วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เมื่อฟันลาก่อน...ฟันปลอมต้องมา


“เหงือกจ๋าฟันลาก่อน”

คงไม่มีใครอยากให้คำพูดนี้เป็นจริง แต่พอคนเราแก่ตัวการสูญเสียฟันแท้ไปอย่างถาวรย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงเห็นคนแก่ที่ฟันฟางหลุดร่วงหมดปากต้องพึ่งฟันปลอมทำหน้าที่แทนในการบดเคี้ยวอาหาร แต่บางคนยังหนุ่มยังสาวอยู่แท้ๆ ดันมีเหตุให้ต้องสูญเสียฟันไปก่อนวัยอันควรก็มี เช่น ตอนฟันยังดีอยู่ไม่ใส่ใจดูแลจนฟันผุกร่อนเกินเยียวยาต้องถอนทิ้งไป ทีนี้ปัญหาก็บังเกิดสิคะ พอฟันหายไปทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันก็อาจเกิดฟันล้มได้ หรือใครที่ฟันหน้าหายไปสักซี่ ยิ้มทีฟันหลอโชว์หรา อย่างนี้เสียทั้งหน้าเสียทั้งความมั่นใจกันเลยทีเดียว กรณีอย่างนี้ก็ถึงเวลามองหาตัวช่วยอย่าง ฟันปลอม แล้วค่ะ


คำว่าฟันปลอมได้ยินกันมานาน บ้านไหนมีคนเฒ่าคนแก่ก็จะคุ้นชินเวลาเห็นคุณตาคุณยายหยิบมาใส่ ส่วนฟันปลอมรูปแบบอื่นถ้าไม่มีประสบการณ์เคยใส่มาก่อนอาจไม่คุ้นหูคุ้นตาเท่าไหร่ งั้นมาทำความรู้จักฟันปลอมกันสักนิด เผื่อว่าสักวันมีโอกาสพึ่งบริการจะได้ไม่งงเป็นไก่ตาแตก

ฟันปลอมนับเป็นฟันชุดที่สามของชีวิต ฟันชุดแรกก็คือ ฟันน้ำนม ถัดมาเป็นฟันแท้ หมดจากนั้นก็หนีไม่พ้นฟันปลอมนี่ล่ะค่ะ


โดยปกติฟันปลอมจะมี 2 ชนิด คือ (1) ฟันปลอมชนิดถอดได้ และ (2) ฟันปลอมชนิดติดแน่น สองชนิดนี้ต่างกันยังไงไปดูกัน

ฟันปลอมชนิดถอดได้

อย่างชื่อบอกนั่นแหละ ฟันปลอมชนิดนี้คุณสามารถถอดเข้าถอดออกได้ทุกเวลา คือจะถอดทำความสะอาดล้างขัดถูตอนไหนก็ได้ ส่วนตอนกลางคืนเวลานอนก็ถอดแช่น้ำไว้ อย่าใส่นอนเพราะถ้าชิ้นฟันเล็กอาจหลุดลงคอเป็นอันตรายได้ ฟันปลอมชนิดนี้ถ้าเทียบกับฟันปลอมชนิดติดแน่นราคาต่อชิ้นจะถูกกว่า  คือประมาณหลักพันถึงหลักหมื่นต้น ๆ เท่านั้น และจุดเด่นอีกอย่างของฟันปลอมชนิดถอดได้คือ คุณหมอจะกรอแต่งเนื้อฟันธรรมชาติข้างเคียงน้อย โอกาสเสียวฟันจึงน้อยตามไปด้วย

แต่ข้อด้อยของฟันปลอมชนิดถอดได้ก็มี นั่นคือ ชิ้นของฟันปลอมที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้ไม่สะดวกสบายเวลาจะใส่  ใส่แล้วรู้สึกรำคาญ การถอดออกมาล้างทำความสะอาดทุกวันนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่บางคนไม่ปลื้ม แถมบางครั้งอาจเห็นตะขอด้วยเวลายิ้ม โอวว...เกินทำใจยอมรับได้ ซึ่งก็ทำให้บางคนหันไปเลือกฟันปลอมชนิดติดแน่นแทนแม้ราคาจะสูงกว่าก็ตาม

สำหรับฟันปลอมชนิดถอดได้จะมี 2 แบบ คือ

ฟันปลอมแบบเต็มปาก
ฟันปลอมแบบเต็มปาก สำหรับคนที่สูญเสียฟันแท้ไปหมดทั้งปาก อย่างผู้สูงอายุที่เหลือแต่เหงือก ก็ต้องใส่ฟันปลอมแบบเต็มปากนี่ล่ะค่ะ ลักษณะของฟันปลอมแบบนี้จะแยกชิ้นบน – ชิ้นล่าง โดยฐานจะเป็นอะคริลิคสีเหมือนเหงือก ถ้าใครเคยสังเกตจะเห็นว่าฟันปลอม 2 ชิ้นบน – ล่าง จะมีลักษณะต่างกัน ชิ้นบนจะมีฐานให้ไปติดกับเพดานปากได้ ส่วนชิ้นล่างลักษณะจะเหมือนเกือกม้า ซึ่งในการผลิตคุณหมอฟันจะพิมพ์ปากของคนไข้แล้วนำไปทำเป็นฟันปลอมในห้องปฏิบัติการทันตกรรม จึงเป็นชิ้นงานเฉพาะสำหรับคนไข้แต่ละคน โดยตัวฐานเหงือกของฟันปลอมจะติดพอดีกับเหงือกของคนไข้เท่านั้น บอกเลยงานนี้หมดสิทธิ์ยืมกันใช้นะคะ จริงๆแล้วก็ยืมกันใช้ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมแบบไหน เพราะการเรียงตัวของฟันแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว 

โดยทั่วไปฟันปลอมแบบทั้งปากจะใส่หลังจากฟันถูกถอนออกหมดและเนื้อเยื่อฟื้นตัวดีแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน คนไข้จึงต้องทนไม่มีฟันเคี้ยวไปสักพักก่อน แต่ถ้าไม่ชอบรอก็มีฟันปลอมทั้งปากแบบทันที ให้ได้เคี้ยวอาหารแบบชิลๆ แต่อะไรที่เร่งด่วนก็มีข้อเสียค่ะ อย่างที่บอกไปว่าหลังฟันถูกถอนออกหมดเนื้อเยื่อต้องมีการฟื้นตัว อย่างกระดูกที่รองรับฟันก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่ฟื้นตัว ถ้าทำฟันปลอมทันทีก็ทำให้ฟันปลอมหลวมได้ คนไข้ก็ต้องมาปรับเปลี่ยนฟันปลอมหลังจากใส่ไปแล้ว


ฟันปลอมแบบบางซี่ี
ฟันปลอมแบบบางซี่ เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เจอปัญหาฟันโบกมือลาก่อนวัยอันควร ซึ่งคนเหล่านี้อาจสูญเสียฟันไปบางซี่ หรือหลายซี่ แต่ไม่ได้หายวับไปหมดทั้งปากเหมือนแบบแรก ถ้าอยากใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นแต่ติดปัญหาเม็ดเงินในกระเป๋า การแก้ไขด้วยการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้เป็นทางเลือกที่แนะนำ ถึงจะไม่ชอบที่ต้องใส่ๆ ถอดๆ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ช่องฟันโหว่อยู่ เสี่ยงฟันล้มแถมยังเสียบุคลิกภาพ สำหรับฟันปลอมบางซี่ชนิดถอดได้ที่นิยมกันมี 2 แบบคือ แบบฐานอคริลิก และแบบฐานโลหะ

ถ้าเป็นฐานอคริลิกราคาจะถูกกว่าแบบฐานโลหะ  ซ่อมแซมได้ง่าย แถมเติมฟันเพิ่มได้ด้วยถ้ามีการถอนฟันเพิ่มในอนาคต แต่ก็ต้องระวังเรื่องการแตกหัก ส่วนแบบฐานโลหะ สบายใจได้เรื่องความแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย  ใส่ก็สบายกว่าไม่น่ารำคาญเพราะมีความบาง แต่ราคาก็สูงกว่าด้วย ปกติฟันปลอมทั้ง 2 แบบนี้จะมีตะขอช่วยเสริมยึดฟันปลอมกับฟันจริง ทำให้เสียความสวยงามไปบ้าง คือเวลายิ้มอาจจะเห็นตะขอเกี่ยวได้ บางคนติดตรงตะขอนี่แหละ ทำให้ไม่ชอบ ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกเป็นฟันปลอมชนิดถอดได้เหมือนกัน เรียกว่า ฟันปลอมฐานวอลพลาส ที่ยืดหยุ่น บิดงอได้ ไม่แตกหัก เพราะทำจากวัสดุพอลิเมอร์ ฟันปลอมที่ว่านี้จะไม่มีตะขอโลหะมาให้รกตา แต่ก็มีข้อจำกัดคือ คนไข้ต้องสูญเสียฟันไม่กี่ซี่  และไม่สามารถซ่อมแซมหรือเติมฟันในอนาคตได้


ฟันปลอมชนิดติดแน่น
       
         ถ้าเบื่อที่ต้องถอดๆ ใส่ๆ ฟันปลอม บางทีฟันปลอมหลวมมีหลุดให้ขายขี้หน้าอีก อย่างนี้คงต้องหันมาเลือกใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่น แต่บอกก่อนว่าฟันปลอมแบบติดแน่นราคาค่อนข้างแพงถึงแพงมาก  ราคาหลักหมื่นจนถึงหลายหมื่นบาท ถ้างบไม่อำนวยนี่ไม่แนะนำ แต่ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหาก็จัดไปตามชอบได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าฟันปลอมชนิดนี้จะเหมาะกับทุกคนนะคะ คุณหมอจะต้องพิจารณาสภาพฟันของคนไข้ก่อนว่าเหมาะจะทำได้มั้ย ซึ่งสภาพที่เหมาะสมคือ จะต้องไม่มีฟันหรือถอนฟันไปเพียงไม่กี่ซี่ และฟันซี่อื่นที่ยังเหลือต้องอยู่ในสภาพดีด้วย ถ้าสภาพฟันไม่พร้อมถึงมีเงินจ่ายคุณหมอก็ไม่หลับหูหลับตาทำให้ค่ะ
         
          อีกอย่างที่ต้องบอกให้รู้ก็เรื่องการทำความสะอาด ถึงฟันปลอมแบบถอดได้จะยุ่งยากต้องถอดออกมาล้าง แต่ถ้าพูดในเรื่องความสะอาดก็ต้องยอมรับว่าทำความสะอาดได้ง่ายกว่าฟันปลอมแบบติดแน่น เนื่องจากสามารถถอดออกมาล้างมาแปรงภายนอกได้ ขณะที่ฟันปลอมแบบติดแน่นนั้นจะคล้ายการทำความสะอาดฟันปกติทั่วไป ต้องทำความสะอาดให้ทั่วรวมถึงบริเวณซอกฟันด้วย จึงทำความสะอาดได้ยากกว่า


         สำหรับฟันปลอมชนิดติดแน่นจะมี 2 แบบ คือ
         
ฟันปลอมติดแน่นด้วยสะพานฟัน
         ฟันปลอมชนิดติดแน่นด้วยสะพานฟัน สำหรับการใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นด้วยสะพานฟันในตำแหน่งที่ไม่มีฟันหรือฟันได้ถูกถอนออกไปนั้น คุณหมอจะต้องกรอแต่งฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านข้างตำแหน่งฟันที่ว่างนั้นก่อน แล้วจึงใส่ชิ้นฟันปลอมโดยใช้ฟันธรรมชาติที่ถูกกรอเป็นหลักยึดฟันปลอมไว้ ความยุ่งยากอาจเพิ่มขึ้นถ้าฟันมีการล้มเอียง คุณหมออาจต้องกรอฟันมากขึ้น บางทีฟันจริงที่ใช้เป็นหลักยึดอยู่ในสภาพไม่พร้อมก็ต้องรักษารากฟันก่อน ช่องว่างฟันแคบหรือกว้างเกินไปนี่ก็เป็นอุปสรรคในการทำได้เช่นกัน กรณีฟันธรรมชาติข้างเคียงไม่สามารถเป็นหลักยึดให้ฟันปลอมได้ คุณหมออาจแนะนำทำฟันปลอมรากฟันเทียมของซี่ข้างเคียงเพื่อใช้เป็นฐานรองรับสะพานฟันก่อน แต่ราคาก็จะอัพตามไปด้วย ถ้าคนไข้จ่ายไม่ไหวก็อาจต้องบอกผ่านวิธีนี้ค่ะ

ฟันปลอมรากฟันเทียม
        ฟันปลอมชนิดติดแน่นด้วยรากฟันเทียม ฟันปลอมชนิดนี้ไม่ต้องหาที่ยึดเกาะกับฟันข้างเคียงใดๆ การกรอแต่งฟันข้างเคียงจึงไม่จำเป็น ตะขอก็ไม่มีมาให้รำคาญใจ โดยฟันปลอมรากฟันเทียมจะใช้การฝังตัวรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร จากนั้นก็นั่งรอนอนรออย่างน้อย 3 – 4 เดือน จนกระดูกยึดกับรากเทียมแล้วนั่นแหละ ถึงจะต่อหรือยึดตัวฟันปลอมลงไปทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป จะทดแทนฟันซี่เดียว หรือหลายซี่ก็ได้ ไม่เพียงเท่านั้นบางทีคุณหมอก็อาจแนะนำทำฟันปลอมรากฟันเทียมเพื่อใช้เป็นฐานรองรับสะพานฟัน หรือคนที่ใส่ฟันปลอมทั้งปากแล้วหลวมก็สามารถช่วยเสริมให้ฟันปลอมแน่นขึ้นได้ด้วย   

ฟันปลอมรากฟันเทียมจะมีความสวยงามและประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวใกล้เคียงฟันธรรมชาติมาก  คุณหมอต้องใช้เวลาและความประณีตในการทำมาก แถมวัสดุที่ใช้ก็มีราคาสูง ก็ไม่แปลกใจนะว่าทำไมราคาถึงได้แพงกว่าตระกูลฟันปลอมทั้งหมด ราคาเป็นหลักหลายหมื่นเลยทีเดียว อันนี้ต่อซี่นะคะ (เอิ่ม แอบปาดเหงื่อแป๊บ) แต่ถ้าเทียบกับคุณภาพแล้วก็คงต้องบอกว่าสมราคาล่ะค่ะ


รู้จักฟันปลอมแบบต่างๆ กันไปแล้ว ส่วนว่าจะเชื้อเชิญแบบไหนมาไว้ในปากคงไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของคนไข้อย่างเดียว ต้องฟังทางคุณหมอแนะนำด้วย อย่าดันทุรังว่าชั้นจะเอาแบบนั้นแบบนี้ ถ้าคุณหมอแนะนำหลายแบบ ถึงตอนนั้นค่อยตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวคุณ

ถึงจะเป็น “ฟันปลอม” ก็ต้องดูแล

ใส่ฟันปลอมแล้วก็ไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ใส่ใจดูแลรักษาหรือทำความสะอาดนะคะ อย่าคิดว่าไม่ใช่ฟันจริง ไม่ผุไม่กร่อน ไม่ต้องดูแลมาก ไม่งั้นปัญหาช่องปากอาจจะตามมาอีกเป็นหางว่าว

กรณีฟันปลอมชนิดถอดได้

-   ต้องระวังเรื่องการตกหล่นเพราะอาจแตกหักได้ เสียตังค์ไม่พอ ยังต้องเสียเวลามาทำใหม่อีก

-   ถอดฟันปลอมออกมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด ยาสีฟัน หรือน้ำสบู่อ่อน ทุกวัน เลือกแปรงสีฟันชนิดขนอ่อนนิ่มในการทำความสะอาด ฟันปลอมจะได้ไม่สึกกร่อนเร็ว ขณะทำควรมีภาชนะใส่น้ำรองรับเผื่อพลัดหลุดจากมือด้วยจะได้ไม่ตกแตกหรือตะขอบิดเบี้ยว

-   ฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ยังคงต้องใส่ใจทำความสะอาดเหมือนเดิมค่ะ

-   ควรถอดฟันปลอมก่อนนอนทุกวัน เพื่อให้เนื้อเยื่อใต้ฟันปลอมได้พักบ้าง ถ้าใส่ฟันปลอมกดทับอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบได้


-   แช่ฟันปลอมไว้ในภาชนะบรรจุน้ำสะอาด ที่ต้องแช่น้ำไว้เพราะถ้าทิ้งฟันปลอมให้โดนอากาศจะทำให้ฐานพลาสติกแห้งและบิดงอได้ และห้ามแช่ฟันปลอมในน้ำร้อนเพราะอาจบิดงอได้เช่นกัน

-   ทุกเช้าก่อนสวมฟันปลอมควรแปรงเหงือก ลิ้น และเพดานปากด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

-   ถ้าฟันปลอมหลวม หรือแตก หัก บิ่น ควรปรึกษาคุณหมอฟัน อย่าเอากาวซ่อมเอง

     กรณีฟันปลอมชนิดติดแน่น แปรงเหมือนฟันปกติ แต่ให้พิถีพิถันบริเวณคอฟันเป็นพิเศษโดยเฉพาะขอบฟันซี่ที่ครอบด้วยฟันปลอม แนะนำใช้ไหมขัดฟันเพื่อขจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์บริเวณซอกฟัน


พบหมอฟันทุก 6 เดือน

ถึงจะเป็นของปลอมแต่ใช่ว่าจะคงทนไปตลอด วันหนึ่งก็ต้องเสื่อม หมดอายุการใช้งาน แตก หัก บิดเบี้ยว หลวมกันบ้างล่ะ แล้วไหนจะปัญหาในช่องปากที่อาจเกิดจากการใส่ฟันปลอมอีกล่ะ เช่น ฟันผุ หรือเหงือกอักเสบจากการที่ฟันปลอมไปถูไปกดเหงือกหรือเนื้อเยื่อในปาก ปัญหาที่หลายคนนึกไม่ถึงอย่างการยุบตัวของสันเหงือกซึ่งต้องแก้ด้วยการเสริมฐานฟันปลอมก็อาจเกิดขึ้นได้ เห็นมั้ยคะไม่ใช่ว่าใส่แล้วจบนะ คนไข้จึงควรไปพบหมอฟันทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยก็ปีละครั้ง

อย่าร้อนใจถ้ายังไม่ชิน

แหงล่ะ...ใส่แรกๆ ก็ต้องไม่ชินเป็นธรรมดา โดยเฉพาะฟันปลอมชนิดถอดได้ อย่างฟันปลอมติดแน่นไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะคล้ายฟันธรรมชาติมาก ยิ่งฟันปลอมรากฟันเทียมนี่เนียนจริง แต่ฟันปลอมชนิดถอดได้ใครใส่แรกๆ ก็มักมีความรู้สึกว่าเทอะทะ หลวมไม่กระชับ ใส่แล้วรู้สึกแปลกๆ บางทีจะกินจะพูดมันไม่ถนัดปาก ก็อย่าเก็บมากังวล เพราะโดยธรรมชาติแล้วกล้ามเนื้อแก้มและลิ้นจะค่อยๆ สร้างความเคยชินในการประคองฟันปลอมเอาไว้อยู่แล้ว ถ้าตัวคนไข้เองค่อยๆ ฝึกค่อยๆ ปรับ เมื่อผ่านไปสักระยะฟันปลอมก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปากที่ไม่สร้างความหนักใจอีกต่อไปค่ะ
               





ขอบคุณข้อมูล   : http://www.colgate.co.th

ภาพประกอบ      :  http://202.183.204.137/km/?p=2406, http://men.mthai.com

ไม่มีความคิดเห็น: