วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

มุมมองแพทย์แผนจีน

ถึงจะไม่ใช่คอนิยายกำลังภายใน แต่เชื่อว่าคนบ้านเราคงจะคุ้นหูกับคำว่าแพทย์แผนจีนอยู่พอสมควร เดี๋ยวนี้การแพทย์แผนจีนเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่เฉพาะในบ้านเราแต่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เวลาเจ็บป่วยมีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่นอกจากจะรักษากับหมอแผนปัจจุบันแล้ว ยังหันพึ่งการแพทย์ทางเลือกอย่างแพทย์แผนจีน ที่คุ้นเคยหน่อยเห็นจะเป็นการฝังเข็มนั่นแหละ การรักษาโรคควบคู่กันทั้งแผนใหม่แผนจีนยังงี้ ถามว่าทำได้มั้ย ทำได้ค่ะ แถมองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังให้การรับรองด้วย



ขอบอกเลยว่า การแพทย์แผนจีนไม่ได้ไก่กาอาราเร่นะจ๊ะ ศาสตร์นี้มีประวัติย้อนไปไกลกว่าห้าพันปี การที่ยังสืบทอดยืนยงมาถึงทุกวันนี้ได้ แถมความนิยมก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง คงเป็นบทพิสูจน์ได้ว่านี่แหละของจริง

หลักการของแพทย์แผนจีนคืออะไร ถ้าจะอธิบายง่ายๆ เอาแบบไม่อ่านไปก่ายหน้าผากไป ก็คงต้องบอกว่าศาสตร์แพทย์แผนจีนเค้าจะเน้น “การปรับสมดุล” ของร่างกายเป็นหลัก ด้วยความเชื่อที่ว่า การที่ร่างกายของคนเราเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยขึ้นนั้นเป็นเพราะร่างกายเกิดภาวะเสียสมดุล ดังนั้นหากสามารถทำให้ร่างกายกลับคืนสู่ภาวะสมดุลได้ ร่างกายก็จะกลับมาแข็งแรงจนสามารถกำจัดโรคได้ด้วยตนเอง โรคหรืออาการผิดปกติต่างๆ ก็จะหายไป

จากหลักการดังกล่าว ศาสตร์แพทย์แผนจีนจึงสามารถรักษาได้เกือบทุกโรค ขอยกอาการหรือโรคเด่นๆ ที่คนรู้จักกันเยอะๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่างล่ะกัน
-   ปวดศีรษะ, ไมเกรน, ภูมิแพ้
-   เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง
-   โรคเกี่ยวกับระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดตีบ
-   อาการปวดต่างๆ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ, ปวดเส้น, สะบักจม, ปวดต้นคอบ่าไหล่, ปวดหลัง, ปวดเอวร้าวลงขา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, ปวดเข่า, ข้อเข่าเสื่อม, ปวดฝ่าเท้า (โรครองช้ำ), ปวดข้อไหล่, ไหล่ติด, ปวดข้อศอก, โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น
-  ปวดประจำเดือน รอบเดือนมาไม่ปกติ มีบุตรยาก อาการวัยทอง
-  โรคเกี่ยวกับระบบลำไส้
-  โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความเครียด คิดมาก วิตกกังวล นอนไม่หลับ
-   อ่อนเพลียเรื้อรัง

นี่ยกตัวอย่างมาพอหอมปากหอมคอ ใครมีอาการผิดปกตินอกเหนือไปจากนี้ก็ไปรักษาได้ แต่ก่อนจะทำการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน คุณหมอจะทำการตรวจวินิจฉัยก่อน ก็คล้ายๆ กับแพทย์สมัยใหม่นั่นแหละ ต้องตรวจหาก่อนว่าต้อตอปัญหามันอยู่ที่ไหนจะได้รักษาได้ตรงจุด แต่การตรวจวินิจฉัยไม่ต้องเจาะเลือด เอกซเรย์ หรืออื่นๆ เหมือนที่เราเคยๆ ทำกัน แต่จะใช้การตรวจวินิจฉัยตามหลักแพทย์แผนจีน ตั้งแต่
การดู คุณหมอจะสังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นภายนอก เช่น ดูลิ้น สีหน้า ท่าทาง ลักษณะการนั่ง ยืน เดิน เป็นต้น
การฟัง คุณหมอจะฟังเสียงพูด เสียงไอ เสียงลมหายใจ
ดมกลิ่น คุณหมอจะดมอะไรบ้าง? ก็ดมตั้งแต่กลิ่นปาก กลิ่นตัว กลิ่นอุจจาระ รวมถึงกลิ่นปัสสาวะของคนไข้ด้วย ไม่ได้ทุ่มทุนสร้างนะคร้า แต่กลิ่นสามารถบ่งบอกอาการผิดปกติหรือโรคได้ค่ะ
การถาม คุณหมอก็จะพูดคุยซักถามถึงอาการที่เป็น ประวัติสุขภาพ – ชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติครอบครัว เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบ : รพ.ยันฮี

และที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ การจับชีพจร ถ้าไปได้ยินคำว่า การแมะ ก็ไม่ต้องต๊กใจ เพราะคือความหมายเดียวกัน และส่วนใหญ่คนจะนิยมใช้คำว่าการแมะมากกว่าด้วย การแมะจะช่วยให้คุณหมอทราบว่ามีอวัยวะใดในร่างกายที่ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป วิธีการก็ง่ายๆ คุณหมอจะใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง สัมผัสที่ข้อมือของคนไข้ทั้งสองข้าง ทำไมต้องแมะทั้งสองข้าง นั่นก็เพราะข้อมือแต่ละข้างจะสะท้อนถึงความผิดปกติของระบบอวัยวะภายในที่แตกต่างกันค่ะ
หลังตรวจเสร็จคุณหมอก็จะรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ส่วนจะใช้วิธีไหนคืนสมดุลให้กับร่างกายเป็นเรื่องที่จะมาว่ากันต่อในตอนหน้าค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น: