วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ผ่าตัดผ่านกล้อง...ไม่รู้จักระวังตกยุคนะจ๊ะ

สมัยนี้พูดถึงการผ่าตัด ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัดด้วยการเปิดแผลใหญ่ๆ เสมอไปแล้วล่ะค่ะคู๊ณ คุณหมออาจเสนอทางเลือกให้อย่าง “การผ่าตัดผ่านกล้อง” (Laparoscopic surgery) ซึ่งแผลจะเล็กกว่า (อุ๊ย...คุณหมอไม่ได้หลอกดาวใช่ปะ) เจ็บตัวก็น้อยกว่า (โอ้ว...ในฝันเลยนะนั่น) ระยะฟื้นตัวสั้นมาก (ว้าว...งั้นก็ได้ไปลั้ลลาเร็วขึ้นดิ) หลายคนฟังแล้วไม่ต้องคิดหลายตลบ รีบเซย์ “เยส” สะบัดบ๊อบใส่การผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้องใหญ่ๆ แบบเดิมทันที 5555



ทำไมการผ่าตัดผ่านกล้องถึงมาพร้อมสโลแกน “แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว” ได้ ก็คงต้องมาดูถึงเทคนิคการทำกัน ขอยกตัวอย่างโรคนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งปัจจุบันนิยมผ่าตัดผ่านกล้องมากที่สุด ขั้นตอนการผ่าตัดก็คือ คุณหมอจะเจาะผ่านผนังหน้าท้องเข้าไปในช่องท้อง แล้วสอดกล้องขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร เข้าไปส่องหารอยโรค จากนั้นจะเจาะผนังหน้าท้องเพิ่มอีก 2 - 3 รู แล้วใส่เครื่องมือผ่าตัดขนาดใกล้เคียงกันเข้าไปทำการผ่าตัด โดยขณะผ่าตัดจะดูภาพผ่านจอทีวีไปด้วยซึ่งจะเห็นภาพพร้อมกันทั้งคุณหมอที่ผ่าตัดและคุณหมอช่วยผ่าตัด 

ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เห็นรอยแผลเป็นยาว
ผ่าตัดผ่านกล้อง แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก

เนื่องจากการผ่าตัดเป็นเพียงแค่การเจาะผ่านกล้ามเนื้อเข้าไป ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อเยอะเหมือนผ่าเปิดหน้าท้อง เพราะทั้งกล้องทั้งเครื่องมือผ่าตัดเล็กซะขนาดนั้น การบาดเจ็บจึงน้อย การฟื้นตัวของร่างกายก็เลยเร็วขึ้น หลังผ่าตัดไม่นานคุณหมอก็จะให้เริ่มกินได้ เรียกว่ากินเร็วกว่าผ่าตัดแผลใหญ่ พอฟื้นตัวเร็วยังงี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่คุณหมอจะรั้งตัวไว้ที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ก็จะกลับบ้านไปใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมปกติได้ภายในไม่กี่วันหรืออาจจะซักหนึ่งสัปดาห์

ส่วนเทคนิคที่ว่าทำไงให้ภายในช่องท้องมีพื้นที่มากพอให้เครื่องมือผ่าตัดทำงานได้สะดวก คุณหมอก็จะใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปให้ช่องท้องขยายตัวค่ะ ที่เลือกก๊าซตัวนี้ก็เพราะเป็นก๊าซไม่ติดไฟ เวลาคุณหมอเค้าผ่าตัดมันจะมีการตัดหรือจี้เนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าไง ถ้าขืนใช้ก๊าซที่ติดไฟได้ เดี๋ยวไฟได้ลุกกันพรึบพรับบรรลัยกันหมด


เหมือนจะเป็นของใหม่ยังงี้ก็มิได้หมายความว่าการผ่าตัดผ่านกล้องเพิ่งจะมาคิดค้นกันหรอกนะ จุดเริ่มต้นของการผ่าตัดผ่านกล้องต้องย้อนกลับไปร่วมร้อยกว่าปี นั่นคือในปี ค.ศ. 1902 คนแรกที่ทำการส่องกล้องผ่านรูเล็กๆเข้าไปดูอวัยวะในตัวสุนัขได้สำเร็จเป็นชาวเยอรมันชื่อ  Georg Kelling ค่ะ ครั้นถึงปี คศ. 1910 ก็มีรายงานความสำเร็จของการผ่าตัดผ่านกล้องในคนเป็นครั้งแรก จนกระทั่งหลังปี คศ. 1950 แล้วนั่นแหละจึงได้มีการพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือกันขนานใหญ่ ส่วนการใช้กล้องรับภาพเพื่อส่งเข้าฉายในจอทีวีนั้นมาประสบความสำเร็จเอาราว ปี ค.ศ. 1990 นี้เอง

หลังจากนั้นการผ่าตัดผ่านกล้องก็ก้าวหน้าราวติดปีก ถึงตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือพัฒนาไปมาก อย่างกล้องรับภาพก็พัฒนาจนเห็นภาพได้ละเอียดมาก ระดับ HD หรือ High definition กันเลยทีเดียว หรือจะเป็นกล้องสามมิติ 3D ก็มีนะเออ เอากะเค้าสิ รวมถึงพัฒนาจอภาพทีวีให้มีความละเอียดมากขึ้นด้วย ส่วนวิธีการผ่าตัดก็แจ่มไม่แพ้กัน นอกจากการผ่าตัดเจาะแผลหน้าท้องหลายๆ รู แล้ว ยังพัฒนาเทคนิคผ่าตัดโดยเจาะแผลเพียงรูเดียวที่สะดือมาเอาใจคนรักสวยรักงาม แต่ต้องบอกก่อนว่าถ้าผ่าแบบแผลเดียวจะใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า และเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงมากกว่า และที่ก้าวหน้าสุดๆ เห็นจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic surgery) ไม่ต้องต๊กกะจายว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานคุณหมอซะหมด ที่ต้องคิดค้นหุ่นยนต์มาช่วยก็เพราะบางทีการทำผ่าตัดด้วยมือมันมีข้อจำกัด อย่างบางทีรอยโรคมันอยู่ในมุมที่คับแคบเกินไป ก็ต้องอาศัยแขนกลเล็กๆ ของหุ่นยนต์นี่แหละมาช่วย เพราะแขนกลจะหมุนเปลี่ยนทิศทางในที่คับแคบได้ดีกว่ามือคนเยอะ แต่เทคนิคล้ำๆ อย่างนี้ก็มาพร้อมราคาที่แพงหูฉี่ แถมในบ้านเราก็ใช้เทคนิคนี้เฉพาะบาง รพ. เท่านั้น


เอาล่ะ ทีนี้มาดูกันว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทำอะไรได้มั่ง ที่นิยมสุดก็เห็นจะเป็นการนำมาใช้ผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดี  ส่วนอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่ง กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน  ไต ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ต่อมหมวกไต ฯลฯ ก็รักษาได้ อย่างคนไข้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปตัดต่อลำไส้ได้ หรือตัดต่อลำไส้ที่อุดตัน ตัดต่อท่อน้ำดีก็ยังได้ คนอ้วนมากๆ ก็มีการนำเทคนิคนี้ไปใช้ตัดต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ทางสูตินรีเวชก็นำเทคนิคนี้ไปใช้อยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่า ต้องการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่ เช่น คนไข้มีภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ หรือมีบุตรยาก คุณหมอก็จะเจาะหน้าท้องเพื่อส่องกล้องตรวจดู หรือรักษาความผิดปกติอื่นๆ เช่น ผ่าตัดปีกมดลูก, ท้องนอกมดลูก, ช็อกโกแลตซีสต์, ถุงน้ำรังไข่, ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก, ผ่าตัดมดลูก, ผ่าตัดเลาะพังผืดในช่องท้อง เป็นต้น


นอกจากการผ่าตัดทางช่องท้องแล้ว ทางช่องทรวงอกก็ทำได้เช่นกันค่ะ เช่น เข้าไปตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด, ตัดปอดในคนไข้ที่เป็นมะเร็งปอด, ตัดเยื่อหุ้มปอดเพื่อวินิจฉัยโรคปอด, ตัดต่อหลอดอาหารในคนไข้มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น


เอ้า...ยังไม่หมดแค่นั้นค่ะ การผ่าตัดผ่านกล้องยังนำมาใช้ผ่าตัดในบางตำแหน่งของร่างกายที่ผ่าแล้วทิ้งรอยแผลเป็นหราทำให้รู้สึกเสียเซลฟ์ได้ด้วยค่ะ อย่างการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ผ่าทีเห็นรอยแผลเป็นขวางลำคอ ถึงจะอาศัยรอยพับของผิวช่วยอำพรางแต่บางทีก็ยังตำตาอยู่ดีแหละ หรือคนไข้ที่มีก้อนเนื้องอกในเต้านม ถึงจะซ่อนอยู่ในร่มผ้าแต่ลึกๆแล้วก็ไม่อยากให้มีแผลเป็น ใครไม่เห็นก็ตรูนี่แหละเห็น  คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ขาก็เหมือนกัน แทบร้อยทั้งร้อยไม่อยากให้ทิ้งรอยแผลเป็นไว้บนเรียวขาแน่ๆ นั่นล่ะค่ะที่การผ่าตัดผ่านกล้องจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย  โดยคุณหมอจะเจาะรูในตำแหน่งที่ซ่อนรอยแผลได้ เช่น รักแร้ แล้วสอดเครื่องมือผ่านช่องใต้ผิวหนังไปยังตำแหน่งที่ต้องการรักษา

พูดๆมาดูเจ๋งดูดี แล้วผลเสียล่ะมีบ้างมั้ย? ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัดยังไงก็ต้องมีอยู่แล้วล่ะ ถ้าเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดใหญ่แล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อ หรือเลือดออกขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดก็จะน้อยกว่า แต่ถ้าระหว่างผ่าตัดดันเกิดมีอะไรผิดพลาดขึ้นก็มักจะรุนแรงกว่าผ่าเปิดแผลใหญ่นะคะ เช่น ถ้าหลอดเลือดใหญ่ทะลุ การห้ามเลือดก็จะทำได้ช้ากว่าการเปิดแผลแบบกว้างๆ เป็นต้น แต่ความผิดพลาดที่ว่ามานั้นโอกาสพบน้อยมากนะคะ ไม่ต้องตกใจ ที่ต้องบอกให้รู้เพราะไม่อยากให้มาด่าทีหลังว่าเอาแต่ข้อดีมาบอก ถ้าจะให้แนะนำก็คงต้องเลือกคุณหมอที่เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์สูงๆ ดีที่สุด

เรียกว่าดีและแทบจะปลอดภัยขนาดนี้ก็ทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ไปซะทุกคนก็หมดเรื่องว่ามะ แหม่...ใจเย็นค่ะ เพราะค่ารักษาแอบแพงเอาเรื่องอยู่ แต่ถ้าทำเป็นมองๆ ข้ามเรื่องราคาไป ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ค่ะ คนที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ก็อย่างเช่น  คนที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคอ้วน คนไข้ที่เคยผ่าตัดใหญ่ที่อาจจะมีพังผืดในช่องท้องมาก คนไข้ที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มาก หรือลำไส้บวมพองจนไม่มีช่องว่างในท้อง  เป็นต้น คุณหมอก็จะแนะนำให้ผ่าเปิดแผลใหญ่ไปเลย ไม่ต้องเสี่ยงทั้งคนไข้ทั้งคนผ่า ก็อย่าไปเซ้าซี้คุณหมอเค้าล่ะ เชื่อเหอะยังไงคุณหมอก็ต้องเลือกทางที่ดีที่สุดให้คนไข้เสมอ




ขอบคุณภาพประกอบ  : http://karimnawfal.com 
                                     

ไม่มีความคิดเห็น: