วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เล็กไป...ใหญ่ไป กลุ้มใจจัง!

        จะอะไรซะอีกล่ะ ก็หน้าอกของผู้หญิงเรานี่แหละ เล็กไปก็ทำเสียเซลฟ์ ใหญ่โตมโหฬารเกินไปก็ชวนให้หนักใจ แต่ว่าสมัยนี้แล้วคงเบาใจกันได้เยอะเพราะมีทางออกสวยๆ ด้วยการทำศัลยกรรม เล็กเกินก็ไปเสริม ใหญ่เกินก็ไปตัดออก เว้นแต่ว่าจะเป็นโรคกลัวมีดกลัวผ่าตัดขึ้นสมอง ก็คงต้องพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ต่อไป


             มาว่ากันที่สาวอกเล็กก่อน แหม่...เวลามีใครมาทักว่า “อกไข่ดาว” บ้างล่ะ “หันหน้าหันหลังดูแล้วไม่แตกต่าง” บ้างล่ะ โอ๊ย มันก็มีปรี๊ดเหมือนกันนะ สาวบางคนมีมาพอประมาณแต่ยังรู้สึกว่าไม่พอใจก็มี จะมาแบบไหนสรุปก็คือ หลายคนอยากเพิ่มขนาดหน้าอกให้มันใหญ่กว่าเดิม เดี๋ยวนี้สถานเสริมความงามที่ให้บริการผ่าตัดเสริมหน้าอกมีเยอะมาก ก็ต้องเลือกกันให้ดีๆ หมอไว้ใจได้มั้ย ฝีมือ ประสบการณ์ สถานที่เครื่องไม้เครื่องมือสะอาด ปลอดภัยมั้ย คิดว่าผู้หญิงเราคงไม่มีใครอยู่ดีๆ ก็เดินดุ่มๆ ไปขึ้นเขียงให้หมอผ่าโดยไม่ศึกษาข้อมูล แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเตือนกันไว้ก่อน




ทำไมต้องเตือนต้องดักไว้ก่อน บอกเลยว่าถึงการเสริมอึ๋มสมัยนี้ ข้อมูลจะเป็นที่รู้กันในวงกว้าง คือหมอจะผ่าโดยการเสริมด้วยถุงซิลิโคน แต่ก็ยังมีวิธีผิดๆ หลงหลุดรอดมาให้ได้ยินข่าวอยู่ประปราย อย่างการฉีดซิลิโคนเหลวเข้าไปเพิ่มขนาดหน้าอกนี่บอกเลยยังมีอยู่ ฉีดระยะแรก ๆ ก็ดูสวยดีหน้าอกขยายสมใจแต่ระยะยาวเกิดปัญหาทุกราย ไม่ว่าจะการอักเสบ การไหลของซิลิโคนเหลวจนเกิดการผิดรูป บิดเบี้ยว เป็นก้อนแข็ง หรือถึงขั้นเน่าเฟะ ต้องตัดเต้านมทิ้ง ฉะนั้นถ้าอยากเสริมอึ๋มเซย์โนวิธีฉีดเด็ดขาดนะคะ


ถ้าอยากเสริมหน้าอกควรปรึกษาหมอที่ทำด้านนี้โดยตรง โดยการเสริมจะใช้ซิลิโคนหรือถุงนมเทียม ซึ่งว่ากันว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ ปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย สำหรับถุงซิลิโคนจะมี 2 แบบ คือ แบบที่บรรจุด้วยน้ำเกลือ แบบนี้จะเป็นถุงเปล่า ๆ แล้วคุณหมอจะมาฉีดน้ำเกลือบริสุทธิ์เข้าไปจนได้ขนาดที่คนไข้ต้องการ ส่วนอีกแบบจะเป็นชนิดที่บรรจุด้วยซิลิโคนเจลมาสำเร็จรูปเลย รูปทรงของถุงนมเทียมก็มีทั้งแบบทรงกลม และรูปทรงหยดน้ำ (ที่ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมชาติให้รูปทรงหน้าอก) ส่วนผิวนอกของถุงนมเทียมก็มีแบบผิวเรียบสนิท และแบบผิวขรุขระเหมือนผิวทราย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเกิดพังผืดรัดเต้านมได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้คนไข้เองก็ต้องป้องกันการเกิดพังผืดด้วย “การนวดหน้าอก” ด้วย อันนี้เลี่ยงไม่ได้ แต่จะนวด...ตอนไหน...ยังไง...มากน้อยแค่ไหน...ในถุงนมเทียมแต่ละแบบเดี๋ยวคุณหมอจะแนะนำเอง การหมั่นนวดคลึงหน้าอกก็เพื่อให้ถุงนมเทียมสามารถเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ลดการเกิดพังผืดรัดถุงเต้านม  การนวดควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน - 1 ปี นานหน่อยแต่เพื่อเต้านมที่สวยงามก็อดทนเข้าไว้

สำหรับขนาดของถุงซิลิโคนที่จะเสริมอึ๋ม คุณหมอก็มักแนะนำขนาดที่เหมาะสมกับหน้าอก ถ้าเล็กไปก็ไม่รู้จะเสริมไปเพื่อ? ถ้าใหญ่ไปก็ล้นทะลักจนอาจไม่น่าดู แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความต้องการคนไข้ล่ะนะ บางคนพอใจให้ใหญ่ๆ ไปเลย ก็ต้องคุยกับคุณหมอ


การผ่าเสริมอกสามารถเปิดแผลที่จะใส่ซิลิโคนเข้าไปได้หลายทาง เช่น รักแร้ ปานนม หรือใต้ราวนม แต่ถ้านิยมที่สุดก็เห็นจะเป็นทางรักแร้นั่นแหละ จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลเป็นก็เอาไปซ่อนแถวรักแร้ซะ สำหรับผลข้างเคียงของการเสริมอึ๋มก็เหมือนการผ่าตัดทั่วไป เช่น แผลอักเสบ อาการเจ็บปวดบวมช้ำที่บริเวณหน้าอกในระยะแรก แต่ก็มักจะหายได้ในเวลาไม่นานนัก ส่วนการตึงแข็งและเกิดพังผืดล้อมถุงนมเทียมก็ป้องกันด้วยการนวดเต้านมอย่างที่บอกไป อีกอาการหนึ่งที่อาจเจอได้หลังผ่าตัดช่วงระยะแรก ๆ คือ อาการชาที่ปานนม หัวนม ก็คุณหมอเล่นไปเลาะไปแหวกช่องเพื่อวางถุงนมก็อาจจะมีการดึงรั้งเส้นประสาทที่เลี้ยงหัวนมและปานนมได้ แต่ประมาณ 2 – 3 เดือน อาการก็มักจะดีขึ้นเอง

อ้อ...มีอกสวยอกอึ๋มแล้วก็ยังต้องหมั่นตรวจดูเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ นอกจากจะเป็นการตรวจดูโรคของเต้านมก็อาจเกิดขึ้นได้ตามปกติแล้ว ยังเป็นการเช็คว่าถุงซิลิโคนยังโอเคอยู่หรือเปล่า หากตรวจแล้วดูทะแม่งๆ ไม่แน่ใจก็ควรกลับไปให้คุณหมอเช็คดู แม้ว่าโอกาสที่ถุงซิลิโคนจะเกิดปัญหารั่วหรือฉีกขาดพบได้น้อยมากก็ตาม

ใช่แต่สาวอกเล็กที่เจอปัญหา คนอกใหญ่ก็มีเรื่องชวนปวดหัวเหมือนกัน หลายคนอาจจะคิดว่า อ้าว...อกใหญ่ไม่ดีเหรอ ใครๆ ก็อยากอกใหญ่ทั้งนั้นถึงได้ยอมเสียเงินเสียทองเสริมให้อึ๋มอยู่นี่ไง คือถ้ามันใหญ่พอดีมันก็ดีนั่นแหละ ทีนี้มันดันใหญ่เกินพอดีไง เรียกว่าใหญ่โตมโหฬารจนเทอะทะ มีไม่เยอะหรอกค่ะที่จะชอบ เพราะกลายเป็นเป้าสายตา ใครเห็นเป็นต้องวิจารณ์ พูดเลยว่าเสียสุขภาพจิต แต่ถ้าชอบเป็นจุดเด่นอันนั้นก็ไม่ว่ากัน

ส่วนผลทางกายก็ใช่น้อย คิดดูว่าการที่ต้องแบกเต้าหนักๆ อยู่ตลอดเวลา ก็อาจมีอาการปวดคอ ปวดหลังได้ บางคนอาจมีอาการชาบริเวณปลายมือ นิ้วก้อย เพราะน้ำหนักเต้านมไปดึงรั้งแผงกล้ามเนื้อหน้าอก ทำให้เกิดการกดเบียดของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงแขนและมือ บางทีก็พบการอับ ชื้นแฉะ แผลถลอกหรือเป็นเชื้อราบริเวณเนื้อหน้าอกใต้ราวนมที่เกิดจากการถูไถได้ ครั้นใส่เสื้อยกทรงช่วยพยุงเต้า ปัญหาก็ตามมาอีก ด้วยน้ำหนักเต้านมที่เยอะ สายบราก็เลยต้องรับบทหนัก ถ้าถอดบราแล้วเห็นร่องกดทับบริเวณบ่า แผลถลอกหรือแผลเป็น ๆ หาย ๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะ แหม...ฟังอย่างนี้แล้วยังจะมีใครนึกอิจฉาคนอกโตกันบ้างมั้ยน้อ


ก็เพราะอกโตจนสร้างปัญหานี่แหละ ถึงต้องมีการผ่าตัดลดขนาดเต้านมลง แก้กันตรงจุดไปเลย ใหญ่นักก็ตัดออกไปซะ ซึ่งคุณหมอจะแบ่งคนไข้เป็น 2 กลุ่มตามอายุ ถ้ายังเอ๊าะๆ เป็นวัยรุ่นวัยสาว กลุ่มนี้ขนาดเต้านมที่ใหญ่จะเป็นเนื้อต่อมเต้านมล้วน ๆ ลักษณะตั้งเต้าได้รูปทรง ผิวหนังไม่หย่อนยานมาก อาจมีไขมันรอบเต้านมมากด้วย ส่วนอีกกลุ่มเป็นคนที่มีลูกแล้วหรืออายุเยอะ ซึ่งเต้านมที่มีขนาดใหญ่จะมีเนื้อเต้านมเหลวหย่อนยาน ไม่เต่งตึงและคล้อยห้อยลงมากกว่าปกติ กลุ่มหลังนี้การผ่าตัดจะเป็นการแก้ไขการที่เต้านมหย่อนยานนั่นเอง

ต้องบอกให้เตรียมใจก่อนเลยว่า ถ้าขนาดเต้านมที่ต้องการลดเยอะมาก คุณหมอก็ต้องตัดเนื้อเต้านมออกไปมาก แผลเย็บก็จะมีขนาดยาวและมาก เป็นรูปร่างคล้ายตัว T หัวกลับ หรือสมอเรือ จะมาซ่อนแผลผ่าตัดตามรักแร้หรือปานหัวนมอย่างการเสริมอกทำไม่ได้ค่ะ เว้นแต่จะลดขนาดไม่มากก็อาจผ่าตัดเข้าเฉพาะที่ปานหัวนมอย่างเดียว ยังงั้นก็พอไหว ดังนั้น ก่อนทำต้องทำใจยอมรับรอยแผลเป็นที่จะต้องมีแน่ ๆ ให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องตำแหน่งของหัวนมใหม่ คุณหมอก็จะผ่าเลื่อนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม


หลังผ่าตัดก็อย่างการผ่าตัดทั่วไปนั่นแหละ ที่จะมีอาการฟกช้ำที่หน้าอกและอาการปวดบ้าง แต่ประมาณ 2 อาทิตย์ก็ดีขึ้น และถ้าไม่มีผลแทรกซ้อนอื่นประมาณ 1 – 2 เดือน รูปทรงของเต้านมใหม่ก็จะเข้าที่เข้าทาง ส่วนแผลผ่าตัดก็ต้องใช้เวลาให้มันจางหายไปตามกาลเวลา เว้นว่าบางคนแผลผ่าตัดดันปูดนูนขึ้นมา คุณหมอก็จะมีคำแนะว่าควรดูแลยังไง  ส่วนภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลอักเสบ แผลแยก หัวนมลอก อาการชาที่หัวนม แผลเป็นปูดนูน หรือขนาดเต้านมและระดับหัวนมไม่เท่ากัน อาจพบได้บ้าง จะแก้ยังไงก็คงได้แต่แนะนำว่าต้องเลือกหมอที่เชี่ยวชาญจริงๆ

ผ่าเสร็จแล้วเบาอกขึ้นเยอะ ก็อย่าลั้ลลาโนบรามันซะเลย หลังผ่าตัดให้ใส่บราประคองเต้าเอาไว้ตลอดเวลาก่อนป้องกันไม่ให้แผลแยก หลังจากนั้นก็ควรใส่ยกทรงประคองไว้เพื่อให้ความยืดหย่อนยานกลับมาเยือนช้าที่สุด แหม่...อุตส่าห์เจ็บตัวทั้งทีก็ให้คุ้มสักหน่อย



                

ไม่มีความคิดเห็น: