วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

แพทย์แผนจีน...ไม่ได้มีแค่การฝังเข็มนะเออ

พูดถึงการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน เชื่อเหอะคนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการฝังเข็ม จริงๆ แล้วการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนมีหลายวิธี การฝังเข็มเป็นแค่วิธีหนึ่ง แต่ในบ้านเราคนนิยมฝังเข็มมันเยอะไง คนส่วนใหญ่ก็เลยคุ้นหูกับคำๆ นี้ พอถามว่ารู้จักแพทย์แผนจีนมั้ย คิดไรไม่ออกตอบฝังเข็มเพลย์เซฟไว้ก่อน แต่อย่างที่บอกว่าการรักษาของแพทย์แผนจีนมีหลายวิธี บางวิธีรู้แล้วอาจจะร้อง โอ้ว มีวิธีอะไรยังงี้ด้วยเหรอ เอาล่ะ เวิ่นเว้อมามากล่ะ ขอแจกแจงวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีนให้ทราบเลยล่ะกัน



ไหนๆ ก็พูดถึง การฝังเข็ม แล้ว งั้นมาดูเรื่องการฝังเข็มกันก่อน
ตามหลักแพทย์แผนจีนนั้นร่างกายของคนเราจะมีเส้นลมปราณโดยมีลมปราณไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา หากมีการติดขัดที่จุดใดทำให้ลมปราณไหลเวียนไม่สะดวก จะส่งผลให้เกิดอาการของโรคขึ้นได้ การฝังเข็มโดยใช้เข็มปักเข้าไปยังตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายในตำแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ จะทำให้ลมปราณกลับมาไหลเวียนตามปกติ ทำให้อาการผิดปกติหรือโรคที่เป็นดีขึ้น การฝังเข็มแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที ควรทำการรักษาทุกวันหรือ 2 -3 ครั้งต่อสัปดาห์ การฝังเข็มจำเป็นต้องทำซ้ำหลายๆครั้ง ส่วนจะกี่ครั้งก็ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาของคนไข้แต่ละคนจะได้ผลดีไม่เท่ากัน ขึ้นกับการตอบสนองต่อการฝังเข็มที่แตกต่างกัน ระยะเวลาที่เป็นโรคนั้น และสภาพร่างกายของคนไข้เอง

การรมยา เป็นการรักษาโดยอาศัยความร้อนที่เผาตัวยาสมุนไพร แล้วส่งผ่านความร้อนเข้าสู่ชั้นผิวหนัง ช่วยให้ความอบอุ่นแก่เส้นลมปราณ เกิดการไหลเวียนของชี่และเลือด ขับความชื้นและความเย็นในร่างกาย ปรับสมดุลของการทำงานของอวัยวะต่างๆ วิธีการคือจะจุดไฟที่แท่งยาเพื่อให้ความร้อนจากตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ทำได้ 2 วิธีคือ


-  รมยาคู่กับการฝังเข็ม เมื่อปักเข็มที่จุดฝังเข็มแล้วจะตัดแท่งยาออกเป็นก้อนเล็กๆ เสียบเข้าที่ปลายเข็ม จุดไฟที่แท่งยา ความร้อนจะนำพาตัวยาผ่านปลายเข็มเข้าสู่จุดฝังเข็มแล้วเข้าในเส้นลมปราณ ทำให้ลมปราณไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
 การใช้แท่งยารมโดยตรง ที่รอยโรคหรือจุดชีพจรต่างๆ ช่วยให้เลือดลมบริเวณนั้นไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น

ครอบแก้ว เป็นการรักษาโดยใช้แก้วสีใส สะอาด แล้วใช้ความร้อนไล่อากาศภายในแก้วออกเพื่อลดความดันภายใน จากนั้นครอบลงบนผิวหนังตรงตำแหน่งรอยโรค เช่น บริเวณหลัง แก้วจะดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อขึ้นมา คนไข้จะรู้สึกตึงบริเวณผิวหนังที่ถูกครอบแก้ว เวลาที่ใช้ในการครอบแก้วนานประมาณ 5 – 10 นาที โดยความร้อนภายในแก้วจะทำให้รูขุมขนในบริเวณดังกล่าวเปิดออก และเกิดการแลกเปลี่ยนความร้อนกับความชื้นและความเย็นภายในผิว ส่งผลให้เลือดลมภายในไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น


กวาซา ฟังชื่อแล้วคงงง ๆ กวาซาคือการขูดเพื่อขจัดพิษของเสียออกมาทางผิวหนัง กระตุ้นระบบหมุนเวียนเลือดใต้ผิวหนัง ขยายรูขุมขนให้เปิดกว้างทำให้ร่างกายผลัดเซลล์เก่าสร้างเซลล์ใหม่ ส่งเสริมการไหลเวียนพลังชี่ในร่างกาย โดยคุณหมอจะทาน้ำมันกวาซา น้ำมันนวด โลชั่นลงบนตำแหน่งที่จะทำการรักษา แล้วใช้แผ่นกวาซาขูดไปบนผิวหนัง รอยแดงที่เกิดขึ้นจากการขูดจะจางหายไปได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์

ทุยหนา ฟังชื่อคงมีงงกันอีกรอบ จริงๆ มันก็คือ การนวด คุณหมอใช้ท่านวดลักษณะต่างๆ นวดลงบนจุดลมปราณ หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือขยับร่างกายบางส่วน เพื่อปรับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้สมดุล หรือช่วยส่งเสริมสุขภาพ การทุยหนาต่างกับการนวดเพื่อผ่อนคลายทั่วไป ถ้าเป็นการนวดทั่วไปจะใช้เวลานาน แต่การทุยหนาจะเน้นการรักษา ใช้เวลาเพียง 5 – 20 นาทีเท่านั้น ใช้เวลามากน้อยขึ้นกับโรคที่เป็น


เมล็ดผักกาดแปะหู วิธีนี้ดัดแปลงมาจากการฝังเข็มหูโดยใช้เมล็ดผักแทน จะเรียกว่าเป็นการฝังเข็มตลอดเวลาก็ได้นะ โดยการใช้เมล็ดผักหรือเมล็ดพืชที่มีความแข็ง มีผิวเรียบ กลมมน ไม่เป็นตะปุ่มตะป่ำ มาติดที่ใบหูและส่วนรอบๆ หูเพื่อเป็นจุดให้กดกระตุ้น แล้วทำไมต้องแปะที่หู นั่นก็เพราะตามตำราแพทย์จีนโบราณถือว่า หู มีความสัมพันธ์กับเส้นลมปราณและอวัยวะในร่างกายของคนเราค่ะ
 
การใช้ยาสมุนไพรจีน รูปแบบยาที่ใช้รักษาจะมีหลายแบบ เช่น ยาต้ม ยาดองเหล้า ยาแคปซูล ยาลูกกลอน ยาผง เป็นต้น คุณหมอจะจ่ายยาให้สอดคล้องกับลักษณะและอาการโรคของคนไข้  โดยยาจะเข้าไปรักษาและบำรุงร่างกาย ช่วยขับของเสีย ขับพิษ ทำให้เลือดลมเดินตามปกติ ระบบเลือดและระบบประสาททำงานได้ตามปกติ

จริงๆ แล้วการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนยังมีวิธีอื่นๆ อีก เช่น การปล่อยเลือด คิดเหมือนกันมั้ยคะว่า ช่างเป็นศาสตร์ที่มีรายละเอียดให้เรียนรู้ได้ไม่จบสิ้น อ้อ...แล้วถ้าใครสงสัยว่าไปหาหมอจีนจะรักษาด้วยวิธีไหนมั่ง ดูเยอะแยะไปหมด ในการรักษาคุณหมออาจใช้แค่วิธีเดียว เช่น ฝังเข็ม ถ้าอาการดีขึ้น ก็จบ แต่ถ้าประเมินแล้ววิธีเดียวคงไม่พอก็จะใช้วิธีอื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นกับโรคหรืออาการที่คนไข้เป็นนั่นแหละ ส่วนระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับอาการของโรคว่าเป็นมากหรือน้อยเพียงใด

ขอบคุณภาพประกอบ  :  รพ.ยันฮี

ไม่มีความคิดเห็น: