วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มา มะ...มาถนอม “ข้อ”

        ถ้าพูดถึงเรื่องการถนอมข้อ ในร่างกายคนเราก็มีข้อเยอะแยะ แล้วจะเป็นข้อไหนดีล่ะ ไม่ต้องคิดเยอะค่ะ ตอนนี้จะขอพูดเรื่องการถนอม “ข้อเข่า” ก็แหม...เห็นคนบ่นๆกันเยอะ เรื่องปวดข้อเข่า จะไม่ปวดยังไงไหว เวลาคนเรายืนข้อเข่าแต่ละข้างต้องแบกรับน้ำหนักข้างละประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว แถมในชีวิตยังมีสารพัดกิจกรรม เดิน วิ่ง กระโดด ที่ทำให้ข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า แล้วยังทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมทำร้ายข้อเข่าอีกล่ะ สังขารก็ร่วงโรยตามวัย โอกาสที่โรคข้อเข่าเสื่อมจะมาเล่นงานย่อมเกิดขึ้นได้




ข้อเข่าเสื่อมมักเป็นกันมากในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่คนอ้วนหรือคนที่ทำงานหนักใช้ข้อเข่าสมบุกสมบันอาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรหรือเร็วกว่าคนปกติทั่วไปได้

อาการของข้อเข่าเสื่อมมีดังนี้ ปวดขัดในข้อเข่าเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี มักจะปวดมากเวลางอเข่า เช่น นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ หรือเมื่อเดินไกลๆ หรือขณะก้าวขึ้นบันได แต่ถ้าเหยียดเข่าตรงจะปวดน้อยลง เมื่อจับเข่าโยกไปมามักจะมีเสียงดังกรอบแกรบ ในรายที่เป็นมากอาจมีข้อเข่าบวมและถ้าเป็นนานๆ จนข้อเข่าโก่งออกด้านนอกแสดงว่าข้อเข่าเสื่อมมากแล้ว


ข้อเข่าเสื่อมเป็นแล้วเป็นเลย ไม่หายขาดนะ คุณหมอทำได้แค่ให้ยาลดการอักเสบหรือบรรเทาปวดเท่านั้น กรณียังเป็นไม่มากก็กินยา แล้วบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าเพื่อให้ข้อเข่าแข็งแรง จะช่วยลดอาการปวดเข่าได้ การบริหารควรทำทุกวันเช้า – เย็น ประมาณ 1 เดือนจึงจะเห็นผล
ท่าบริหาร
·  นั่งบนเก้าอี้ที่ค่อนข้างสูงเพื่อสามารถห้อยขาได้
·  ถ่วงน้ำหนักที่หลังเท้า ½ กิโลกรัม
·  เกร็งกล้ามเนื้อเข่า นับ 1 – 10 นับเป็น 1 เซ็ต ทำประมาณ 10 - 20 เซ็ต 

ถ้าเข่าเสื่อมมากเดี๋ยวนี้คนไข้สามารถผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมแทนได้ แต่ราคาแพงเอาเรื่องอยู่ เห็นแล้วแอบมีปาดเหงื่อเลยล่ะ แต่ถ้าพิจารณาว่าคุ้มที่จะจ่ายก็ลองปรึกษาคุณหมอดู แต่วิธีนี้คุณหมอมักแนะนำในคนไข้ที่อายุยังน้อยหรือมีความจำเป็นเรื่องอาชีพค่ะ

หยุดทำร้ายข้อเข่า! ถ้าไม่อยากข้อเสื่อมก่อนวัย
·  หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ เพราะจะไปเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า ทำให้การนำอาหารไปสู่เซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อโดนรบกวน
·  ลดน้ำหนักซะ ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกิน ข้อเข่าจะได้ไม่ต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินตลอดเวลา
·  เลี่ยงใส่รองเท้าส้นสูง จะช่วยลดแรงกดทับมากกว่าปกติทั้งที่ข้อเข่า และข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า


·  ขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็น
·  เลือกออกกำลังกายที่ไม่มีทำร้ายข้อเข่า เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

เพิ่มความแข็งแรงให้ข้อเข่า

หมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ 


ขอบคุณภาพประกอบ : http://xn--22c6d0amx5a0dc4ee.com/?p=943

ไม่มีความคิดเห็น: