วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ส่องพัฒนาการลูกน้อย

      ลุ้นยิ่งกว่าหวย ก็พัฒนาการของลูกน้อยน่ะสิ พ่อแม่แทบร้อยทั้งร้อยจะเป็นกังวลหนักมากกับเรื่องนี้ กลัวลูกพัฒนาการไม่สมวัย ยิ่งถ้าเห็นลูกคนอื่นพัฒนาการดีวันดีคืน อ้าว! ไหงลูกเราพัฒนาการช้านักฟระ โอ๊ย เครียดดด ถ้างั้นมาดูกันดีกว่าว่า พัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงอายุควรเป็นยังไง คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่มโนกันไปเกินจริง หรือคิดเอาเองว่าลูกชั้นไม่มีปัญหา



    อายุ 1 เดือน  ทารกสนใจมองวัตถุ โดยเฉพาะหน้าคน
    อายุ 2 เดือน  ทารกจะเริ่มยิ้ม ฟังเสียงและส่งเสียงในคอ
    อายุ 3 เดือน  ทำท่าคว้าของเล่นที่อยู่ข้างหน้าได้แต่ยังคว้าไม่ได้
    อายุ 4 เดือน   คว้าของ เอาของเข้าปาก คว่ำ หัวเราะ
   อายุ 6 เดือน   เล่นกับเงาในกระจก รู้จักคนแปลกหน้า เปลี่ยนของในมือได้ ฟันซี่แรกขึ้น สามารถนั่งเองได้ เลียนเสียง
    ายุ 8 เดือน  คลานได้

   อายุ 9 เดือน ยืนเกาะได้ หยิบของเข้าและออกจากภาชนะ หยิบของด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ
    อายุ 10 เดือน  สามารถเรียก “แม่” ได้ โบกมือ ปรบมือ
   อายุ 11 เดือน เกาะเดินได้ ชอบเปิดหนังสือและปิดทีละหลายหน้า
   อายุ 12 เดือน ทำตามสั่งง่ายๆ ได้ ตั้งไข่ พูดเป็นคำ “ผม” “หม่ำ”  หยิบของชิ้นเล็กๆ เช่น เส้นผม จับของตามต้องการ
    อายุ 1 ปี 3 เดือน  ต่อของซ้อนกัน คลานขึ้นบันได
    อายุ 1 ปี 8 เดือน  ดึงของเล่นแยกจากกัน รูดซิป


    อายุ 2 ปี  ลงบันไดได้เอง วิ่งได้ พูดสองคำติดกัน พูดคนฟังเข้าใจประมาณ 50%
    อายุ 2 ปี 6 เดือน  หัดนับ เดินเขย่งเท้า
   อายุ 3 ปี สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในหลายๆ ด้าน ได้แก่ รับประทานอาหารเองได้ แต่งตัวเองแต่ติดกระดุมยังไม่ได้ แปรงฟันเอง พูดเป็นประโยค ขึ้นลงบันไดสลับเท้า
    อายุ 4 ปี สามารถวาดรูปคนได้ รู้จักสีต่างๆ ร้อยลูกปัดได้ ใช้กรรไกรตัดกระดาษ พูดแล้วคนอื่นฟังเข้าใจ 100%

      
       ถ้าลูกน้อยของคุณไม่ได้มีพัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างที่กล่าวมา ควร “เอ๊ะ” บ้างนะ อย่าคิดแต่ว่า “คงไม่เป็นไร” แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยัง งง ๆ งวย ๆ กับภาพรวมของพัฒนาการที่เอามาฝากข้างต้น ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ควร “เอ๊ะ” งั้นให้สังเกตว่าลูกของคุณมีลักษณะชวนผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีควรได้รับการแก้ปัญหาโดยด่วน

การได้ยิน
·       ในเดือนแรกเด็กไม่สะดุ้งเวลามีเสียงดังใกล้ตัว
·       6 เดือน ไม่หันมองหาตามเสียงเรียก

การมองเห็น
·       3 เดือน ไม่มองตามสิ่งของหรือหน้าคนที่เคลื่อนไหวอยู่ ตรงหน้า
·       6 เดือน ไม่คว้าของ
·       9 เดือน ไม่หยิบของที่วางอยู่ตรงหน้า

การเคลื่อนไหว
·       แขนขาขยับไม่เท่ากันหรือเคลื่อนไหวน้อย
·       3 เดือนไม่ชันคอ
·       6 เดือนไม่คว่ำ
·       9 เดือนยังไม่นั่ง
·       1 ปี ยังไม่เกาะยืน
·       อายุเกิน 2 ปี ยังล้มง่าย เก้งๆ ก้างๆ

การรู้จัก...และการใช้ภาษา
·       10 เดือน ยังไม่เลียนเสียงพูด
·       1 ปี ยังไม่เรียนท่าทาง
·       1 ปีครึ่ง ยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ
·       3 ปี ยังไม่พูดเป็นประโยคโต้ตอบ

มีปัญหาอื่นๆ เช่น
·       ซนผิดปกติ
·       ก้าวร้าว
·       แยกตัว ไม่สนใจเล่นกับคนอื่น


แบ่งเป็นกลุ่มอย่างนี้คงพอจะประเมินพัฒนาการของลูกได้ชัดขึ้นนะคะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าพัฒนาการลูกไม่โอเค ควรรีบพาไปพบคุณหมอ การรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้ผลดีกว่าปล่อยจนอายุมากขึ้น ดั่งสุภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” นั่นล่ะค่ะ แต่หมอเด็กทั่วไปไม่ตอบโจทย์กรณีนี้ ต้องเป็นหมอด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ซึ่งจะให้คำแนะนำ ปรับพฤติกรรม กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก


แต่บอกไว้ก่อนว่าเวลาไปตรวจรักษา คุณพ่อคุณแม่อย่าใจร้อน เพราะคุณหมอต้องซักประวัติแล้วยังต้องดูพฤติกรรมของเด็กในห้องตรวจด้วย จึงอาจต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงหรือกว่านั้น บางทีการตรวจก็อาจต้องทำมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะหมอยังวินิจฉัยเด็กในการตรวจครั้งแรกไม่ได้ เนื่องจากเด็กกลัวหรือตื่นเต้น เด็กยังไม่พร้อมเพราะง่วงหรือหิว เป็นต้น ทำให้พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กต่างไปจากปกติ จึงอาจต้องมีการนัดมาประเมินซ้ำเป็นระยะๆ ส่วนการรักษาก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน ไม่ใช่วันสองวันไม่เห็นผลแล้วไปเหวี่ยงไปวีนกับคุณหมอ อันนี้ไม่สมควรนะคะ ยังไงก็ขอให้อดทน การรักษาจะได้ผ่านไปอย่างราบรื่นและเกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กมากที่สุด




ไม่มีความคิดเห็น: