วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ถึงเวลา...ลูกน้อยลืมตาดูโลกแล้วนะ

        อุ้มท้องมานาน 9 เดือน พอถึงกำหนดคลอด แหม่...คุณแม่ท้องแรกคงตื่นเต้นหนักมาก เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ข้อมูลที่นำมาฝากต่อไปนี้น่าจะช่วยให้คุณแม่มือใหม่คลายความกังวลใจลงได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

รู้ยัง...วันคลอด
เมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์ คุณหมอจะถามเรื่องประจำเดือนครั้งสุดท้ายเพื่อคำนวณอายุครรภ์และกำหนดคลอด หากจำได้แม่นยำการคำนวณก็จะไม่สับสนหรือผิดพลาด




กำหนดคลอดเค้าคำนวณกันยังไง?
วิธีที่ง่ายที่สุด ใช้วิธีการนับเดือนซึ่งจะสามารถบอกกำหนดคลอดอย่างคร่าวๆ มี 2 แบบ คือ
แบบแรก จะเริ่มนับตั้งแต่ประจำเดือนขาด โดยนับเป็นเดือนที่ 1 จนกระทั่งครบกำหนดคลอดคือ 9 เดือน
แบบที่สอง จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายถือเป็นเดือนที่ 1 และนับต่อไปจนกระทั่งครบ 10 เดือน (40 สัปดาห์)               
วิธีคำนวณแบบละเอียด  สามารถระบุวันคลอดได้ใกล้เคียงที่สุด แต่คุณแม่ต้องจำวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายให้แม่น คือต้องระบุได้เลยว่าวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร จากนั้นก็เอาวันดังกล่าวเป็นหลักบวกไปข้างหน้า 7 วัน แล้วนับย้อนหลังไป 3 เดือนก็จะได้กำหนดวันคลอด  เช่น ถ้าวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่ 10 กันยายน  เมื่อบวกไปอีก 7 วันก็จะเป็นวันที่ 17 แล้วนับย้อนไป 3 เดือน ก็จะเป็นเดือนมิถุนายน กำหนดคลอดจึงครบในวันที่ 17 มิถุนายนของปีถัดไป
       รู้กำหนดคลอดกันแล้วนะ...ทีนี้ก็เตรียมนับถอยหลังกันเล้ย

โอ๊ย...โอ๊ย...เจ็บครรภ์คลอด
มันมาแน่ๆ อาการเจ็บครรภ์คลอดในช่วงเดือนท้ายๆ ทั้งเจ็บจริง เจ็บหลอก

เจ็บหลอกเป็นไง เป็นการเจ็บเตือนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอดที่จะตามมา พบได้หลังตั้งครรภ์ 7 เดือนขึ้นไป โดยมดลูกจะมีการบีบรัดตัว หดตัวเป็นก้อนแข็งเป็นครั้งคราว แต่ไม่มีการเจ็บท้อง การเจ็บหลอกจะมีไปจนถึงระยะก่อนคลอดประมาณ 2 อาทิตย์ หลังจากนั้นมดลูกจะบีบรัดตัวแรงขึ้น แต่ยังคงไม่เป็นจังหวะ อาการเจ็บเกิดทางหน้าท้อง และไม่สัมพันธ์กับการบีบรัดตัวของมดลูก อาจเกิดขึ้นทันทีและหายไปทันที บางครั้งอาจเจ็บนาน 3-4 นาที แต่ปากมดลูกยังไม่เปิด
เจ็บจริงเป็นไง มดลูกจะบีบรัดตัวรุนแรงจนรู้สึกเจ็บ โดยเริ่มเจ็บจากทางด้านหลังส่วนล่างบริเวณกระเบนเหน็บ แล้วร้าวมาทางด้านหน้า จากเจ็บน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ระยะเจ็บและระยะพักเป็นจังหวะสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันปากมดลูกก็จะขยายตัวออกและผนังปากมดลูกจะบางลง ถ้ามีอาการเหล่านี้ด้วย เช่น มีมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด, ถุงน้ำคร่ำแตก แสดงว่าใกล้คลอดแล้วล่ะ ให้เก็บของรีบบึ่งไป รพ. เลย

เมื่อคุณแม่...พร้อมคลอด
         ช้าเร็วคุณแม่ก็ต้องมาถึงจุดนี้ ส่วนจะลงเอยด้วยวิธีการคลอดแบบไหนเป็นอีกเรื่อง บางทีคุณแม่อยากคลอดปกติ คลอดตามธรรมชาติ แต่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อตัวแม่หรือตัวลูก ก็อาจต้องผ่าคลอด ตรงนี้คุณหมอจะเป็นคนตัดสินใจเลือกวิธีที่ปลอดภัยที่สุดค่ะ


สำหรับการคลอดปกติ เมื่อครบกำหนดคลอดกระบวนการคลอดจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือคุณแม่จะมีอาการเจ็บครรภ์จากการที่มดลูกบีบรัดตัวเพื่อผลักดันทารกให้เคลื่อนตัวออกมา แต่หากคุณแม่ไม่มีแรงเบ่งหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ไม่สามารถออกแรงเบ่งคลอดได้ เช่นเป็นโรคหัวใจ หรือจำเป็นต้องรีบให้ทารกคลอดออกมาไม่งั้นอาจเป็นอันตราย ก็อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยในการคลอด ซึ่งเครื่องมือช่วยคลอดที่ได้รับความนิยมมี 2 ชนิดคือ
(1) คีมช่วยคลอด คุณหมอจะสอดคีมเข้าไปด้านข้างของศีรษะทารกทีละข้าง แล้วดึงทารกออกมาอย่างนุ่มนวล หลังคลอดอาจพบรอยแดงที่ศีรษะบริเวณคีมคีบ แต่จะหายไปเองภายใน 2-3 วัน
(2) เครื่องดูดสุญญากาศ คุณหมอจะใช้โลหะกลมรูปร่างคล้ายถ้วยเล็ก ๆ ดูดกับหนังศีรษะทารกแล้วดึงให้ทารกเคลื่อนต่ำลงมาพร้อมกับแรงเบ่งของแม่ หลังคลอดศีรษะทารกอาจนูนเป็นลักษณะคล้ายจุก ซึ่งจะหายไปเองใน 1-2 วัน
เห็นสภาพศีรษะลูกแล้วก็อย่าบ่อน้ำตาแตกกันล่ะ การใช้เครื่องมือช่วยคลอดเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วไป ยังไงก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน เรื่องสวยเรื่องงามเอาไว้ทีหลังค่ะ


         ผ่าตัดคลอด จริงๆ แล้วถ้าคลอดปกติได้คุณหมอก็อยากให้คุณแม่คลอดน้องเองค่ะ ก็อย่างที่บอกว่าการคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติ ระยะพักฟื้นจึงสั้นกว่าผ่าตัดคลอดเยอะ แต่ถ้าปัจจัยไม่เอื้อ คลอดเองแล้วเสี่ยง คุณหมอก็จะแนะนำให้ผ่าตัดทารกออกมาทางหน้าท้อง กรณีที่จะจำเป็นต้องผ่าคลอด เช่น คลอดยากเพราะเกิดการติดขัด, มีภาวะรกเกาะต่ำ, ทารกอยู่ในภาวะวิกฤติ หรือมีภาวะเสี่ยงอื่นๆ เช่น มีแผลเป็นที่ผนังมดลูก, ตกเลือดก่อนคลอด, คุณแม่มีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง เป็นต้น



               




ไม่มีความคิดเห็น: