วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นอนกรนอันตราย...เอ๊ะยังไง!

ครอกฟี้ ๆๆ เสียงกรนที่รบกวนการนอนหลับของคุณยามค่ำคืน เกิดจากลิ้นไก่ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ห้อยลงมาจากด้านหลังของเพดานอ่อนมีการสั่นกระพือมากกว่าปกติขณะนอนหลับ แหม่...จะว่าไปก็ชวนให้หัวเสียจริงๆ นั่นแหละ จนอยากลุกขึ้นมาเบิ๊ดกะโหลก เอ้ย ไม่ใช่ สะกิดคนสร้างเสียงกรนให้ตื่น เผื่อจะเลิกกรนให้คุณได้หลับสนิทบ้าง แต่พอเจ้าตัวหลับผล็อยอีกครั้ง มาอีกล่ะ เสียงกรนอันน่ารำคาญ เฮ้อ!



อย่าเพิ่งเซ็งหรือเบื่อค่ะ ถ้าคนที่คุณรักนอนกรนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ถึงเวลาสะกิดเค้าแล้วค่ะ ไม่ใช่สะกิดให้ตื่นแต่สะกิดเตือนให้ไปพบคุณหมอ เพราะการนอนกรนไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่เราเคยเชื่อๆ กันแล้ว แต่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้เลยทีเดียวหากการนอนกรนนั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วย

แล้วไอ้ภาวะที่ว่านี้มันเป็นยังไง ให้ลองจินตนาการตามนะคะ ปกติคนที่นอนกรนจะมีช่วงที่กรนเสียงค่อยและดังสลับกันไป พอหลับลึกขึ้นก็จะกรนดังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะมีอยู่ชั่วขณะหนึ่งที่คนนอนกรนจะหยุดกรน ซึ่งชั่วขณะนั้นจะมีการหยุดหายใจเกิดขึ้น ซึ่งร่างกายจะตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนด้วยการทำให้การหลับถูกขัดขวาง คนที่นอนกรนก็จะตื่นขึ้นและลุกนั่งหายใจเฮือกเหมือนคนขาดอากาศ หรือสำลักอากาศขณะหลับ ลองสังเกตคนใกล้ตัวว่ามีอาการอย่างที่บรรยายมามั้ย ถ้ามีนี่น่าตกใจแล้วนะคะ

ที่พูดนี่ไม่ได้ขู่ให้กลัว เพราะถ้าคนเรามีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เป็นวงจรซ้ำกันหลายๆ ครั้งใน 1 คืนอย่างนี้ ถือว่าไม่ปกติแล้วล่ะ ผลเสียที่เห็นชัดๆ ก็จะเกิดจากการนอนหลับที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้มีอาการง่วงนอนมากผิดปกติระหว่างวัน เช่น ง่วงหรือหลับในขณะขับรถ, นั่งอ่านหนังสือ หรือมีอาการที่เกิดจากการนอนไม่อิ่ม เช่น ปวดศีรษะในตอนเช้า, สะลึมสะลือเป็นช่วงๆ หรืออาจมีพฤติกรรมความต้องการทางเพศลดลง หงุดหงิดง่าย เป็นต้น ส่วนผลเสียต่อสุขภาพอย่างอื่นที่คุณอาจคาดไม่ถึง เช่น อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง, สมองขาดออกซิเจน, ความดันเลือดในปอดสูง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ รู้ยังงี้แล้วก็ไปพบคุณหมอรักษาดีที่สุดก่อนจะเกิดเรื่องร้ายๆ ที่ไม่น่าเกิด

จริงๆ การนอนกรนแบบไม่เป็นอันตรายก็มีนะ คือนอนกรนโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย กรณีอย่างนี้คนนอนกรนไม่เดือดร้อน แต่คนนอนด้วยนี่สิแย่หน่อยที่ต้องทนรำคาญ แต่จะว่าไปคนนอนกรนก็อาจถูกยี้ไม่มีใครอยากนอนร่วมห้องด้วย กลายเป็นปัญหาการอยู่ร่วมในสังคมไป ก็อาจจะต้องหาทางแก้ไขเหมือนกัน

บางคนบอกยังไม่อยากไปหาหมอ ขอแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ก็มีอยู่หลายวิธีที่พอช่วยได้ เช่น ลดน้ำหนัก พูดง่ายๆก็คือ อย่าอ้วนนั่นเอง คนอ้วนรายไหนรายนั้นไม่รอดนอนกรนซักราย นอกจากนั้นก็ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารที่มีฤทธิ์กดประสาท พวกนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดนอนกรนได้ ท่วงท่าการนอนก็มีส่วน อย่างท่านอนหงายนี่ไม่แนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นท่าตะแคงดีกว่า

แต่ถ้าใครคิดว่าแก้ไขด้วยตัวเองคงไม่รอด ไปใช้บริการคุณหมอดีกว่า ก็เข้าไปปรึกษาคุณหมอได้เลย แต่การรักษาไม่ใช่ไปถึงหมอจะจับรักษาเลยนะ จะต้องทำ “การตรวจการนอนหลับ” ก่อน เพื่อดูว่าคนไข้นอนกรนแบบไหน อันตรายหรือไม่ ถ้าอันตรายก็จะดูว่ารุนแรงแค่ไหน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีมากหรือน้อยเพียงใด ผลการตรวจเหล่านี้แหละจะนำมาใช้ประเมินเพื่อวางแผนการรักษา



        การรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่วิธีง่ายๆ อย่างการใส่เครื่อง CPAP ไว้ขณะนอนหลับ เพื่อเพิ่มแรงดันของออกซิเจนให้ผ่านส่วนที่ตีบแคบลงไป หรือจะเป็นการผ่าตัดด้วยการลงมีดหรือใช้แสงเลเซอร์ไปขยายช่องทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก็มีค่ะ อย่างเช่น การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ วิธีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนกระชับและตึงตัวขึ้น  หรือการรักษาด้วย Pillar ซึ่งจะทำให้บริเวณเพดานอ่อนตึงตัวลดการสั่นสะเทือนลง แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไปแต่ที่แน่ๆ ช่วยลดการนอนกรนลงได้ ซึ่งก็ขึ้นกับคุณหมอว่าจะเห็นสมควรใช้วิธีไหน เพราะคนไข้แต่ละคนก็มีสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกคนก็ได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: