วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โรคหัวใจ...ใกล้ตัวนี้ดเดียว

หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็กนะคะคู๊ณ จะได้อยู่ยงคงกระพัน ไม่เจ็บไม่ป่วย ยิ่งยุคนี้ด้วยแล้วเราใช้ชีวิตกันอย่างสุดติ่งไม่ค่อยบันยะบันยัง รูปแบบการกินก็เปลี่ยนไป หันไปแดกด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) กันซะเป็นส่วนมาก จัดเต็มทั้งแป้ง น้ำตาล ไขมัน คุณค่งคุณค่าไม่ต้องพูดถึง ออกกำลังกายก็ไม่ออก บอกไม่มีเวลา (แต่มีเวลานั่งแชททั้งวัน) อ้วน เครียด พักผ่อนไม่พอ เหล้ายาปลาปิ้งบุหรี่มาครบ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่สถิติคนเป็นโรคหัวใจจะพุ่งปรี๊ด แล้วจะบอกให้มีหนาวว่า ทุกวันนี้โรคหัวใจยังติดกลุ่มท็อปไฟว์โรคที่คร่าชีวิตคนไทยอยู่นะจ๊ะ แถมท้ายให้มีหนาวกว่าเดิม คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจยังมีอายุเฉลี่ยน้อยลงด้วย




เคยสงสัยกันมั้ยว่าไอ้คำว่า โรคหัวใจ ที่เรียกๆ กันเนี่ยมันหมายความว่ายังไง คำว่าโรคหัวใจไม่ใช่ชื่อโรคเฉพาะเหมือนอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อะไรพวกนั้น แต่เป็นคำกว้างๆ เหมือนเวลาที่เราพูดถึงโรคมะเร็งนั่นแหละ อย่างโรคมะเร็งก็จะมีแตกยิบย่อยเป็นมะเร็งได้สารพัด เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับ, มะเร็งปอด เป็นต้น โรคหัวใจก็เหมือนกันจะเป็นการเรียกรวมๆ ของโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจทั้งหมด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด, โรคลิ้นหัวใจ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น

แต่ทีนี้ในไอ้บรรดาโรคหัวใจทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่เนี่ย มีโรคหนึ่งที่ดันแหลมออกมากว่าชาวบ้านเค้าจนถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยๆ นั่นก็คือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เพราะเป็นสาเหตุการตายมากเป็นอันดับหนึ่ง และคาดว่าสถิตินี้คงยากที่จะโดนทุบง่ายๆ แนวโน้มเป็นกราฟขาขึ้นไม่มีแผ่ว ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารก็คงเห็นคุณหมอออกโรงเตือนให้ระวังโรคหลอดเลือดหัวใจตีบยังงู้นยังงี้กันเป็นประจำ อ่านบ้างข้ามบ้างเพราะเจอบ่อยจนบางคนขี้เกียจจะอ่าน ทำให้ทุกวันนี้เวลาพูดถึงคำว่า โรคหัวใจ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกไพล่ไปถึงแต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเดียว แต่ก็เข้าใจค่ะ เพราะมันเจอบ่อยขึ้นจนน่าตกใจไง เป็นแล้วโอกาสตายก็มีสูง คนก็เลยจัดแจงเหมารวมชื่อให้เสร็จสรรพ ที่ต้องอธิบายมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่าโรคหัวใจไม่ได้มีแค่โรคนี้โรคเดียว เดี๋ยวจะเข้าใจผิด


อ๊ะ เอ๊ะ แล้วคนกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงโรคหัวใจจะถามหา เอาเป็นว่าถ้าใครมีปัจจัย 3 ข้อนี้ร่วมกัน นั่นก็คือ (1) ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (2) มีความดันโลหิตสูง (3) สูบบุหรี่ บอกเลยว่าโอกาสเป็นสูงถึง 30-40 เท่าเลยทีเดียว และเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกถ้ายังมีปัจจัยอื่นมาช่วยเสริม ได้แก่ เป็นโรคเบาหวาน, อ้วน, ไม่ออกกำลังกาย , ดื่มแอลกอฮอล์, เครียด ส่วนกรรมพันธุ์ก็เข้ามามีเอี่ยวด้วยนะ อย่างถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโอกาสเป็นก็จะเพิ่มขึ้น และพบว่าเพศชายมีแนวโน้มเป็นมากกว่าเพศหญิง แต่คุณผู้หญิงก็อย่าเพิ่งกระดี๊กระด๊าไป ถ้าปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มีเพียบ หัวใจก็คงบอกไอก็ไม่ไหวนะยูได้เหมือนกันนะจ๊ะ

อ่านไปก็นั่งนับนิ้วไปด้วยนะว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงกี่ข้อ ถ้ามีหลายข้อก็หมั่นสังเกตร่างกายมั่งว่ามีอะไรผิดปกติบ้างมั้ย ปกติโรคหัวใจก็มักมีอาการเตือนล่วงหน้าให้รู้ เช่น เจ็บหน้าอก , เหนื่อยง่าย, ใจสั่น, หอบ, แน่นหน้าอก, นอนราบไม่ได้, ออกแรงแล้วจะเจ็บหน้าอก, เท้าบวม ฯลฯ ถ้ามีอาการที่ยกๆ มาข้างต้นก็ให้สะกิดใจเอาไว้บ้าง ไม่ใช่ยังเฉย บางคนหลอกตัวเองว่าคงเกิดจากความเครียดบ้างล่ะ พักผ่อนน้อยบ้างล่ะ ลองไปตรวจๆ สุขภาพดูบ้าง อาจโป๊ะเชะเจอเข้าให้ จะได้รีบหาทางแก้ไขได้ทัน โชคดีเท่าไหร่แล้วที่มีสัญญาณสะกิดเตือนให้รู้น่ะ บางคนเป็นแล้วแต่ยังเป็นน้อยๆ หรือเพิ่งเป็นระยะแรก พวกนี้ไม่มีอาการผิดปกติอะไรบ่งบอกเลยนะ ก็อาจชะล่าใจปล่อยจนเป็นมาก แนะนำว่าถ้าคิดว่าตัวเราเองนี่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน หรืออายุเริ่มมากขึ้น อยากตรวจให้รู้ว่ามีโรคหัวใจแฝงอยู่หรือเปล่า ก็ไปปรึกษาหมอตรวจสุขภาพซะ


การตรวจไม่มีอะไรน่ากลัว เจ็บหน่อยก็แค่เจาะเลือดไปตรวจ อาจมีตรวจพิเศษอย่างอื่นตามที่คุณหมอเห็นสมควร ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็มักจะเป็น 3 วิธีนี้ ได้แก่ (1) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG (2) ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ ECHO (3) ตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ Exercise Stress Test อันหลังนี้เป็นวิธีที่ต้องเดินหรือวิ่งบนสายพานนั่นแหละ ส่วนจะต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่นๆ อีกหรือไม่คุณหมอจะพิจารณาเอง ถ้ายังไม่จำเป็นเพราะแค่วิธีพื้นฐานที่ว่ามาก็พอจะประเมินได้ ก็ไม่ต้องเสียสะตุ้งสตางค์ให้สิ้นเปลือง แต่ถ้าจำเป็นเดี๋ยวนี้มีเทคนิคที่ทันสมัยหลายอย่างที่ให้ผลการตรวจที่แม่นยำ เช่น การทำ CT Scan แต่ถ้าจะเอาชัวร์คุณหมออาจแนะนำสวนหัวใจและฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจภายในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ที่เรียกว่า CATH LAB เลยก็ได้    


จริงๆ คุณผู้อ่านก็คงไม่อยากพาตัวเองไปถึงจุดที่ต้องทำอะไรเยอะแยะขนาดนั้นกันหรอกว่ามะ แล้วทำไมไม่หันมาดูแลหัวใจของตัวเองก่อนฝากไว้ในมือหมอกันล่ะ วิธีดูแลง่ายๆ แต่ต้องมีวินัยในการทำมีดังนี้
· กินอาหารที่มีไขมันต่ำ ลดของทอด ของมัน ยิ่งถ้ามีปัญหาไขมันในเลือดสูงเป็นทุนเดิมยิ่งต้องระวัง
·  ใครรู้ตัวว่าเป็นสิงห์อมควันก็งดซะ
·   ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
·   อย่าให้อ้วน รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
·   ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
·   ลดความเครียดลง

·   ตรวจสุขภาพเป็นประจำ 


ไม่มีความคิดเห็น: