล่องตัวนั้น มันดั๊นไม่ไหลปรู๊ดปร๊าดเหมือนเก่า เหตุก็จากมีการก่อตัวของ plaque ขึ้นที่ผนังหลอดเลือด แล้วไอ้ plaque ที่ว่านี้จะค่อยๆ พอกสะสมหนาขึ้นเรื่อยๆ จนช่องทางเดินของหลอดเลือดตีบแคบลงหรือถึงขั้นอุดตัน ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดได้

อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าต้องมีคนตะหงิดๆ ว่า plaque คืออะไร มาเป็นภาษาปะกิดยังงี้ ง้ง งง อธิบายง่ายๆ ก็คือ เมื่อการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดหัวใจเสียไปหรือเสื่อมสภาพลง ก็จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด เกิดเป็น plaque ขึ้น คล้ายกับการเกิดสนิมขึ้นในท่อประปา ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวกนั่นเอง


แล้วอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ไปดูกันค่ะ

เริ่มตั้ง “เพศ” โรคนี้เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิงถึง 3-5 เท่า ผู้ชายพออายุ 40 ปีขึ้นไปโอกาสเจอก็เริ่มแล้วล่ะ แต่ผู้หญิงโอกาสเจอจะยืดออกไปกว่าคืออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว
“กรรมพันธุ์” ใช่จะยอมน้อยหน้า ถ้าคุณมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ก่อนวัยอันควร ย่อมเสี่ยงกว่าคนที่เค้าประวัติขาวสะอาด ยิ่งถ้าเป็นผู้ชายแถมบวกประวัติทางพันธุกรรมเข้าไปอีก ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-20 เท่าเลยทีเดียว
“ไขมัน” นี่ล่ะตัวดีนักแล เพราะโอกาสเป็นจะแปรตามระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อย่างคนที่มีไขมันในเลือดสูง (มากกว่า 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) มีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่มีไขมันในเลือดต่ำ (ต่ำกว่า 175 มิลิลิกรัม/เดซิลิตร) ถึง 3-4 เท่าตัว
มี “ภาวะความดันโลหิตสูง”


สูบบุหรี่ี เรียกว่าเป็น “สิงห์อมควัน” ตัวฉกาจ
เป็น “เบาหวาน”
อ้วน
ไม่ออกกำลังกาย
การกิน – ดื่ม เช่น ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยขาด
เครียดเป็นประจำ


นี่เอาปัจจัยเสี่ยงแบบหลักๆ มาเลย ถ้าใครมีหลายๆข้อ...ก็เสี่ยงเป็นเยอะกว่าชาวบ้านเค้าล่ะ ดูๆ ไปแล้วก็มีหลายข้อที่ตัวเราเองสามารถปรับเปลี่ยนได้ ถ้าทำได้นี่โอกาสเสี่ยงลดลงไปเยอะเลยนะ แต่มีคนส่วนน้อยที่จะตระหนักตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับวังวนเดิม ๆ จนกว่าจะมีอาการมาสะกิดให้ตระหนกแล้วนั่นแหละ

อาการของคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นยังไง เป็นระยะแรกอาจยังไม่มีอาการ ด้วยหลอดเลือดยังตีบไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการ ก็ใช้ชีวิตเย้วๆ ลั้ลลากันต่อไป แต่ถ้าหลอดเลือดตีบแคบมากขึ้นจนเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทีนี้อาการจะมาล่ะ เช่น อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย มักเจ็บร้าวไปที่แขน คอ ขากรรไกร หรือหลัง รวมถึงมีอาการเหงื่อออกหรือใจสั่นร่วมด้วย แรกๆ ก็อาจเกิดอาการขณะออกกำลังกาย หรือ ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักๆ แต่ถ้าเป็นเยอะขั้นรุนแรงก็อาจเจ็บเองโดยที่ยังไม่ได้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอะไรที่หนักๆ เลยด้วยซ้ำ


ปกติคนไข้ที่เป็นโรคนี้อยู่ ก็จะคอยสังเกตอาการเจ็บหน้าอกที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และจะพกยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจชนิดอมใต้ลิ้นหรือชนิดสเปรย์ (Spray) ติดตัวไว้เสมอ เผื่อว่าเวลามีอาการเกิดขึ้นจะได้หยิบฉวยมาอมใต้ลิ้นหรือพ่นได้ทันท่วงที แต่บางคนไม่รู้ตัวว่าเป็นนี่สิ คือ ไม่เคยตรวจ ไม่เคยเอ๊ะ คิดว่าเป็นเพราะเครียด พักผ่อนไม่พอ ออกกำลังกายหักโหมไป บลาๆๆๆ ก็จะไม่ใส่ใจ จนบางทีอาการเกิดแบบปุบปับช่วยไม่ทัน ยังงี้อันตรายและน่าเสียดายค่ะ

ถ้ามีอาการแพลมๆ มาให้สงสัย หรือพิจารณาสี่ห้าตลบแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงมาครบ ถึงไม่ครบก็เกือบๆล่ะ ก็ควรไปพบหมอตรวจสุขภาพหัวใจดูบ้าง การตรวจมีตั้งแต่ขั้นพื้นฐานยันแอ๊ดวานซ์ จะได้ฟันธงได้ถูกว่าเป็น – ไม่เป็นยังไง หรือเป็นอย่างอื่น ถ้าแบบชัวร์สุดๆ ก็อาจต้อง “ฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ” ไปเลย วิธีนี้จะต้องสอดสายตรวจขนาดเล็กผ่านเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือหรือขาหนีบไปที่หลอดเลือดหัวใจ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีจำนวนเล็กน้อยเข้าไปแล้วเอกซเรย์บันทึกภาพของหลอดเลือดหัวใจแต่ละเส้นไว้ ซึ่งถ้ามีหลอดเลือดตีบก็จะสามารถตรวจพบได้อย่างชัดเจน


หากตรวจแล้วเป็นขึ้นมาจริงๆ ก็ขอให้ตั้งสติ เพราะโรคนี้มีทางรักษา ไม่ใช่หมดทางเยียวยา อย่าเพิ่งหมดหวังหมดอาลัยตายอยาก ก่อนอื่นเลยให้เลี่ยง ละ เลิก ไอ้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายแหล่ก่อน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีวิธีหลักๆ ได้แก่

การรักษาด้วยยา วิธีนี้จะใช้ในคนที่เป็นไม่มาก คุณหมอจะให้ยาช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งจะมีทั้งชนิดกินเป็นประจำ และชนิดอมใต้ลิ้น เช่น ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) ยาอมใต้ลิ้นนี้คนไข้จะต้องพกติดตัวตลอดเวลา และใช้อมเมื่ออาการเจ็บหน้าอกกำเริบจะช่วยให้หายเจ็บหน้าอกได้ทันที แต่ยาตัวนี้อาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัวได้ นอกจากนั้นก็มียาต้านเกร็ดเลือดเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ เช่น แอสไพริน ยาควบคุมโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง

การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน      วิธีนี้ขั้นตอนจะคล้ายฉีดสีหลอดเลือดหัวใจคือจะใส่สายสวนไปยังหลอดเลือดหัวใจ แต่สายนำที่ใช้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านในใหญ่กว่าสายตรวจที่ใช้ในการฉีดสี  เมื่อปลายสายนำอยู่ในหลอดเลือดหัวใจแล้ว คุณหมอจะสอดเส้นลวดขนาดเล็กกว่าเส้นผมผ่านสายนำเข้าไปจนกระทั่งปลายเส้นลวดผ่านเลยจุดตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจะใช้เส้นลวดเป็นแกนช่วยนำสายชนิดพิเศษที่มีบอลลูนติดอยู่ตรงปลาย ใช้ภาพเอกซเรย์ที่เห็นบนจอช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนให้ตรงกับจุดที่มีการตีบแคบของหลอดเลือด แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนกางออก แรงดันของบอลลูนจะผลักรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจให้เปิดกว้างทำให้เลือดไหลผ่านได้สะดวกขึ้น เสร็จแล้วจึงดึงบอลลูนออก

การขยายหลอดเลือดด้วยขดลวด ถ้าทำบอลลูนไปแล้วรอยตีบยังขยายได้ไม่กว้างพอ คุณหมอจะใส่ขดลวด เพื่อลดโอกาสเกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือด โดยจะนำสายสวนที่มีขดลวดอยู่ที่ปลายสายใส่เข้าไปยังบริเวณที่เคยตีบในลักษณะเดียวกับที่ใส่สายบอลลูน และขยายขดลวดให้ขดลวดกางออกไปสัมผัสและยึดติดกับผนังหลอดเลือด

การผ่าตัดทำบายพาส ถ้าไม่สามารถขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือขดลวดได้ คุณหมอก็จะหันมาเลือกวิธีนี้แทน โดยหลอดเลือดที่จะนำมาใช้ต่อหลอดเลือดหัวใจที่ตีบจะใช้หลอดเลือดทางผนังหน้าอก แขน หรือขา ของคนไข้เอง  คนไข้ต้องนอน รพ. ประมาณ 7 วัน และพักฟื้นประมาณ 1 เดือน



ทีนี้คงจะเก็ทไอ้คำที่ได้ยินกันบ๊อย บ่อย อย่าง บอลลูน ขดลวด บายพาส กันบ้างแล้วนะคะ หลังจากรักษาตัวแล้วก็ต้องดูแลตัวเองต่อด้วย ยังต้องเคร่งครัดที่จะเลี่ยง ละ เลิก พวกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กินยาตามหมอสั่งอย่างเคร่งครัด พกยาไนโตรกลีเซอรีนอมใต้ลิ้นติดตัวไว้เสมอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด หายใจเหนื่อย เหงื่อแตก หากมีอาการให้รีบอมยา แล้วหาหมอโดยด่วน 


วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โรคหัวใจ...ใกล้ตัวนี้ดเดียว

หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็กนะคะคู๊ณ จะได้อยู่ยงคงกระพัน ไม่เจ็บไม่ป่วย ยิ่งยุคนี้ด้วยแล้วเราใช้ชีวิตกันอย่างสุดติ่งไม่ค่อยบันยะบันยัง รูปแบบการกินก็เปลี่ยนไป หันไปแดกด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) กันซะเป็นส่วนมาก จัดเต็มทั้งแป้ง น้ำตาล ไขมัน คุณค่งคุณค่าไม่ต้องพูดถึง ออกกำลังกายก็ไม่ออก บอกไม่มีเวลา (แต่มีเวลานั่งแชททั้งวัน) อ้วน เครียด พักผ่อนไม่พอ เหล้ายาปลาปิ้งบุหรี่มาครบ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่สถิติคนเป็นโรคหัวใจจะพุ่งปรี๊ด แล้วจะบอกให้มีหนาวว่า ทุกวันนี้โรคหัวใจยังติดกลุ่มท็อปไฟว์โรคที่คร่าชีวิตคนไทยอยู่นะจ๊ะ แถมท้ายให้มีหนาวกว่าเดิม คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจยังมีอายุเฉลี่ยน้อยลงด้วย




เคยสงสัยกันมั้ยว่าไอ้คำว่า โรคหัวใจ ที่เรียกๆ กันเนี่ยมันหมายความว่ายังไง คำว่าโรคหัวใจไม่ใช่ชื่อโรคเฉพาะเหมือนอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อะไรพวกนั้น แต่เป็นคำกว้างๆ เหมือนเวลาที่เราพูดถึงโรคมะเร็งนั่นแหละ อย่างโรคมะเร็งก็จะมีแตกยิบย่อยเป็นมะเร็งได้สารพัด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับ, มะเร็งปอด เป็นต้น โรคหัวใจก็เหมือนกันจะเป็นการเรียกรวมๆ ของโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจทั้งหมด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคลิ้นหัวใจ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น

แต่ทีนี้ในไอ้บรรดาโรคหัวใจทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่เนี่ย มีโรคหนึ่งที่ดันแหลมออกมากว่าชาวบ้านเค้าจนถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยๆ นั่นก็คือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เพราะเป็นสาเหตุการตายมากเป็นอันดับหนึ่ง และคาดว่าสถิตินี้คงยากที่จะโดนทุบง่ายๆ แนวโน้มเป็นกราฟขาขึ้นไม่มีแผ่ว ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารก็คงเห็นคุณหมอออกโรงเตือนให้ระวังโรคหลอดเลือดหัวใจตีบยังงู้นยังงี้กันเป็นประจำ อ่านบ้างข้ามบ้างเพราะเจอบ่อยจนบางคนขี้เกียจจะอ่าน ทำให้ทุกวันนี้เวลาพูดถึงคำว่า โรคหัวใจ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกไพล่ไปถึงแต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเดียว แต่ก็เข้าใจค่ะ เพราะมันเจอบ่อยขึ้นจนน่าตกใจไง เป็นแล้วโอกาสตายก็มีสูง คนก็เลยจัดแจงเหมารวมชื่อให้เสร็จสรรพ ที่ต้องอธิบายมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าโรคหัวใจไม่ได้มีแค่โรคนี้โรคเดียว เดี๋ยวจะเข้าใจผิด


อ๊ะ เอ๊ะ แล้วคนกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงโรคหัวใจจะถามหา เอาเป็นว่าถ้าใครมีปัจจัย 3 ข้อนี้ร่วมกัน นั่นก็คือ (1) ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (2) มีความดันโลหิตสูง (3) สูบบุหรี่ บอกเลยว่าโอกาสเป็นสูงถึง 30-40 เท่าเลยทีเดียว และเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกถ้ายังมีปัจจัยอื่นมาช่วยเสริม ได้แก่ เป็นโรคเบาหวาน, อ้วน, ไม่ออกกำลังกาย , ดื่มแอลกอฮอล์, เครียด ส่วนกรรมพันธุ์ก็เข้ามามีเอี่ยวด้วยนะ อย่างถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโอกาสเป็นก็จะเพิ่มขึ้น และพบว่าเพศชายมีแนวโน้มเป็นมากกว่าเพศหญิง แต่คุณผู้หญิงก็อย่าเพิ่งกระดี๊กระด๊าไป ถ้าปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มีเพียบ หัวใจก็คงบอกไอก็ไม่ไหวนะยูได้เหมือนกันนะจ๊ะ

อ่านไปก็นั่งนับนิ้วไปด้วยนะว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงกี่ข้อ ถ้ามีหลายข้อก็หมั่นสังเกตร่างกายมั่งว่ามีอะไรผิดปกติบ้างมั้ย ปกติโรคหัวใจก็มักมีอาการเตือนล่วงหน้าให้รู้ เช่น เจ็บหน้าอก , เหนื่อยง่าย, ใจสั่น, หอบ, แน่นหน้าอก, นอนราบไม่ได้, ออกแรงแล้วจะเจ็บหน้าอก, เท้าบวม ฯลฯ ถ้ามีอาการที่ยกๆ มาข้างต้นก็ให้สะกิดใจเอาไว้บ้าง ไม่ใช่ยังเฉย บางคนหลอกตัวเองว่าคงเกิดจากความเครียดบ้างล่ะ พักผ่อนน้อยบ้างล่ะ ลองไปตรวจๆ สุขภาพดูบ้าง อาจโป๊ะเชะเจอเข้าให้ จะได้รีบหาทางแก้ไขได้ทัน โชคดีเท่าไหร่แล้วที่มีสัญญาณสะกิดเตือนให้รู้น่ะ บางคนเป็นแล้วแต่ยังเป็นน้อยๆ หรือเพิ่งเป็นระยะแรก พวกนี้ไม่มีอาการผิดปกติอะไรบ่งบอกเลยนะ ก็อาจชะล่าใจปล่อยจนเป็นมาก แนะนำว่าถ้าคิดว่าตัวเราเองนี่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน หรืออายุเริ่มมากขึ้น อยากตรวจให้รู้ว่ามีโรคหัวใจแฝงอยู่หรือเปล่า ก็ไปปรึกษาหมอตรวจสุขภาพซะ


การตรวจไม่มีอะไรน่ากลัว เจ็บหน่อยก็แค่เจาะเลือดไปตรวจ อาจมีตรวจพิเศษอย่างอื่นตามที่คุณหมอเห็นสมควร ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็มักจะเป็น 3 วิธีนี้ ได้แก่ (1) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG (2) ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ ECHO (3) ตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ Exercise Stress Test อันหลังนี้เป็นวิธีที่ต้องเดินหรือวิ่งบนสายพานนั่นแหละ ส่วนจะต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่นๆ อีกหรือไม่คุณหมอจะพิจารณาเอง ถ้ายังไม่จำเป็นเพราะแค่วิธีพื้นฐานที่ว่ามาก็พอจะประเมินได้ ก็ไม่ต้องเสียสะตุ้งสตางค์ให้สิ้นเปลือง แต่ถ้าจำเป็นเดี๋ยวนี้มีเทคนิคที่ทันสมัยหลายอย่างที่ให้ผลการตรวจที่แม่นยำ เช่น การทำ CT Scan แต่ถ้าจะเอาชัวร์คุณหมออาจแนะนำสวนหัวใจและฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจภายในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ที่เรียกว่า CATH LAB เลยก็ได้    


จริงๆ คุณผู้อ่านก็คงไม่อยากพาตัวเองไปถึงจุดที่ต้องทำอะไรเยอะแยะขนาดนั้นกันหรอกว่ามะ แล้วทำไมไม่หันมาดูแลหัวใจของตัวเองก่อนฝากไว้ในมือหมอกันล่ะ วิธีดูแลง่ายๆ แต่ต้องมีวินัยในการทำมีดังนี้
· กินอาหารที่มีไขมันต่ำ ลดของทอด ของมัน ยิ่งถ้ามีปัญหาไขมันในเลือดสูงเป็นทุนเดิมยิ่งต้องระวัง
·  ใครรู้ตัวว่าเป็นสิงห์อมควันก็งดซะ
·   ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
·   อย่าให้อ้วน รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
·   ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
·   ลดความเครียดลง

·   ตรวจสุขภาพเป็นประจำ 


วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ก้อนเนื้อที่เรียกว่า “หัวใจ”

        วันนี้ไม่ได้เปลี่ยนแนวมาพูดถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ใสๆ หัวใจกิ๊บกิ๊วๆ อะไรยังงั้นหรอกนะ อย่าเข้าใจผิด แม้คำว่าหัวใจพูดถึงทีไร เป็นต้องเอนเอียงไปทางนั้นตลอดก็เหอะ เรื่องที่หยิบยกมาฝากกันในตอนนี้จะเกี่ยวกับอวัยวะมหัศจรรย์ที่ไม่เคยหยุดเต้นดวงนี้จริงๆ 



        ว่ากันว่า ใครอยากรู้ว่าหัวใจตัวเองมีขนาดประมาณไหน ก็ให้ลองกำมือดู ขนาดของกำปั้นที่เห็นนั่นแหละคือขนาดของหัวใจที่คนๆนั้นมี 

        ทำไมถึงบอกว่าหัวใจเป็นอวัยวะ “มหัศจรรย์” ก็ถ้าไม่ใช้คำนี้ก็ไม่รู้จะไปขุดหาคำไหนที่ดีกว่านี้มาใช้แล้วล่ะ เพราะหัวใจที่เป็นก้อนเนื้อเล็กๆ นี่แหละที่แบกภารกิจเอาไว้ยิ่งใหญ่มากๆ ถ้านึกไม่ออกว่าหัวใจสร้างคุณงามความดีให้กับตัวเรายังไง ก็ขอเฉลยให้รู้ตรงนี้


ถ้าจะเปรียบหัวใจคนเราว่าเหมือนกับอะไร ก็คงต้องบอกว่าเหมือน “เครื่องปั๊มน้ำ” แต่ที่พิเศษคือเครื่องนี้ไม่ต้องซดน้ำมันเพราะเป็นปั๊มธรรมชาติ ที่สำคัญมีความทนทานสุดๆ ลองนึกดูก็แล้วกันว่า วันๆหนึ่งหัวใจคนเราต้องเต้นมากกว่าหนึ่งแสนครั้ง  และปั๊มเลือดถึง 11,820 ลิตร ฟังยังงี้แล้วอึ้งกันมั้ยล่ะ แต่ถ้าคำนวณตลอดชั่วอายุของคนเราแล้วล่ะก็ หัวใจจะเต้นเฉลี่ยมากกว่า 2,500 ล้านครั้ง และระหว่างการเต้นแต่ละครั้งหัวใจยังหยุดพักไม่เคยเกินเสี้ยววินาที เอ้า...ทีนี้อนุญาตให้อ้าปากค้างได้


แล้วหัวใจเต้นหรือบีบตัวปั๊มเลือดได้ยังไง สงสัยกันล่ะสิ การทำงานบีบตัวของหัวใจเกิดขึ้นได้เพราะมีกลุ่มเซลล์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ 60 - 100 ครั้งต่อนาที โดยกระแสไฟฟ้าจะเดินทางไปตามเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการบีบตัวเอาเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่กลุ่มเซลล์เหล่านี้ หรือมีความผิดปกติของการส่งกระแสไฟฟ้า หัวใจของคนเราก็จะเต้นผิดปกติ คือ อาจจะเร็วขึ้นหรือช้าลงได้ เรียกว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะตรวจพบได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือจากการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง


 ภาวะที่จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ บางครั้งช้าบางครั้งเร็ว ฟังแล้วก็ชวนให้วิตกอยู่ไม่น้อย และคนส่วนใหญ่ก็มักคิดว่าสาเหตุจะต้องร้ายแรงเสมอไป เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่มีภาวะนี้มักจะมีความผิดปกติของหัวใจหรือโรคบางอย่างอยู่ก่อน    เช่น   โรคหัวใจขาดเลือด,   ลิ้นหัวใจรั่วจากไข้รูมาติค, คอพอกเป็นพิษ หรือบางคนอาจเกิดจากพิษของยาซึ่งใช้รักษาภาวะหัวใจวาย


แต่ความจริงแล้วสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่ร้ายแรงอย่างที่กล่าวมาก็ได้ อาจพบเป็นปกติในคนสูงอายุ ใครเคยดูแลคนเฒ่าคนแก่อาจเคยได้ยินแกบ่นๆ ให้ฟังว่ารู้สึกเหนื่อย ใจสั่นอะไรทำนองนี้ แต่ก็ต้องระวัง ด้วย อย่าวางใจว่าเป็นเรื่องปกติทั้งหมด เพราะถ้าคนที่แก่มากๆ แล้วมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าเพียง 30 - 40 ครั้งต่อนาที หรือมีภาวะหัวใจเต้น ๆ หยุด ๆ โดยหยุดนานเกินกว่า 2.5 วินาที ก็อาจมีอาการวูบ ๆ หน้ามืด หรือ หมดสติได้ ก็ต้องสังเกตสังกาอาการกันดีๆ ถ้าไม่แน่ใจก็รีบพาไปหาหมอ


สำหรับอาการของคนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเป็นยังไง ก็จะรู้สึกอ่อนเพลียและใจสั่น เหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอกข้างซ้าย ถ้าตรวจร่างกายจะพบว่า ชีพจรมักจะเต้นไม่สม่ำเสมอ อาจต่ำกว่า 40 ครั้งต่อนาทีหรือมากกว่า 140 ครั้งต่อนาที เสียงหัวใจจะดังไม่เท่ากันและไม่เป็นจังหวะ ถ้าไม่มีสาเหตุร้ายแรง ชีพจรอาจเต้นไม่เป็นจังหวะเป็นครั้งคราวหรือนานๆ ที แต่ถ้ามีสาเหตุร้ายแรง นอกจากอาการจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แล้ว ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นเป็นลม ชักหรือหัวใจวายได้เลย


อ่านแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำเล่นๆ ได้ หัวใจก็มีวันเหนื่อยวันล้า ดังนั้น ถ้าใครมีอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างที่ว่ามา ก็ใส่ใจมันซักนิด ไปหาหมอตรวจหาสาเหตุ จะต้องปฏิบัติตัวยังไง รักษายังไงก็ว่ากันไป ยิ่งถ้ามีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคประจำตัวบางอย่างอยู่เดิม ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เครื่องปั๊มเลือดอย่างหัวใจจะได้ปั๊มเลือดเลี้ยงร่างกายโดยไม่สะดุดไปซะก่อน


วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เล็กไป...ใหญ่ไป กลุ้มใจจัง!

        จะอะไรซะอีกล่ะ ก็หน้าอกของผู้หญิงเรานี่แหละ เล็กไปก็ทำเสียเซลฟ์ ใหญ่โตมโหฬารเกินไปก็ชวนให้หนักใจ แต่ว่าสมัยนี้แล้วคงเบาใจกันได้เยอะเพราะมีทางออกสวยๆ ด้วยการทำศัลยกรรม เล็กเกินก็ไปเสริม ใหญ่เกินก็ไปตัดออก เว้นแต่ว่าจะเป็นโรคกลัวมีดกลัวผ่าตัดขึ้นสมอง ก็คงต้องพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ต่อไป


             มาว่ากันที่สาวอกเล็กก่อน แหม่...เวลามีใครมาทักว่า “อกไข่ดาว” บ้างล่ะ “หันหน้าหันหลังดูแล้วไม่แตกต่าง” บ้างล่ะ โอ๊ย มันก็มีปรี๊ดเหมือนกันนะ สาวบางคนมีมาพอประมาณแต่ยังรู้สึกว่าไม่พอใจก็มี จะมาแบบไหนสรุปก็คือ หลายคนอยากเพิ่มขนาดหน้าอกให้มันใหญ่กว่าเดิม เดี๋ยวนี้สถานเสริมความงามที่ให้บริการผ่าตัดเสริมหน้าอกมีเยอะมาก ก็ต้องเลือกกันให้ดีๆ หมอไว้ใจได้มั้ย ฝีมือ ประสบการณ์ สถานที่เครื่องไม้เครื่องมือสะอาด ปลอดภัยมั้ย คิดว่าผู้หญิงเราคงไม่มีใครอยู่ดีๆ ก็เดินดุ่มๆ ไปขึ้นเขียงให้หมอผ่าโดยไม่ศึกษาข้อมูล แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเตือนกันไว้ก่อน




ทำไมต้องเตือนต้องดักไว้ก่อน บอกเลยว่าถึงการเสริมอึ๋มสมัยนี้ ข้อมูลจะเป็นที่รู้กันในวงกว้าง คือหมอจะผ่าโดยการเสริมด้วยถุงซิลิโคน แต่ก็ยังมีวิธีผิดๆ หลงหลุดรอดมาให้ได้ยินข่าวอยู่ประปราย อย่างการฉีดซิลิโคนเหลวเข้าไปเพิ่มขนาดหน้าอกนี่บอกเลยยังมีอยู่ ฉีดระยะแรก ๆ ก็ดูสวยดีหน้าอกขยายสมใจแต่ระยะยาวเกิดปัญหาทุกราย ไม่ว่าจะการอักเสบ การไหลของซิลิโคนเหลวจนเกิดการผิดรูป บิดเบี้ยว เป็นก้อนแข็ง หรือถึงขั้นเน่าเฟะ ต้องตัดเต้านมทิ้ง ฉะนั้นถ้าอยากเสริมอึ๋มเซย์โนวิธีฉีดเด็ดขาดนะคะ


ถ้าอยากเสริมหน้าอกควรปรึกษาหมอที่ทำด้านนี้โดยตรง โดยการเสริมจะใช้ซิลิโคนหรือถุงนมเทียม ซึ่งว่ากันว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ ปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย สำหรับถุงซิลิโคนจะมี 2 แบบ คือ แบบที่บรรจุด้วยน้ำเกลือ แบบนี้จะเป็นถุงเปล่า ๆ แล้วคุณหมอจะมาฉีดน้ำเกลือบริสุทธิ์เข้าไปจนได้ขนาดที่คนไข้ต้องการ ส่วนอีกแบบจะเป็นชนิดที่บรรจุด้วยซิลิโคนเจลมาสำเร็จรูปเลย รูปทรงของถุงนมเทียมก็มีทั้งแบบทรงกลม และรูปทรงหยดน้ำ (ที่ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมชาติให้รูปทรงหน้าอก) ส่วนผิวนอกของถุงนมเทียมก็มีแบบผิวเรียบสนิท และแบบผิวขรุขระเหมือนผิวทราย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิดพังผืดรัดเต้านมได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้คนไข้เองก็ต้องป้องกันการเกิดพังผืดด้วย “การนวดหน้าอก” ด้วย อันนี้เลี่ยงไม่ได้ แต่จะนวด...ตอนไหน...ยังไง...มากน้อยแค่ไหน...ในถุงนมเทียมแต่ละแบบเดี๋ยวคุณหมอจะแนะนำเอง การหมั่นนวดคลึงหน้าอกก็เพื่อให้ถุงนมเทียมสามารถเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ลดการเกิดพังผืดรัดถุงเต้านม  การนวดควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี นานหน่อยแต่เพื่อเต้านมที่สวยงามก็อดทนเข้าไว้

สำหรับขนาดของถุงซิลิโคนที่จะเสริมอึ๋ม คุณหมอก็มักแนะนำขนาดที่เหมาะสมกับหน้าอก ถ้าเล็กไปก็ไม่รู้จะเสริมไปเพื่อ? ถ้าใหญ่ไปก็ล้นทะลักจนอาจไม่น่าดู แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความต้องการคนไข้ล่ะนะ บางคนพอใจให้ใหญ่ๆ ไปเลย ก็ต้องคุยกับคุณหมอ


การผ่าเสริมอกสามารถเปิดแผลที่จะใส่ซิลิโคนเข้าไปได้หลายทาง เช่น รักแร้ ปานนม หรือใต้ราวนม แต่ถ้านิยมที่สุดก็เห็นจะเป็นทางรักแร้นั่นแหละ จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลเป็นก็เอาไปซ่อนแถวรักแร้ซะ สำหรับผลข้างเคียงของการเสริมอึ๋มก็เหมือนการผ่าตัดทั่วไป เช่น แผลอักเสบ อาการเจ็บปวดบวมช้ำที่บริเวณหน้าอกในระยะแรก แต่ก็มักจะหายได้ในเวลาไม่นานนัก ส่วนการตึงแข็งและเกิดพังผืดล้อมถุงนมเทียมก็ป้องกันด้วยการนวดเต้านมอย่างที่บอกไป อีกอาการหนึ่งที่อาจเจอได้หลังผ่าตัดช่วงระยะแรก ๆ คือ อาการชาที่ปานนม หัวนม ก็คุณหมอเล่นไปเลาะไปแหวกช่องเพื่อวางถุงนมก็อาจจะมีการดึงรั้งเส้นประสาทที่เลี้ยงหัวนมและปานนมได้ แต่ประมาณ 2 – 3 เดือน อาการก็มักจะดีขึ้นเอง

อ้อ...มีอกสวยอกอึ๋มแล้วก็ยังต้องหมั่นตรวจดูเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ นอกจากจะเป็นการตรวจดูโรคของเต้านมก็อาจเกิดขึ้นได้ตามปกติแล้ว ยังเป็นการเช็คว่าถุงซิลิโคนยังโอเคอยู่หรือเปล่า หากตรวจแล้วดูทะแม่งๆ ไม่แน่ใจก็ควรกลับไปให้คุณหมอเช็คดู แม้ว่าโอกาสที่ถุงซิลิโคนจะเกิดปัญหารั่วหรือฉีกขาดพบได้น้อยมากก็ตาม

ใช่แต่สาวอกเล็กที่เจอปัญหา คนอกใหญ่ก็มีเรื่องชวนปวดหัวเหมือนกัน หลายคนอาจจะคิดว่า อ้าว...อกใหญ่ไม่ดีเหรอ ใครๆ ก็อยากอกใหญ่ทั้งนั้นถึงได้ยอมเสียเงินเสียทองเสริมให้อึ๋มอยู่นี่ไง คือถ้ามันใหญ่พอดีมันก็ดีนั่นแหละ ทีนี้มันดันใหญ่เกินพอดีไง เรียกว่าใหญ่โตมโหฬารจนเทอะทะ มีไม่เยอะหรอกค่ะที่จะชอบ เพราะกลายเป็นเป้าสายตา ใครเห็นเป็นต้องวิจารณ์ พูดเลยว่าเสียสุขภาพจิต แต่ถ้าชอบเป็นจุดเด่นอันนั้นก็ไม่ว่ากัน

ส่วนผลทางกายก็ใช่น้อย คิดดูว่าการที่ต้องแบกเต้าหนักๆ อยู่ตลอดเวลา ก็อาจมีอาการปวดคอ ปวดหลังได้ บางคนอาจมีอาการชาบริเวณปลายมือ นิ้วก้อย เพราะน้ำหนักเต้านมไปดึงรั้งแผงกล้ามเนื้อหน้าอก ทำให้เกิดการกดเบียดของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงแขนและมือ บางทีก็พบการอับ ชื้นแฉะ แผลถลอกหรือเป็นเชื้อราบริเวณเนื้อหน้าอกใต้ราวนมที่เกิดจากการถูไถได้ ครั้นใส่เสื้อยกทรงช่วยพยุงเต้า ปัญหาก็ตามมาอีก ด้วยน้ำหนักเต้านมที่เยอะ สายบราก็เลยต้องรับบทหนัก ถ้าถอดบราแล้วเห็นร่องกดทับบริเวณบ่า แผลถลอกหรือแผลเป็น ๆ หาย ๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะ แหม...ฟังอย่างนี้แล้วยังจะมีใครนึกอิจฉาคนอกโตกันบ้างมั้ยน้อ


ก็เพราะอกโตจนสร้างปัญหานี่แหละ ถึงต้องมีการผ่าตัดลดขนาดเต้านมลง แก้กันตรงจุดไปเลย ใหญ่นักก็ตัดออกไปซะ ซึ่งคุณหมอจะแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่มตามอายุ ถ้ายังเอ๊าะๆ เป็นวัยรุ่นวัยสาว กลุ่มนี้ขนาดเต้านมที่ใหญ่จะเป็นเนื้อต่อมเต้านมล้วน ๆ ลักษณะตั้งเต้าได้รูปทรง ผิวหนังไม่หย่อนยานมาก อาจมีไขมันรอบเต้านมมากด้วย ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนที่มีลูกแล้วหรืออายุเยอะ ซึ่งเต้านมที่มีขนาดใหญ่จะมีเนื้อเต้านมเหลวหย่อนยาน ไม่เต่งตึงและคล้อยห้อยลงมากกว่าปกติ กลุ่มหลังนี้การผ่าตัดจะเป็นการแก้ไขการที่เต้านมหย่อนยานนั่นเอง

ต้องบอกให้เตรียมใจก่อนเลยว่า ถ้าขนาดเต้านมที่ต้องการลดเยอะมาก คุณหมอก็ต้องตัดเนื้อเต้านมออกไปมาก แผลเย็บก็จะมีขนาดยาวและมาก เป็นรูปร่างคล้ายตัว T หัวกลับ หรือสมอเรือ จะมาซ่อนแผลผ่าตัดตามรักแร้หรือปานหัวนมอย่างการเสริมอกทำไม่ได้ค่ะ เว้นแต่จะลดขนาดไม่มากก็อาจผ่าตัดเข้าเฉพาะที่ปานหัวนมอย่างเดียว ยังงั้นก็พอไหว ดังนั้น ก่อนทำต้องทำใจยอมรับรอยแผลเป็นที่จะต้องมีแน่ ๆ ให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องตำแหน่งของหัวนมใหม่ คุณหมอก็จะผ่าเลื่อนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม


หลังผ่าตัดก็อย่างการผ่าตัดทั่วไปนั่นแหละ ที่จะมีอาการฟกช้ำที่หน้าอกและอาการปวดบ้าง แต่ประมาณ 2 อาทิตย์ก็ดีขึ้น และถ้าไม่มีผลแทรกซ้อนอื่นประมาณ 1 – 2 เดือน รูปทรงของเต้านมใหม่ก็จะเข้าที่เข้าทาง ส่วนแผลผ่าตัดก็ต้องใช้เวลาให้มันจางหายไปตามกาลเวลา เว้นว่าบางคนแผลผ่าตัดดันปูดนูนขึ้นมา คุณหมอก็จะมีคำแนะว่าควรดูแลยังไง  ส่วนภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลอักเสบ แผลแยก หัวนมลอก อาการชาที่หัวนม แผลเป็นปูดนูน หรือขนาดเต้านมและระดับหัวนมไม่เท่ากัน อาจพบได้บ้าง จะแก้ยังไงก็คงได้แต่แนะนำว่าต้องเลือกหมอที่เชี่ยวชาญจริงๆ

ผ่าเสร็จแล้วเบาอกขึ้นเยอะ ก็อย่าลั้ลลาโนบรามันซะเลย หลังผ่าตัดให้ใส่บราประคองเต้าเอาไว้ตลอดเวลาก่อนป้องกันไม่ให้แผลแยก หลังจากนั้นก็ควรใส่ยกทรงประคองไว้เพื่อให้ความยืดหย่อนยานกลับมาเยือนช้าที่สุด แหม่...อุตส่าห์เจ็บตัวทั้งทีก็ให้คุ้มสักหน่อย



                

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คัด (ตึง) อก...ยกออกไงดี

คัดตึงหน้าอก เจ็บตึงเต้านม จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องเคยมีประสบการณ์กันบ้างล่ะ เอ้า ถ้าคิดไม่ออก ก็ช่วงนั้นของเดือนไง การมีรอบเดือนที่เป็นเรื่องปกติของผู้หญิงเรา ก็มักมีอาการก่อนมีรอบเดือนที่ชวนหงุดหงิดใจไม่มากก็น้อย และอาการหนึ่งที่พบได้ก็คือ “อาการเจ็บคัดตึงเต้านม”


อาการปวดคัดตึงเต้านมเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศ 2 ตัวในร่างกาย คือ เอสโตรเจน (estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (progesterone) ซึ่งในช่วงก่อนมีรอบเดือนระดับฮอร์โมนสองตัวนี้จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต่อมน้ำนมมีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม และมีการคัดคั่งของของเหลวในร่างกายมากขึ้น ก็จะสังเกตเห็นเลยว่าเต้านมขยายขนาดขึ้น และมีอาการคัด ตึง และปวดได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามันรู้สึกไม่สุขสบายจริงๆ ทำไม้ ทำไม ถึงได้คัดตึงมากนักก็ให้ปฏิบัติดังนี้

·  ช่วงนี้ให้งด ชา กาแฟ ช็อคโกแลต ไปก่อน จะช่วยลดการคัดคั่งของของเหลวในร่างกายลงได้ในระดับหนึ่ง

·  ลดอาหารมัน ทานวิตามินเสริม เช่น น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส, วิตามิน บี 6 และวิตามิน อี ก็พอช่วยได้อยู่

·  งดสูบบุหรี่

·  ประคบร้อนบริเวณหน้าอกที่ปวดได้ แต่ให้ประคบเบาๆ ล่ะ

·  ถ้าปวดตึงมากกินยาแก้ปวดบรรเทาได้

·  ใส่ยกทรงช่วยพยุงหน้าอก ควรเลือกให้ขนาดพอดีกับเต้า ไม่หลวมไปหรือคับจนบีบรัดเกินไป




คุณแม่ตั้งครรภ์ก็มีปัญหาคัดตึงเต้านมได้เช่นกันค่ะ ก็แหม่...ช่วงนี้เต้านมกำลังเตรียมพร้อม เพื่อสร้างน้ำนมให้กับลูกน้อย เต้านมจะมีการขยายใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บและคัดตึงเต้านมตามมาได้ แก้ปัญหาก็โดยการสวมเสื้อยกทรงที่เหมาะสม เวลาที่คุณแม่ขยับเขยื้อนหรือเคลื่อนไหวร่างกายจะได้ช่วยประคับประคองเต้านมไม่ให้เจ็บมากจนเกินไป ควรเลือกเสื้อยกทรงที่ผลิตจากผ้าฝ้ายหรือเส้นใยสังเคราะห์ที่มีความอ่อนนุ่ม ไม่คับหรือรัดแน่นจนเกินไป ไม่ควรมีโครง หรือถ้ามีก็ไม่ควรแข็งเกินไป พวกลูกไม้ประดับเยอะแยะก็เลี่ยงไปก่อน ไม่งั้นอาจทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมเกิดอาการระคายเคืองได้ ก็ให้อดทนสักนิดพอหลังจาก 3 เดือน ไปแล้ว อาการเจ็บตึงเต้านมจะหายไปเอง




พอถึงระยะหลังคลอดให้นมลูก ปัญหาคัดตึงเต้านมก็เกิดขึ้นได้อีก แต่คราวนี้อาจหนักหน่อย ถึงขั้น “เต้านมอักเสบ” กันเลยทีเดียว มักเกิดกับคุณแม่ที่ให้นมลูกเอง โดยการอักเสบอาจเกิดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ สาเหตุเกิดจากการที่หัวนมมีรอยแตก ถลอก ซึ่งส่วนมากเกิดจากการให้ลูกดูดนมนานเกินไปก่อนที่น้ำนมจะถูกสร้างขึ้นมา การบีบนวดมากๆ ก็ทำให้เกิดได้ เช่น ในระยะแรกที่มีเลือดและน้ำเหลืองมาคั่งที่เต้านม คุณแม่ก็จะพยายามบีบเค้นน้ำนมออกเพื่อหวังลดอาการคัด ซึ่งการบีบในระยะนี้ยังไงก็ไม่มีน้ำนมออกมาแถมยังเร่งให้เกิดเต้านมอักเสบอีก การที่ลูกดูดนมไม่หมดเต้า อาจเพราะดูดไม่แรงพอหรือท่อน้ำนมอุดตันทำให้น้ำนมผ่านออกมาไม่ได้ ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดเต้านมอักเสบได้เช่นกันค่ะ


คุณแม่ที่เต้านมอักเสบจะมีอาการปวด บวม ผิวหนังแดงและร้อน ที่หัวนมอาจมีน้ำเหลืองคล้ายหนองไหลออกมา อาจมีไข้ต่ำๆ ด้วย ถ้ามีการติดเชื้อซ้ำอาจทำให้เกิดเป็นฝีขึ้นได้ แต่การติดเชื้อมักอยู่เฉพาะบริเวณที่เป็นฝี อ่านอาการแล้วก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป แม้ว่าเต้านมอักเสบจะทำให้รู้สึกเจ็บขณะให้นม แต่โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องหยุดการให้นม ส่วนการดูแลคุณแม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมักหายได้ไม่ต้องพึ่งหมอ เว้นในบางกรณี เช่น ถ้ามีฝี อาจจำเป็นต้องหยุดให้นมและเจาะเอาหนองออกก่อน การดูแลเมื่อเต้านมอักเสบให้ปฏิบัติดังนี้ ให้ประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำร้อนประมาณ 10 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง และก่อนให้ลูกดูดนม เพื่อลดอาการปวดและทำให้น้ำนมไหลสะดวก ถ้ามีอาการปวดให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตตามอล ถ้ามีไข้ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ส่วนการป้องกันการเกิดเต้านมอักเสบ ให้ทำความสะอาดหัวนมให้เพียงพอ และให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี