วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฝังเข็ม...เก่าแต่เก๋า

ผู้เขียนเป็นแฟนตัวยงของหนังจีนกำลังภายใน เลยได้ยินคำว่า ฝังเข็ม บ่อยๆ การฝังเข็มไม่ใช่ศาสตร์ใหม่ไก่กาอาราเร่นะจ๊ะ ฝังเข็มเป็นศาสตร์การแพทย์แผนโบราณจีนแขนงหนึ่งที่ใช้เพื่อการรักษาโรคย้อนหลังกลับไปเนิ่นนานนับพันปี บางตำราบอก 4 พันปีเลยทีเดียว แม้ทุกวันนี้โลกจะก้าวล้ำจนเราส่งยานอวกาศไปสำรวจไกลถึงดาวพลูโตแล้ว การฝังเข็มก็ยังใช้เป็น “การแพทย์ร่วมรักษา” ในการรักษาโรคต่างๆ หลายโรค แสดงว่าต้องมีดีจริงไม่งั้นคงไม่ยืนหยัดข้ามกาลเวลามาได้ไกลขนาดนี้ แถมความนิยมฝังเข็มยังแพร่หลายพ้นจากประเทศต้นกำเนิดไปถึงฟากฝั่งอเมริกา ยุโรป ส่วนในบ้านเราว่ากันว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเนื่องจากสมัยนั้นเรามีการติดต่อกับจีน ก็ประมาณ 700 ปีก่อนโน่นแหละ วาว วาว ว้าว


        ถึงปัจจุบัน การฝังเข็มได้รับการยอมรับในวงการแพทย์กว่า 120 ประเทศทั่วโลกแล้วค่ะ โดยในปี 2522 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม และปลายปี 2540 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) ก็ยอมรับว่าการฝังเข็มเป็น ทางเลือกที่สมเหตุสมผลในการรักษาโรคได้หลายอย่าง

แล้วการฝังเข็มช่วยแก้ไขพยาธิสภาพต่างๆ หรือสามารถรักษาโรคได้ยังไง เอ้า จะอธิบายง่ายๆ ดังนี้ เวลาเข็มถูกปักลงไปบน “จุดฝังเข็ม” ซึ่งเป็นจุดที่มีอิทธิพลต่ออวัยวะหรืออาการต่างๆ ก็จะไปช่วยกระตุ้นระบบต่างๆ ภายในร่างกายของคนเรา อาทิ ระบบประสาท, ระบบฮอร์โมน, ระบบการไหลเวียนโลหิต, ระบบภูมิคุ้มกัน, ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น ช่วยให้อวัยวะต่างๆ กลับมาทำงานได้สมดุลตามปกติ หรือจะเรียกว่าปรับสมดุลให้กลับมาใหม่ก็ได้ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบูรณาการซ่อมแซมตามธรรมชาติ

แต่การฝังเข็มจะให้ผลในการรักษาโรคของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องปักเข็มลงไปบน “จุดฝังเข็ม” ให้ถูกที่ด้วยนะคะ ไม่ใช่ปักไปมั่วๆ ซั่วๆ ดังนั้นถ้าอยากฝังเข็มต้องหาข้อมูลดีๆ ว่าไอ้คลินิกหรือสถานพยาบาลที่เราจะไปทำนั้นมีผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอที่ได้ศึกษาหรือฝึกอบรมมาโดยตรงจริงๆ จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวฟรีโดยไม่ได้ผลอะไรกลับมาเลย

แต่คนไข้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สภาวะร่างกายของคนเราแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน การตอบสนองต่อการฝังเข็มก็ย่อมต้องแตกต่างกันด้วย อย่างคนที่เป็นโรคเดียวกัน อาการเหมือนกันเดี๊ยะ ฝังเข็มไปแล้วผลที่ได้รับอาจไม่เท่ากันก็ได้ ไหนจะโรคที่เป็นอีกล่ะ บางทีเป็นมาน้านนาน หรือเป็นรุนแรง จะให้ฝังเข็มรักษาแล้วดีขึ้นเหมือนคนที่อาการยังเป็นน้อยๆ หรือเพิ่งเริ่มเป็นไม่นาน ก็คงไม่ใช่ จึงอยากให้เปิดใจกับตรงนี้ด้วย 
        

        ที่อยากให้ทำความเข้าใจอีกเรื่องก็คือ การฝังเข็มเป็น “การแพทย์ร่วมรักษา” ในการรักษาโรคค่ะ หมายความว่า ถ้าคุณเป็นโรคๆ หนึ่งที่รักษาด้วยการฝังเข็มแล้วได้ผล ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะตะบี้ตะบันรักษาด้วยการฝังเข็มอย่างเดียว การตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น ส่วนการฝังเข็มก็ใช้เป็นการรักษาร่วมไปกับการแพทย์หลักดังกล่าว ก็จะช่วยให้การรักษาเห็นผลดีขึ้นค่ะ ซึ่งการฝังเข็มรักษาสามารถใช้ควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาโรคทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณได้อย่างปลอดภัย 
          
      
          สำหรับวิธีการฝังเข็ม ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนชอบจินตนาการกันไปเกินจริงเพราะไปติดกับคำว่า “ฝัง” เข็ม คุณหมอเค้าไม่ได้ปักเข็มเข้าไว้ในตัวเราค่ะ แค่ปักลงบนตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นจุดฝังเข็ม ลักษณะของเข็มจะทำด้วยสแเตนเลสไม่เป็นสนิม มีขนาดเล็ก ตั้งแต่ 0.22-0.25 มิลลิเมตร ความยาวตั้งแต่ 25 - 75 มิลลิเมตร ซึ่งจะเลือกใช้ขนาดเข็มเบอร์ใดก็ขึ้นกับตำแหน่งที่จะฝัง ซึ่งจะมีความตื้นลึกจากผิวหนังแตกต่างกัน เข็มที่ใช้รักษาเป็นเข็มใหม่แบบ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการติดเชื้อจากคนอื่น พอคุณหมอปักเข็มลงไปแล้วก็จะกระตุ้นโดยใช้นิ้วมือหมุนปั่นหรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า  ใช้เวลากระตุ้นประมาณ 20 – 30 นาที ก็เสร็จ ส่วนจะต้องทำซ้ำบ่อยแค่ไหนเดี๋ยวคุณหมอจะบอกเอง

ทีนี้มาดูกันว่า มีโรคอะไรบ้างที่สามารถรักษาด้วยการฝังเข็ม อันนี้ไม่ใช่ข้อมูลแบบมั่วๆ นะคะ แต่เป็นข้อสรุปที่ได้จากการประชุมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มจากทั่วโลกที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก สำหรับรายชื่อโรคที่ได้รับการประกาศรับรองว่าสามารถรักษาด้วยการฝังเข็มแล้วได้ผลจริง เป็นต้นว่า โรคภูมิแพ้จมูก, อัมพาตใบหน้า, อัมพาตครึ่งซีก, โรคหอบหืด, กระดูกต้นคออักเสบ, โรคซึมเศร้า, ปวดประจำเดือน, ปวดศีรษะ, นอนไม่หลับ, ไมเกรน, ปวดไหล่, ปวดจากการผ่าตัด, ปวดรากเส้นประสาทสันหลังถูกกด, ปวดกล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอก, ปวดหลัง, ปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด, ข้ออักเสบรูมาตอยด์, ติดบุหรี่, สายตาสั้นในเด็ก, โรคอ้วน, ท้องผูก, ท้องร่วง, การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะคั่ง, ภาวะปวดขณะคลอดบุตร, ไซนัสโพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น


ที่ยกตัวอย่างมาเนี่ย เอามาให้ดูแค่พอเป็นน้ำจิ้ม จริงๆ แล้วยังมีอีกเพียบ ถ้าใครมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกเหนือจากที่บอกไป แล้วอยากรู้ว่าจะรักษาได้มั้ย ก็ลองเสิร์ชในอินเตอร์เนตดูค่ะ เห็นหลายเว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บ รพ.ที่ให้การรักษาด้วยการฝังเข็มจะมีรายละเอียดในเรื่องโรคต่างๆ อยู่
         


         สุดท้ายก็อยากฝากไว้ว่า ใครสนใจเรื่องการฝังเข็ม ควรตัดสินใจเลือกสถานที่ทำดีๆ นะคะ ถ้าชัวร์ว่าเป็นคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ก็เดินหน้าโลด ห่วงแต่คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วไปใช้บริการพวกหมอเถื่อนหรือไม่มีความรู้จริงๆ แล้วมาหลอกหากินง่ายๆ นอกจากจะต้องเสียเงินฟรีๆแล้ว คุณอาจเสี่ยงติดโรคร้ายจากการใช้เข็มแบบเวียนกันใช้ แค่คิดก็สยองเกินบรรยายแล้วค่ะ 



ไม่มีความคิดเห็น: