วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทำบอลลูน...มารู้จักกัน

พูดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาก็หลายหน คงรู้กันแล้วล่ะว่า การรักษาโรคนี้ทำยังไงมั่ง แต่ตอนนี้จะขอหยิบเฉพาะเรื่อง “การทำบอลลูน” มาคุยกันจร้า หลายคนบอกได้ยินบ่อยๆ ไอ้การทำบอลลูนเนี่ย แต่ถามว่านึกภาพออกมั้ย แหม่...เห็นส่ายหน้ากันยิก

เอาเป็นว่าในตอนนี้จะอธิบายเรื่องการทำบอลลูนรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างง่ายๆ อ่านแล้วจะได้พอเห็นภาพกันบ้างค่ะ  
เริ่มจากรูปหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ หน้าตาเป็นแบบเนี้ยแหละ


ทีนี้ถ้าหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจมีการก่อตัวของ plaque ที่ผนังหลอดเลือด อย่างนี้...


ก็จะทำให้หลอดเลือดแคบลงหรืออุดตันส่งผลให้หัวใจขาดเลือดได้ ดังภาพ


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://www.eldercarethailand.com

ผู้ป่วยจะมีอาการสำคัญ คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยง่ายโดยเฉพาะในเวลาออกกำลังกาย


การรักษามีหลายวิธี ที่นิยมวิธีหนึ่งคือ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน

วิธีการทำ
แพทย์จะทำการสอดสายขดลวดซึ่งเป็นสายนำเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือหรือขาหนีบของคนไข้


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://www.oknation.net

เมื่อปลายสายนำอยู่ในหลอดเลือดหัวใจแล้ว แพทย์จะสอดเส้นลวดขนาดเล็กกว่าเส้นผมผ่านสายนำเข้าไปจนกระทั่งปลายเส้นลวดผ่านเลยจุดตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นแพทย์จะใช้เส้นลวดเป็นแกนช่วยนำสายชนิดพิเศษที่มีบอลลูนติดอยู่ตรงปลาย ใช้ภาพเอกซเรย์ที่เห็นบนจอช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนให้ตรงกับจุดที่มีการตีบแคบของหลอดเลือด แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนกางออก แรงดันของบอลลูนจะผลักรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจให้เปิดกว้างทำให้เลือดไหลผ่านได้สะดวกขึ้น เสร็จแล้วก็จะดึงบอลลูนออก

ถ้าขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนแล้ว แพทย์เห็นว่ารอยตีบยังขยายได้ไม่กว้างพอ หรือต้องการลดโอกาสเกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจ ก็จะใส่ขดลวด (Stent) คาไว้บริเวณรอยตีบแคบ


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://thearokaya.co.th

จากการศึกษาพบว่า ถ้าทำบอลลูนโดยไม่ใส่ขดลวดจะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด 30-40% ปัจจุบันแพทย์จึงมักใส่ขดลวดพร้อมกับการทำบอลลูน เพื่อลดอัตราการเกิดตีบซ้ำของเส้นเลือดหลังทำบอลลูน


ขอบคุณภาพประกอบ :  http://www.suriyothai.ac.th 

พอมองเห็นภาพกันไม่มากก็น้อยนะคะ บ๊าย บาย

ไม่มีความคิดเห็น: