วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หม่ำ หม่ำ...ยังไง ดี๊ ดี กับพัฒนาการ

            หลังจากอุ้มท้องมาน้าน นาน ลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงอยากเห็นเบบี้มีพัฒนาการสมวัย ปกติพ่อแม่ก็จะเฝ้าสังเกตว่าแต่ละวันลูกน้อยมีพัฒนาการอะไรขึ้นมามั่ง คือใจร้อนไง อยากเห็นลูกยิ้ม หัวเราะ เรียกแม่ โอ๊ย สารพัดจะคาดหวัง ถ้าคุณอยากเห็นพัฒนาการที่ดีวันดีคืนของลูกน้อย “อาหาร” ก็สำคัญไม่แพ้เรื่องไหนๆ นะจะบอกให้
     


แล้วก็ไม่ต้องไปควานหาอาหารสุดพิสดารจากที่ไหนให้เมื่อยตุ้ม น้ำนมจากอกนี่ล่ะคร้า สุดยอดอาหารสำหรับเจ้าตัวน้อยของคุณ เนื่องจากมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท วิตามิน และเกลือแร่ โดยเฉพาะน้ำนมช่วง 4 - 6 วันแรก นี่แหละ ซู้ดยอดด เพราะมีปริมาณโปรตีน เกลือแร่ และภูมิคุ้มกันโรคสูงกว่าน้ำนมที่ออกมาในระยะหลังๆ แถมนมแม่ยังลดปัญหาการเกิดโรคภูมิแพ้ เพราะไม่มีโปรตีนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผิดกับนมผสมที่เป็นนมวัว เด็กมีโอกาสแพ้โปรตีนในนมวัวได้ รู้ปะ? ในนมวัวมีโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่า 20 ชนิดเลย โดยโปรตีนหลักที่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็คือ เคซีน และ เบต้าอิมมูโนกลอบบูลิน


ดังนั้นให้เจ้าตัวน้อยดูดนมจากเต้าดีที่สุดนะจ๊ะ จัดกันยาวไปประมาณ 4 – 6 เดือนกันเลย หลังจากนั้นถึงค่อยลดระดับนมแม่มาเป็นแค่อาหารเสริม คือยังให้กินต่อไปนั่นแหละแต่ไม่ได้เป็นอาหารหลักแล้วไง แล้วไปเพิ่มอาหารเสริมอย่างอื่นในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอาหารหลักในที่สุด

แล้วนมผสมนำมาใช้เลี้ยงลูกได้มั้ย ก็ได้ค่ะถ้ามันจำเป็น อย่างคุณแม่ไม่สะดวกให้ลูกกินนมตัวเอง เป็นต้นว่ามีปัญหาสุขภาพ, มีปัญหาหัวนม ต้องไปทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ อยากให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะดีกว่า เดี๋ยวนี้เค้าก็รณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันโครมๆ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์อย่างที่พูดไปข้างต้นแล้ว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังประหยัดตังค์ไม่ต้องจ่ายไปกับค่านมกระป๋องที่แสนแพง สะดวกก็สะดวก เปิดเต้าก็ดูดได้เลย ไม่ต้องคำนวณสัดส่วนตอนชงให้ยุ่งยาก สะอาดและปลอดภัยนี่คงไม่ต้องอธิบายมาก อย่างนมผสมถ้าเตรียมไม่ถูกสุขลักษณะ ทารกก็อาจจู๊ดๆ หรือติดเชื้อได้ ปัญหาลูกอ้วนก็ไม่มีมาให้ปวดหัว เพราะน้ำนมแม่จะมีปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อทารกดูดจนอิ่มแล้วก็จะหมดพอดี ต่างกับการเลี้ยงด้วยนมผสม คุณแม่มักจะยัดเยียดให้กินจนหมดขวด ก็เลยได้รับนมผสมมากเกินไป

ส่วนผลดีต่อจิตใจก็มีนะ ขณะให้ลูกดูดนมสายใยความผูกพันมันก็จะยิ่งแน่นแฟ้น ก็แหม่..ลูกดูดนมจากเลือดจากเนื้อเราเองนี่เนอะ พูดแล้วน้ำตามา 555 ส่วนตัวคุณแม่เองก็ได้อานิสงส์จากให้ลูกดูดนมตัวเอง อย่างเมนส์กว่าจะกลับมาอีกทีก็โน่น 8 เดือน 12 เดือนนั่นแหละ ต่างกันลิบกับคุณแม่ที่เลี้ยงด้วยนมผสม ประมาณ 2 - 4 เดือนก็มาล่ะ ยังงี้ต้องวางแผนครอบครัวดีๆ ไม่งั้นอาจตุ๊บป่องๆ แบบไม่ทันระวัง อ้อ การที่คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ว่ากันว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งของเต้านมด้วยนะ


นอกจากกินนมแม่แล้ว ถึงระยะหนึ่งคุณแม่ต้องเริ่มอาหารเสริมให้เจ้าตัวน้อยด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี้ยงด้วยนมแม่ไปตลอด สำหรับอาหารเสริมควรเริ่มตอนประมาณ 3 – 4 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตามนี้เป๊ะๆ คือต้องดูสภาพของเด็กว่าพร้อมหรือไม่ด้วย อย่างถ้าเด็กอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ พี่น้องสารพัดจะแพ้ เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ แพ้อาหาร แพ้อากาศ ก็อาจประวิงเวลาในการเริ่มอาหารเสริมออกไปก่อน แต่เด็กบางคน โอ้โห...ทานนมเก่งเว่อร์จนแม่ผลิตน้ำนมไม่ทันกันเลยทีเดียว สุขภาพก็ดีเยี่ยม ท้องอืดท้องเฟ้อไม่มี๊ ยังงี้แค่ 2 เดือน ก็อาจจะเริ่มอาหารเสริมเช่นกล้วยได้             

แล้วจะเสริมตอนไหนถึงเหมาะล่ะ ไม่ใช่นึกอยากให้อาหารเสริมตอนไหนก็ให้ อาจทำให้เด็กทานนมไม่ลงเพราะดันอิ่มอาหารเสริมไปซะก่อน ช่วงแรกควรเริ่มป้อนระหว่างมื้อนม จากนั้นค่อยๆ เลื่อนจนมาอยู่ตามหลังนมทันที ต่อไปเด็กก็อาจจะทานอาหารเสริมแทนนมไปเลย

ถ้าเด็กงอแงไม่ยอมกินอาหารเสริม จะกินนมลูกเดียวล่ะ ทำยังไง? พ่อแม่ก็ต้องใจเย็น ไม่ต้องไปบังคับ นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่สักหน่อย ทอดเวลาออกไปก่อนก็ได้ รอสัก 1 – 2 อาทิตย์ แล้วค่อยเริ่มใหม่ อาจจะปรุงแต่งรสชาติให้หวานขึ้นอีกเล็กน้อย



ทีนี้มาลองดูตัวอย่างอาหารเสริมสำหรับลูกน้อยของคุณกันค่ะ คุณแม่อาจเริ่มอาหารเสริมตอนอายุ 3 เดือน ดังนี้
-  อาหารเสริมจำพวกผลไม้ คุณแม่อาจครูดผิวนอกของกล้วยสุกให้เด็กทาน คุ้นๆ กันมะ กล้วยน้ำว้าสุกนี่นิยมให้เด็กทานมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายของเราแล้วล่ะ ถ้าจะให้ผลไม้อื่น เช่น แอปเปิล มะละกอ ส้ม องุ่น ก็ได้ แต่ต้องบดให้ละเอียด พวกผลไม้ย่อยยาก เช่น มังคุด ลางสาด ขนุน ฯลฯ ให้เลี่ยงไปก่อน พอเด็กเริ่มมีฟันก็ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ พอที่เด็กจะเคี้ยวได้ก็พอ
-  ข้าวตุ๋นบดใส่น้ำซุปผสมกับผักใบเขียวที่ย่อยง่ายๆ เช่น ตำลึงอ่อน ฟักทอง ผักกาดขาว เป็นต้น ก็เป็นอาหารเสริมที่ทำได้ไม่ยาก คุณค่าเพียบ ยังไงก็เลือกผักที่ไม่มีกลิ่น รสไม่ขม ไม่งั้นเด็กอาจยี้ไม่ยอมทาน   พออายุ 4 เดือน เริ่มให้ทาน “ไข่” ได้ค่ะ แต่ต้องระวังถ้าคนในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหาร เด็กอาจมีโอกาสแพ้ไข่ได้ ในเด็กกลุ่มนี้มักให้เริ่มทานไข่ขาวเมื่ออายุประมาณ 8 – 9 เดือน

อายุ 4 – 6 เดือน เริ่มรับประทานเนื้อและปลาได้ โดยเอามาต้มหรือตุ๋นแล้วบดให้ละเอียด อาจเสริมด้วยถั่วแทนบ้างก็ได้


ตัวอย่างอาหารเสริมข้างต้นคงพอเป็นไอเดียให้คุณแม่เอาไปต่อยอดได้นะคะ ก่อนจากก็อยากจะเน้นย้ำอีกรอบ อาหารนั้นสำคัญต่อพัฒนาการของทารกอย่างยิ่ง จะคุณแม่มือเก่าหรือมือใหม่ควรให้ความใส่ใจสุดๆ ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: