วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

เลเซอร์...รุ่งในวงการแพทย์

     

     ถ้านับจากปี ..1960 ที่มีการคิดค้นเครื่องเลเซอร์ขึ้นมาโดย ดร.ธีโอดอร์ ไมแมน (Dr.Theodore Maiman) ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษแล้ว นับวันเลเซอร์ยิ่งทวีความสำคัญกับชีวิตของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  แนบชิดในชีวิตประจำวันจนเราแทบไม่รู้สึก หลายคนอาจไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่าหลายอย่างที่เราพบเจอกันแทบทุกวันเกี่ยวข้องกับเลเซอร์ เช่น คุณเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อของสักชิ้นแล้วต้องนำมาสแกนกับเครื่องอ่านแถบรหัสหรือบาร์โค้ด (BarCode Scanner) เครื่องถ่ายเอกสาร เลเซอร์ปริ้นเตอร์ ที่ใช้ในสำนักงานหรือที่บ้าน นั่นก็ใช่ ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาคงจะเคยเห็นแสงเลเซอร์ที่คุณครูใช้ชี้บนจอภาพในขณะสอนหนังสือ อันนั้นเรียกว่า เลเซอร์พอยเตอร์ (Laser Pointer) หรือใกล้ตัวกว่านั้นก็บรรดาเครื่องเล่นซีดี, ดีวีดี ก็หนีไม่พ้นที่จะใช้หัวอ่านเลเซอร์ค่ะ

  ที่ผ่านมามีการนำแสงเลเซอร์มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย อาทิ ด้านอุตสาหกรรม, การแพทย์, สื่อสารโทรคมนาคม, การทหาร, วิทยาศาสตร์ และการบันเทิง เป็นต้น ถึงจะมีคุณูปการขนาดนี้ก็เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยกับคำว่า “เลเซอร์” แต่ไม่รู้จริงๆ ว่า เลเซอร์คืออะไร ถ้างั้นมาทำความรู้จักเลเซอร์กันพอสังเขปก่อนนะคะ
  
  คำว่าเลเซอร์ (Laser) เป็นคำย่อที่มาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation จะเรียกสั้นๆว่า เลเซอร์หรือแสงเลเซอร์ก็ได้


แสงเลเซอร์เกิดจากการกระตุ้นอะตอมหรือโมเลกุลของสารประกอบที่เป็นวัตถุตัวกลางบางชนิด ซึ่งการกระตุ้นดังกล่าวก่อให้เกิดการแผ่รังสีเกิดเป็นแสงที่มีความเข้มหรือความจ้าของแสงสูงมากกว่าแสงธรรมชาติอย่างมาก และง่ายต่อการรวมลำแสงให้ตกกระทบบนพื้นที่ขนาดเล็กๆ ได้ โดยกระบวนการที่ก่อให้เกิดแสงเลเซอร์จะอาศัยเครื่องเลเซอร์ที่มีส่วนประกอบหลักๆ 4 อย่าง คือ

· ระบบปั๊มหรือแหล่งพลังงานภายนอก (Pumping System)
· ตัวกลาง (Laser Medium)
· ตัวกล่องที่มีกระจกสะท้อนแสงภายใน (Optical Cavity)
· ระบบนำแสงไปยังเนื้อเยื่อที่ต้องการ

 การทำงานของเครื่องเลเซอร์จะเริ่มจากระบบปั๊มซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทำหน้าที่กระตุ้นอิเล็กตรอนที่อยู่ในตัวกลางทำให้ตัวกลางปล่อยอนุภาคลำแสงออกมา อนุภาคลำแสงที่ถูกปล่อยออกมานี้จะสะท้อนไปมาอยู่ภายในกล่องที่มีกระจก ทำให้เกิดการทวีคูณของอนุภาคลำแสง เมื่อพลังงานสะสมสูงพอแสงเลเซอร์จะถูกปล่อยให้ผ่านออกมาตามระบบนำแสงเพื่อไปสู่เนื้อเยื่อเป้าหมายต่อไป



 ด้วยคุณสมบัติของเลเซอร์ที่มีลำแสงเล็กมากและไม่กระจาย ทำให้พลังงานทั้งหมดรวมกันเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งมีความเข้มของแสงสูงมาก เมื่อยิงไปยังเนื้อเยื่อเป้าหมาย พลังงานแสงจะถูกเนื้อเยื่อดูดซึมไว้และแปรเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนส่งผลให้เนื้อเยื่อถูกความร้อนทำลายจนเกิดการแข็งตัวและย่อยสลายลงค่ะ

  เลเซอร์มักถูกเรียกเป็นชื่อตามตัวกลางที่อยู่ในเครื่อง และยังทำให้เลเซอร์มีสี ความยาวคลื่น และความถี่ของคลื่นแสงแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น ถ้าตัวกลางเป็นทับทิม (Ruby) เครื่องเลเซอร์นี้จะถูกเรียกว่า รูบี้เลเซอร์ ถ้าตัวกลางเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกเรียกว่า คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาเลเซอร์โดยการปรับเปลี่ยนตัวกลางที่เป็นต้นกำเนิดของแสงเป็นวัตถุต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว สารกึ่งตัวนำ และแก๊สชนิดต่างๆ ทำให้ได้แสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกันและส่งผลต่อเนื้อเยื่อแต่ละชนิดและในระดับความลึกที่แตกต่างกันด้วย

     เอาล่ะค่ะ รู้จักแสงเลเซอร์กันไปพอหอมปากหอมคอแล้ว ทีนี้ก็มาพูดถึงการใช้แสงเลเซอร์ในทางการแพทย์บ้าง หากจะกล่าวว่าเลเซอร์ได้เข้ามาพลิกโฉมวงการแพทย์ทั่วโลกก็คงจะไม่ผิดนัก แม้แต่ในบ้านเราก็มีการใช้เลเซอร์กันอย่างแพร่หลาย แรกเริ่มเดิมทีการนำเลเซอร์มาใช้ก็เพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการ, การผ่าตัดที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก  ซึ่งกรณีนี้เลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อจับตัวเป็นก้อนเลือดจึงออกน้อย หรือการผ่าตัดในที่แคบที่มีดหมอธรรมดาเข้าถึงได้ยาก เช่น การเชื่อมประสาทในลูกตาโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดลูกตา เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีการนำเลเซอร์มาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในแง่การรักษาโรคหรือเพื่อความสวยความงามเลยล่ะ

เลเซอร์ผิวหนัง...เพื่อความงาม

    

    การนำเลเซอร์มาใช้เพื่อความสวยความงามของผิวเริ่มครั้งแรกในปี ค..1961 โดย ดร.ลีออน โกลด์แมน อายุรแพทย์โรคผิวหนังแห่งมหาวิทยาลัยชินชินเนติ โดยนำรูบี้ เลเซอร์ มาใช้เพื่อลบรอยสัก และผิวหนังที่มีเม็ดสีผิดปกติ ปัจจุบันแพทย์ผิวหนังนิยมใช้ "เครื่องมือเลเซอร์" ในการรักษาภาวะต่างๆ ทางผิวหนัง แต่เนื่องจากเลเซอร์แต่ละชนิดมีต้นกำเนิดของพลังงานแสงแตกต่างกัน เมื่อนำมาใช้ในการรักษาจึงต้องเลือกชนิดของเลเซอร์ให้เหมาะสม อีกอย่างที่ต้องคำนึงถึงในการรักษาด้วยเลเซอร์คือ เลเซอร์บางชนิดอาจทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง แต่บางชนิดไม่ทำให้เกิดแผล การดูแลผิวหลังทำจึงไม่เหมือนกัน ควรทำตามคำแนะนำตามที่แพทย์บอก เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดด, ทายาตามหมอสั่ง อะไรทำนองนี้ต้องเคร่งครัดด้วยค่ะ

     มาดูตัวอย่างกันค่ะว่า มีเลเซอร์อะไรบ้างในการรักษาผิวพรรณ
  
 ตัวแรกที่ขอพูดถึงคือ คาร์บอนไดออกไซด์ เลเซอร์ (CO2 Laser) ใช้กำจัดไฝ หูด ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่งเนื้อ สิวหิน และต่อมไขมันโต
- Q Switch Ruby Laser รักษาปานดำ ปานโอตะ กระแดด กระลึก ลบรอยคล้ำบริเวณริมฝีปาก ลบรอยสักทั่วไป และลบรอยสักคิ้ว
ND-Yag Laser ลบรอยสักคิ้ว รอยสักต่าง ๆ ลดปัญหาเม็ดสีในผิวหนัง เช่น กระ กระแดด กระลึก ปานดำ และปานโอตะ
Gentle YAG Laser กำจัดขนตามที่ต่าง ๆ เช่น รักแร้ หน้าแข้ง Bikini line  ขนในที่ลับ  
- Aurora/Triniti Laser ช่วยให้หน้าใส ลดฝ้า กระ จุดด่างดำ รอยแดง ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเนียนกระชับ ลดริ้วรอย
- Q ray Laser รักษาแผลเป็นต่าง ๆ แผลสิวที่หน้า แผลเป็นจากอุบัติเหตุ ทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น สีแผลเป็นดูดีขึ้น แต่ถ้าเป็นพวกรอยแดงจากสิว แผลเป็น หรือมีเส้นเลือดฝอยที่ใบหน้า รักษาด้วย V-Beam Laser ค่ะ


เลเซอร์ฟอกสีฟัน

การฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ จะเป็นการใช้แสงเลเซอร์กระตุ้นสารฟอกสีฟันให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการฟอกสีฟัน ช่วยเปลี่ยนสีฟันให้ขาวสดใส สวยขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ


เลสิครักษาสายตาสั้น


    เลสิค หรือ LASIK ย่อมาจาก Laser Insitu Keratomeileusis เป็นการแก้ไขภาวะสายตาสั้น โดยการใช้เลเซอร์ขัดกระจกตาเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับความยาวลูกตา และให้ภาพโฟกัสตกลงบนจอรับภาพพอดี เลสิคเป็นการแก้ปัญหาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์ที่ได้ยินบ่อย และนิยมทำกันมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง, ฟื้นการมองเห็นเร็ว และที่สำคัญคือความสบายตาหลังทำ นอกจากการทำเลสิคแล้ว ยังมีการนำเลเซอร์มาใช้ในการรักษาโรคทางตาบางอย่าง เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น


ตกแต่งจุดซ่อนเร้นด้วยเลเซอร์
    
    เช่น ผ่าตัดกระชับช่องคลอดด้วยเลเซอร์ จะดีกว่าการผ่าตัดใช้ใบมีดแบบดั้งเดิม เพราะเนื้อเยื่อชอกช้ำน้อยกว่า เสียเลือดน้อยกว่า หรือใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอดแบบไม่มีบาดแผล คือไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีบาดแผล เลเซอร์จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบช่องคลอดมีการสร้างคอลลาเจนมากขึ้น ส่งผลให้ช่องคลอดมีความกระชับมากกว่าเดิม แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดกว่าการผ่าตัดเหมาะกับคนที่ช่องคลอดหย่อนไม่มาก



เลเซอร์กำจัดขน

      สามารถกำจัดขนได้ประมาณ  60-80% แต่ต้องทำซ้ำหลายครั้ง ขนที่เหลือเส้นจะเล็กลง บางลง สีจางลง การงอกขึ้นมาใหม่จะช้าลง หลังกำจัดไปช่วงแรกๆ  จะดูเหมือนไม่มีขนเหลืออยู่ ต่อมาจึงค่อยๆ  มีขึ้นมาให้เห็นอีก ถึงจะไม่เกลี้ยงเกลาถาวรเหมือนการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ แต่ข้อดีคือไม่เจ็บ ใครมีปัญหาขนกวนใจตามที่ต่างๆ เช่น รักแร้, หน้าแข้ง, Bikini line, ขนในที่ลับ ฯลฯ อยากกำจัดทิ้งลองพิจารณาดู

เลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอด

 เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่แบบปูดโปนเขียวยื่นออกมา ถ้ารักษาด้วยการฉีดยาหรือน้ำเกลือไม่ได้ผล สามารถรักษาได้ด้วยเลเซอร์ โดยการสอดสายเลเซอร์เล็ก ๆ เข้าไปในเส้นเลือดขอด แล้วฉายเลเซอร์รักษาเส้นเลือดขอดถึงต้นตอภายใน เส้นเลือดขอดก็จะยุบหายได้

ฝังเข็มด้วยเลเซอร์

การฝังเข็มโดยใช้เลเซอร์ สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ผลดี อาทิ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดข้อ ข้อเกร็ง ข้อยึดติด เอ็นอักเสบ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ใช้หลักการเดียวกับการฝังเข็ม แต่ใช้แสงเลเซอร์แทนเข็ม ใครกลัวการติดเชื้อ กลัวเข็ม กลัวเจ็บ น่าจะตอบโจทย์เพราะไม่ได้ใช้เข็มจริง

ยกมาให้ดูบางส่วน จริงๆ เลเซอร์ทำอะไรได้มากกว่านี้เยอะ สนใจก็ลองหาข้อมูลหรือสอบถามจากแพทย์ดูได้นะคะ



ขอบคุณข้อมูล : คู่มือ สวยด้วยเลเซอร์ รพ.ยันฮี
ภาพประกอบ : http://en.wikipedia.org/wiki/File:Laser_pointer.jpeg, http://plaza.ufl.edu/dwhahn/, http://www.thisismanufacturing.co.uk/ 

ไม่มีความคิดเห็น: