วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ยาระบาย...อย่าใช้พร่ำเพรื่อ

คนที่ทุกข์กับอาการท้องผูก แถมยังอดกังวลไม่ได้ว่านานวันไปอาจโดนริดสีดวงทวารเล่นงานเข้าอีก มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่หาทางออกแบบเอาง่ายเข้าว่า พึ่ง “ยาระบาย” มันซะเลย



ยาระบายหรือยาถ่าย...ชื่อก็บอกสรรพคุณโต้งๆ แล้วว่าเข้าไปช่วยเร่งการขับอุจจาระออกจากร่างกาย ทำให้ถ่ายคล่องปรื๊ดๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะล่อใจให้อยากใช้จนต้องเดินกลับไปร้านขายยาอีก  จำนวนคนที่แก้ปัญหาท้องผูกด้วยยาระบายมีมากเพียงใด ดูได้จากธุรกิจเกี่ยวกับยาระบายที่ทำเงินกันเป็นกอบเป็นกำ   เรียกว่าเดี๋ยวนี้คนหันไปพึ่งยาระบายกันจนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเป็นทางออกที่หวังผลได้เร็วที่สุดยังไงล่ะคะ 

แล้วยาระบายมีฤทธิ์ช่วยให้กากอาหารหรืออุจจาระในลำไส้ใหญ่ถูกขับออกมาได้ง่ายได้ยังไง อันนี้ก็สืบเนื่องจากตัวมันจะไปดึงน้ำออกจากผนังลำไส้เข้าไปเจือในเนื้ออุจจาระทำให้อุจจาระนิ่มจึงขับถ่ายออกได้โดยง่ายนั่นเอง


ฟังดูเหมือนจะดี แต่ผลดีนั้นจะปรากฏให้เห็นเฉพาะตอนใช้ช่วงแรกๆ เท่านั้น นานวันเข้ากลับจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะยาระบายทุกตัวเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผนังลำไส้ใหญ่ โดยจะออกฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ให้หดรัดตัวอย่างผิดปกติ เป็นการตอบสนองเพื่อขับสารที่ระคายเคืองออกนั่นเอง แม้แต่ยาระบายที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดก็มีผลต่อลำไส้ใหญ่ในทำนองเดียวกัน จากงานวิจัยพบว่า ผู้ใช้ยาระบายเป็นประจำนั้นผนังลำไส้จะบางกว่าปกติ เกิดการระคายเคือง จนเสื่อมหน้าที่ได้ในที่สุด อีกทั้งการหลั่งน้ำย่อยในทางเดินอาหารก็จะผิดไปจากปกติอีกด้วย

การใช้ยาระบายจะทำให้ร่างกายของเราเสียน้ำไปส่วนหนึ่งโดยทำให้เยื่อบุลำไส้ใหญ่ระคายเคือง เกิดอาการบวมน้ำ และปล่อยน้ำออกมาในรูของลำไส้ใหญ่ ในขณะเดียวกันยาก็จะกระตุ้นให้ผนังลำไส้เกิดการบีบตัวแล้วถ่ายออกมาเป็นอุจจาระเหลว และถ่ายหลายครั้งตามฤทธิ์ยา ซึ่งการสูญเสียของเหลวในปริมาณมากๆ ดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ การสูญเสียน้ำจะส่งผลต่อเนื่องไปยังทุกๆ เซลล์ในร่างกายของคนเรา หากปริมาณน้ำในร่างกายมีไม่เพียงพอ กระบวนการภายในเซลล์ตามปกติก็จะลดลง รวมถึงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วย และในหลายๆกรณีสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ค่ะ

เป็นธรรมดาที่ยาระบายจะเข้าเร่งการเคลื่อนตัวของอาหารผ่านลำไส้ ซึ่งเราต่างทราบกันดีว่าสารอาหารส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมที่นั่น การผลักดันอาหารผ่านลำไส้ก่อนการย่อยจะสมบูรณ์อาจนำไปสู่การขาดสารอาหารได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นยาระบายอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาอื่นๆ ตามมา เช่น ถ่ายเหลว มีมูกในอุจจาระ ปวดท้องอย่างกะทันหัน กระทั่งมีพิษต่อตับ


ผลเสียอีกประการของยาระบายที่เราส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึงก็คือ ถ้าเรากินยาระบายที่มีฤทธิ์แรงๆ ขณะมีอาการปวดท้อง ผลเสียร้ายแรงอาจเกิดตามมาได้ หากเรามิอาจจำแนกได้ว่าอาการปวดท้องแบบใดเป็นสัญญาณเตือนของไส้ติ่งอักเสบ ในกรณีนี้โอกาสที่ยาระบายจะเป็นสาเหตุให้ไส้ติ่งแตกก็ย่อมเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงอันตรายมาถึงตัวคุณโดยตัวคุณนั่นเองเป็นผู้หยิบยื่นให้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์


และที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือ คนที่กินยาระบายบ่อยๆ มักมีแนวโน้มใช้ยาชนิดนี้เป็นประจำคล้ายเสพติด นั่นคือจะต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม และถ้าหากหยุดใช้ยาโดยทันทีก็จะเกิดปัญหาท้องผูกตามมา เนื่องจากยาพวกนี้ได้ทำลายความสามารถของลำไส้ใหญ่ในการขับถ่ายตามธรรมชาติแบบถาวรไปเสียแล้ว ดังนั้นลำไส้ใหญ่จึงไม่สามารถบีบตัวไล่อุจจาระได้เอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ใช้ยาระบายเป็นประจำจึงหยุดยาไม่ได้  แถมยังทำให้อาการท้องผูกเป็นมากขึ้นอีก 



เห็นพิษภัยที่แฝงมากับยาระบายเยอะขนาดนี้ ถ้ายังไงคิดให้รอบคอบก่อนกินล่ะ ถ้ากินแก้อาการท้องผูกชั่วครั้งชั่วคราวหรือนานๆ ทีก็คงไม่กระไรนัก แต่ถ้าใช้ประจำต่อเนื่องเป็นเวลานานนี่ต้องคิดดีๆ จะได้ไม่คุ้มเสียซะเปล่าๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ให้ปรึกษาหมอหรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยดีที่สุดค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: