วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

คลำเจอก้อนที่เต้านม...อย่าเพิ่งสติแตก

                พูดง่ายทำยากนะฮ้า   แจ๊คพอตคลำเจอก้อนก็สติแตกทุกคนแหละ..... ก็แหม ก้อนที่เต้านมเชียวนะไม่ใช่ตุ่มตาปลา จะได้ชิลๆ   
              หลายคนจินตนาการเป็นมะเร็งเป็นเนื้อร้ายไปโน่นเลยทีเดียว อยากจะบอกว่าอย่าเพิ่งเหมาว่าก้อนที่คุณคลำพบจะเป็นมะเร็งไปซะทั้งหมด ถ้าคุณยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน  บอกเลยว่าก้อนที่เต้านมส่วนใหญ่ (กว่า 80%) มักไม่ใช่เนื้อร้าย โดยพบบ่อยที่สุดมี 3 ชนิดคือ ถุงน้ำ, เนื้องอกของต่อมเต้านม และเนื้องอกไขมัน
                

                

                 ถุงน้ำที่เต้านม (fibrocystic breast disease) พบบ่อยที่สุด เราจึงมักได้ยินคนเจอก้อนที่เต้านมแล้วบอกว่าเป็นซีสต์เยอะมาก แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง  ขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้   ผู้หญิงที่เป็นเพศแม่อย่างคุณอย่างดิฉันนี่แหละ   หากไม่มีความผิดปกติใดๆ การมีประจำเดือนถือเป็นเรื่องปกติค่ะ   ซึ่งกลไกตามธรรมชาติก่อนมีรอบเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นคุณแม่ และการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การเตรียมเต้านมเพื่อให้พร้อมผลิตน้ำนม ซึ่งร่างกายจะทำโดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและน้ำมายังเต้านมมากขึ้น ทำให้ช่วงก่อนมีประจำเดือนเรารู้สึกคัดตึงเต้านมยังไงล่ะคะ   ทีนี้ถ้าดันเกิดไม่ท้อง ไอ้ของเหลวต่างๆ จะถูกดูดซึมกลับซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ทำให้หลังประจำเดือนหมดเต้านมหายคัดตึง   แต่ก็มีบ่อยๆ ที่การดูดซึมกลับทำได้ไม่สมบูรณ์ทำให้มีของเหลวคั่งอยู่ในถุงเล็ก ๆ เรียกว่า ซีสต์น้ำ โดยทั่วไปซีสต์น้ำนี้จะโตๆ ยุบๆ บางทีก็ยุบหายสนิทไปเลย   แต่มีเหมือนกันที่บางตำแหน่งเกิดซีสต์บ่อยๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อนมกลายเป็นก้อนเนื้อได้ เรียกว่า ซีสต์เนื้อ
    คนที่เป็นซีสต์น้ำอาจมีอาการปวดหรือกดเจ็บบริเวณเต้านม เนื่องจากก้อนซีสต์ไปดันเนื้อนมรอบข้าง ทำให้เต้านมตึง โดยเฉพาะในสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน  อย่างไรก็ตามซีสต์น้ำไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

    

                
                เนื้องอกของต่อมเต้านม (fibroadenoma) มักจะคลำเจอลักษณะเป็นก้อนกลมเดี่ยวและแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง ไม่เจ็บ เคลื่อนที่ไปมาได้ เนื้องอกของต่อมเต้านมเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่พบบ่อยที่สุด ปกติจะโตช้ามากและไม่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวพันกับฮอร์โมนเพศหญิง




                เนื้องอกไขมัน (lipomas) เกิดจากเซลล์ไขมัน ก็แหม่...ชื่อออกจะชัดเจนซะขนาดนี้ มักพบอยู่ในบริเวณตื้น ๆ ใต้ผิวหนัง ถึงจะไม่มีอันตราย ทว่าก็สร้างความกังวลได้พอสมควรเพราะก้อนเนื้องอกอาจดึงรั้งผิวทำให้เกิดรอยบุ๋มที่ผิว ดูคล้ายกับอาการของมะเร็งเต้านมได้ค่ะ

คลำเจอก้อนที่เต้านมทำไงดี            
    คุมสติ แล้วไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นก้อนอะไร

รู้แล้วทำไงต่อ

ถุงน้ำที่เต้านม ถ้าตรวจแล้วชัวร์ว่าเป็นถุงน้ำ เช่น ใช้เข็มดูดของเหลวออกจากก้อนได้ง่าย ยังไม่ต้องทำอะไร  ไม่ต้องผ่าตัด  แต่ต้องติดตามดูการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ไม่ประมาทไว้ก่อนดีที่สุด แต่ถ้าดูดแล้วไม่มีของเหลวออกมาแถมก้อนยังมีลักษณะแข็งที่เรียกว่าซีสต์เนื้อ อันนี้ต้องตรวจเพิ่มเติมให้ชัวร์ว่าไม่ใช่มะเร็ง เช่น ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมหรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

เนื้องอกของต่อมเต้านม ถ้าไม่มีอาการใดๆ หรือไม่โตขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ได้ไม่ต้องรักษา แต่ถ้าจะเอาชัวร์ๆ ควรตัดชิ้นเนื้อไปตรวจว่าไม่เป็นเนื้อร้าย กรณีคนไข้อยากเอาออก สามารถผ่าตัดออกได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่
            
        เนื้องอกไขมัน ควรผ่าตัดออกทุกราย เพราะลักษณะดันไปคล้ายอาการมะเร็งเต้านมขั้นต้น ทำให้แยกแยะยาก คุณหมอจะฉีดยาชาเฉพาะที่แล้วผ่าตัดออก




ขอบคุณข้อมูล   :   http://www.si.mahidol.ac.th/
ภาพประกอบ  : http://www.malonie.com/ ,                       http://www.ladycarehealth.com/

ไม่มีความคิดเห็น: