วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

มัจจุราชเงียบ! หลอดเลือดหัวใจตีบ

        เขียนกันมาถึงตอนนี้ ถ้าไม่พูดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คงต้องเอาหัวโขกฝา รับผิดเต็มๆ ยิ่งสถิติเห็นกันอยู่ทนโท่ว่าโรคนี้เป็นสาเหตุการตายมากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาโรคหัวใจทั้งหมด ยิ่งไม่พูดถึงไม่ได้ แต่ขนาดตอกย้ำกันแทบจะทุกสื่อยังงี้ก็ยังเห็นข่าวคนตายปุบปับด้วยโรคนี้เยอะแยะ บางคนอยู่ดีๆ ใช้ชีวิตปกตินี่แหละ ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองเป็น จู่ๆ แน่นหน้าอกเป็นลมล้มหงายตึงลาโลกไปซะงั้นก็มี

        

   

        ใครอ่านแล้วชักหนาวๆ ร้อนๆ กลัวโรคหลอดเลือดหัวใจตีบขึ้นมา ถ้าไปค้นหาข้อมูล แล้วไปเจอะเจอคำว่า โรคหัวใจขาดเลือด ก็ไม่ต้องต๊กกะใจ มันก็คือโรคเดียวกันนั่นแหละ แล้วไอ้โรคน่ากลัวโรคนี้มันเกิดได้ยังไง เรื่องมันก็มีอยู่ว่า...หลอดเลือดหัวใจของเราที่เลือดเคยไหลไปเลี้ยงหัวใจอย่างคล่องตัวนั้น มันดั๊นไม่ไหลปรู๊ดปร๊าดเหมือนเก่า เหตุก็จากมีการก่อตัวของ plaque ขึ้นที่ผนังหลอดเลือด แล้วไอ้ plaque ที่ว่านี้จะค่อยๆ พอกสะสมหนาขึ้นเรื่อยๆ จนช่องทางเดินของหลอดเลือดตีบแคบลงหรือถึงขั้นอุดตัน ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดได้

อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าต้องมีคนตะหงิดๆ ว่า plaque คืออะไร มาเป็นภาษาปะกิดยังงี้ ง้ง งง อธิบายง่ายๆ ก็คือ เมื่อการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดหัวใจเสียไปหรือเสื่อมสภาพลง ก็จะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด เกิดเป็น plaque ขึ้น คล้ายกับการเกิดสนิมขึ้นในท่อประปา ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้สะดวกนั่นเอง


แล้วอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ไปดูกันค่ะ

เริ่มตั้ง “เพศ” โรคนี้เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิงถึง 3-5 เท่า ผู้ชายพออายุ 40 ปีขึ้นไปโอกาสเจอก็เริ่มแล้วล่ะ แต่ผู้หญิงโอกาสเจอจะยืดออกไปกว่าคืออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว
“กรรมพันธุ์” ใช่จะยอมน้อยหน้า ถ้าคุณมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ก่อนวัยอันควร ย่อมเสี่ยงกว่าคนที่เค้าประวัติขาวสะอาด ยิ่งถ้าเป็นผู้ชายแถมบวกประวัติทางพันธุกรรมเข้าไปอีก ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-20 เท่าเลยทีเดียว
“ไขมัน” นี่ล่ะตัวดีนักแล เพราะโอกาสเป็นจะแปรตามระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อย่างคนที่มีไขมันในเลือดสูง (มากกว่า 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) มีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่มีไขมันในเลือดต่ำ (ต่ำกว่า 175 มิลิลิกรัม/เดซิลิตร) ถึง 3-4 เท่าตัว
มี “ภาวะความดันโลหิตสูง”


สูบบุหรี่ี เรียกว่าเป็น “สิงห์อมควัน” ตัวฉกาจ
เป็น “เบาหวาน”
อ้วน
ไม่ออกกำลังกาย
การกิน – ดื่ม เช่น ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยขาด
เครียดเป็นประจำ


นี่เอาปัจจัยเสี่ยงแบบหลักๆ มาเลย ถ้าใครมีหลายๆข้อ...ก็เสี่ยงเป็นเยอะกว่าชาวบ้านเค้าล่ะ ดูๆ ไปแล้วก็มีหลายข้อที่ตัวเราเองสามารถปรับเปลี่ยนได้ ถ้าทำได้นี่โอกาสเสี่ยงลดลงไปเยอะเลยนะ แต่มีคนส่วนน้อยที่จะตระหนักตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับวังวนเดิม ๆ จนกว่าจะมีอาการมาสะกิดให้ตระหนกแล้วนั่นแหละ

อาการของคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นยังไง เป็นระยะแรกอาจยังไม่มีอาการ ด้วยหลอดเลือดยังตีบไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการ ก็ใช้ชีวิตเย้วๆ ลั้ลลากันต่อไป แต่ถ้าหลอดเลือดตีบแคบมากขึ้นจนเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทีนี้อาการจะมาล่ะ เช่น อาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย มักเจ็บร้าวไปที่แขน คอ ขากรรไกร หรือหลัง รวมถึงมีอาการเหงื่อออกหรือใจสั่นร่วมด้วย แรกๆ ก็อาจเกิดอาการขณะออกกำลังกาย หรือ ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักๆ แต่ถ้าเป็นเยอะขั้นรุนแรงก็อาจเจ็บเองโดยที่ยังไม่ได้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอะไรที่หนักๆ เลยด้วยซ้ำ


ปกติคนไข้ที่เป็นโรคนี้อยู่ ก็จะคอยสังเกตอาการเจ็บหน้าอกที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และจะพกยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจชนิดอมใต้ลิ้นหรือชนิดสเปรย์ (Spray) ติดตัวไว้เสมอ เผื่อว่าเวลามีอาการเกิดขึ้นจะได้หยิบฉวยมาอมใต้ลิ้นหรือพ่นได้ทันท่วงที แต่บางคนไม่รู้ตัวว่าเป็นนี่สิ คือ ไม่เคยตรวจ ไม่เคยเอ๊ะ คิดว่าเป็นเพราะเครียด พักผ่อนไม่พอ ออกกำลังกายหักโหมไป บลาๆๆๆ ก็จะไม่ใส่ใจ จนบางทีอาการเกิดแบบปุบปับช่วยไม่ทัน ยังงี้อันตรายและน่าเสียดายค่ะ

ถ้ามีอาการแพลมๆ มาให้สงสัย หรือพิจารณาสี่ห้าตลบแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงมาครบ ถึงไม่ครบก็เกือบๆล่ะ ก็ควรไปพบหมอตรวจสุขภาพหัวใจดูบ้าง การตรวจมีตั้งแต่ขั้นพื้นฐานยันแอ๊ดวานซ์ จะได้ฟันธงได้ถูกว่าเป็น – ไม่เป็นยังไง หรือเป็นอย่างอื่น ถ้าแบบชัวร์สุดๆ ก็อาจต้อง “ฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ” ไปเลย วิธีนี้จะต้องสอดสายตรวจขนาดเล็กผ่านเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือหรือขาหนีบไปที่หลอดเลือดหัวใจ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีจำนวนเล็กน้อยเข้าไปแล้วเอกซเรย์บันทึกภาพของหลอดเลือดหัวใจแต่ละเส้นไว้ ซึ่งถ้ามีหลอดเลือดตีบก็จะสามารถตรวจพบได้อย่างชัดเจน


หากตรวจแล้วเป็นขึ้นมาจริงๆ ก็ขอให้ตั้งสติ เพราะโรคนี้มีทางรักษา ไม่ใช่หมดทางเยียวยา อย่าเพิ่งหมดหวังหมดอาลัยตายอยาก ก่อนอื่นเลยให้เลี่ยง ละ เลิก ไอ้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายแหล่ก่อน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอ ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีวิธีหลักๆ ได้แก่

การรักษาด้วยยา วิธีนี้จะใช้ในคนที่เป็นไม่มาก คุณหมอจะให้ยาช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งจะมีทั้งชนิดกินเป็นประจำ และชนิดอมใต้ลิ้น เช่น ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) ยาอมใต้ลิ้นนี้คนไข้จะต้องพกติดตัวตลอดเวลา และใช้อมเมื่ออาการเจ็บหน้าอกกำเริบจะช่วยให้หายเจ็บหน้าอกได้ทันที แต่ยาตัวนี้อาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัวได้ นอกจากนั้นก็มียาต้านเกร็ดเลือดเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ เช่น แอสไพริน ยาควบคุมโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง

การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน      วิธีนี้ขั้นตอนจะคล้ายฉีดสีหลอดเลือดหัวใจคือจะใส่สายสวนไปยังหลอดเลือดหัวใจ แต่สายนำที่ใช้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านในใหญ่กว่าสายตรวจที่ใช้ในการฉีดสี  เมื่อปลายสายนำอยู่ในหลอดเลือดหัวใจแล้ว คุณหมอจะสอดเส้นลวดขนาดเล็กกว่าเส้นผมผ่านสายนำเข้าไปจนกระทั่งปลายเส้นลวดผ่านเลยจุดตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นจะใช้เส้นลวดเป็นแกนช่วยนำสายชนิดพิเศษที่มีบอลลูนติดอยู่ตรงปลาย ใช้ภาพเอกซเรย์ที่เห็นบนจอช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนให้ตรงกับจุดที่มีการตีบแคบของหลอดเลือด แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนกางออก แรงดันของบอลลูนจะผลักรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจให้เปิดกว้างทำให้เลือดไหลผ่านได้สะดวกขึ้น เสร็จแล้วจึงดึงบอลลูนออก

การขยายหลอดเลือดด้วยขดลวด ถ้าทำบอลลูนไปแล้วรอยตีบยังขยายได้ไม่กว้างพอ คุณหมอจะใส่ขดลวด เพื่อลดโอกาสเกิดการตีบซ้ำของหลอดเลือด โดยจะนำสายสวนที่มีขดลวดอยู่ที่ปลายสายใส่เข้าไปยังบริเวณที่เคยตีบในลักษณะเดียวกับที่ใส่สายบอลลูน และขยายขดลวดให้ขดลวดกางออกไปสัมผัสและยึดติดกับผนังหลอดเลือด

การผ่าตัดทำบายพาส ถ้าไม่สามารถขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือขดลวดได้ คุณหมอก็จะหันมาเลือกวิธีนี้แทน โดยหลอดเลือดที่จะนำมาใช้ต่อหลอดเลือดหัวใจที่ตีบจะใช้หลอดเลือดทางผนังหน้าอก แขน หรือขา ของคนไข้เอง  คนไข้ต้องนอน รพ. ประมาณ 7 วัน และพักฟื้นประมาณ 1 เดือน



ทีนี้คงจะเก็ทไอ้คำที่ได้ยินกันบ๊อย บ่อย อย่าง บอลลูน ขดลวด บายพาส กันบ้างแล้วนะคะ หลังจากรักษาตัวแล้วก็ต้องดูแลตัวเองต่อด้วย ยังต้องเคร่งครัดที่จะเลี่ยง ละ เลิก พวกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กินยาตามหมอสั่งอย่างเคร่งครัด พกยาไนโตรกลีเซอรีนอมใต้ลิ้นติดตัวไว้เสมอ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจติดขัด หายใจเหนื่อย เหงื่อแตก หากมีอาการให้รีบอมยา แล้วหาหมอโดยด่วน 


ไม่มีความคิดเห็น: